แบงก์ชาติ ยอมรับเกณฑ์คุมเข้มบัตรเครดิตกระทบผู้ประกอบการบางกลุ่ม แต่จะส่งผลดีต่อระบบโดยรวม
ด้านธนาคารกรุงเทพ ชี้ขั้นตอนการต่ออายุบัตรเครดิตยุ่งยาก-ค่าใช้จ่ายเพิ่ม ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย
ฟันธงตลาดสินเชื่อบุคคลคึกคักหลังประกาศใช้มาตรการธปท. งัดกลยุทธ์ดอกเบี้ยต่ำเจาะลูกค้า
ด้านราคาหุ้น KTC-AEONTS รูดรับข่าวร้าย ลดลง 1.80% และ 4.58% ตามลำดับ
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมธุรกิจบัตรเครดิต
ว่า จะมีการประกาศใช้มาตรการอย่างเป็นทางการในช่วงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เนื่องจากมีรายละเอียดบางอย่างต้องพิจารณาให้รอบคอบ
โดยเกณฑ์ดังกล่าวอาจจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการบางกลุ่ม แต่จะส่งผลดีต่อส่วนรวม
จึงเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการ
สำหรับมาตรการที่จะประกาศใช้ ธปท.จะให้ความสำคัญกับการดูแลการก่อหนี้ของประชาชน
โดยกำหนดให้ผู้ออกบัตรเครดิตระมัดระวังไม่ให้ผู้ถือบัตรเครดิตมีหนี้คงค้างรวมกันทุกบัตรเกินกว่า
5 เท่าของเงินเดือน หรือรายได้เฉลี่ยต่อปี การเพิ่มวงเงินในการผ่อนชำระขั้นต่ำแต่ละเดือนจากเดิม
5% ของยอดหนี้ เป็น 10% รวมถึงกรณีที่ผู้ถือบัตรค้างชำระหนี้เป็นเวลา 3 เดือน ผู้ออกบัตรเครดิตจะต้องยกเลิกบัตรทันที
พร้อมกันนี้ ธปท. ยังมีแนวคิดห้ามไม่ให้ผู้ให้บริการบัตรเครดิตเข้าไปหาลูกค้าเป็นรายตัว
หรือโทร.ไปหาลูกค้าเพื่อที่เร่งรัดให้มีการทำบัตรเครดิต เพราะต้องการให้ผู้สมัครบัตรเครดิตเป็นผู้ที่มีความพร้อมและตั้งใจใช้บัตรเครดิตจริงๆ
ซึ่งไม่ได้เป็นการกีดกันผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาด ธ.กรุงเทพชี้เพิ่มค่าใช้จ่าย
นายโชค ณ ระนอง ผู้จัดการสายบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า มาตรการควบคุมธุรกิจบัตรเครดิตของ
ธปท. โดยเฉพาะการห้ามยอดคงค้างบัตรเครดิตเกิน 5 เท่าของเงินเดือน จะทำให้ผู้ประกอบการบัตรเครดิตมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น
เพราะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลผ่านเครดิตบูโร และต้องมีค่าใช้จ่ายในการติดต่อสอบถามข้อมูลรายได้ใหม่ของลูกค้าใหม่
เพื่อนำมาคำนวณเปรียบเทียบกับยอดคงค้างไม่ให้เกิน 5 เท่าของเงินเดือนตามหลักเกณฑ์ของธปท.
"การต่ออายุบัตรเครดิต จะมีขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
เพราะต้องเข้าไปตรวจสอบข้อมูลกับเครดิตบูโร ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรายการละประมาณ 6-12
บาท รวมทั้งต้องเพิ่มพนักงานเข้ามาดูแลในส่วนนี้ด้วย ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพมีผู้ถือบัตร
480,000 ใบ บัตรเครดิตต้องต่ออายุเดือนละ 20,000-30,000 ใบ"
ส่วนกรณีกำหนดการผ่อนชำระขึ้นต่ำจาก 5% เป็น 10% และยกเลิกบัตรเครดิตที่ค้างชำระเกิน
3 เดือน และเกณฑ์ออกบัตรเครดิตให้กับผู้มีรายได้ต่อเดือนขั้นต่ำที่ 15,000 บาทนั้น
ธนาคารกรุงเทพไม่มีปัญหา เนื่องจากธนาคารกรุงเทพได้มีการปฏิบัติตามเกณฑ์ดังกล่าวอยู่แล้ว
กสิกรไทยฉวยจังหวะรุกสินเชื่อบุคคล
ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสินเชื่อผู้บริโภค ธนาคารกสิกรไทย
กล่าวว่า มาตรการของธปท. จะส่งผลให้ลูกค้าบัตรเครดิตหันมาใช้สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มมากยิ่งขึ้น
เหมือนในอดีตเมื่อปลายปี 2545 ที่ธปท.เริ่มออกระเบียบมาควบคุมธุรกิจบัตรเครดิต
ทำให้ลูกค้าหันมาใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้นธนาคารจึงมีนโยบายที่จะรุกตลาดสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นในปีนี้
โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าใหม่ประมาณ 2,000 ล้านบาท จากยอดคงค้าง ณ สิ้นปี
2546 ที่มีประมาณ 550 ล้านบาท
ราคา "KTC-AEONTS" รูด
จากมาตรการคุมเข้มธุรกิจบัตรเครดิตของธปท. ได้ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านบัตรเครดิต
คือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC และบริษัท อิออน ธนทรัพย์ (ไทยแลนด์)
จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ทำให้ราคาหุ้นได้รับตัวลดลงตั้งแต่เปิดการซื้อขายในช่วงเช้าจนกระทั่งปิดตลาด
โดย KTC ปิดที่ 27.25 บาท ลดลงจากวันก่อน 0.50 บาท หรือ 1.80% มูลค่าการซื้อขายรวม
47.21 ล้านบาท ขณะที่ AEONTS ปิด 146 บาท ลดลง 7 บาท หรือ 4.58% มูลค่าการซื้อขายรวม
14.47 ล้านบาท
นายกันตภณ วิมลไพโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซิกโก้
กล่าวว่า มาตรการของธปท.จะมีผลกระทบกับธุรกิจของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์
(NON BANK) มากกว่าธนาคารพาณิชย์ แต่สำหรับหุ้น AEONTS และ KTC ยังไม่มีผลกระทบมากนัก
เนื่องจากจะต้องรอดูมาตรการที่ชัดเจนของ ธปท.
แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อหารายได้อื่นเพิ่ม
เพื่อทดแทนรายได้ที่หายไปจากจำนวนลูกค้าที่ลดลง ซึ่งคาดว่า NON BANK ได้รับผลกระทบมากกว่า
BANK เนื่องจาก NON BANK มีฐานลูกค้าที่น้อยกว่า และมาตรการการควบคุมการออกบัตรเครดิตที่มีความเข้มงวดต่ำกว่า
BANK อย่างไรก็ตาม ผลกระทบคงจะไม่รุนแรงมากนัก โดยเฉพาะไม่มีประเด็นเรื่องการตั้งสำรองที่เข้มงวดขึ้น
และการปรับเพิ่มฐานรายได้ของผู้ถือบัตร