48,000 บทพิสูจน์ตลาดหลักทรัพย์

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

บางครั้งความฝันกับความจริงอาจอยู่ใกล้หรือห่างไกลกันก็ได้ ดังกรณีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ตั้งเป้าหมายการเพิ่มขึ้นของทุนจดทะเบียนบริษัทในตลาด
ให้ได้ 48,000 ล้านบาท

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเป็นต้นมา ตลาดทุนไทยได้รับผลกระทบไปเต็มๆ นักลงทุนเมินการลงทุน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บาดเจ็บจนดูเหมือนว่าสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต่างจากซากปรักหักพัง

ความหวังในการฟื้นฟูบรรยากาศการลงทุนให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง จึงกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยความหวังว่าความสนใจจะไปพร้อมๆ กับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม

การประกาศกลยุทธ์ครั้งล่าสุดของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เน้นการวางรากฐานและเพิ่มความแข็งแกร่งให้ตลาดทุน ด้วยการใช้นโยบายเชิงรุกหาบริษัทเข้าจดทะเบียน และการขยายฐานผู้ลงทุน

ตัวเลข 48,000 ล้านบาท คือ เป้าหมายการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีนี้

แผนแรกจะเพิ่มสินค้า เจ้าหน้าที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการนำธุรกิจเข้าจดทะเบียน ด้วยการพบปะผู้ประกอบการโดยตรง วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการตลาดหทรัพย์ฯ อธิบาย

กลยุทธ์กระตุ้นความสนใจของผู้ประกอบการต่างๆ จะใช้แนวทางสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Happy Plus Service) รวมถึงการนำกองทุนหรือตราสารใหม่ๆ เข้ามาเสนอ

เป้าหมายทุนจดทะเบียน 48,000 ล้านบาทจะเป็นของตลาดหลักทรัพย์ฯ 46,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มของรัฐวิสาหกิจ ส่วนอีก 2,000 ล้านบาทเป็นเป้าหมายของตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (MAI)

เรากำหนดเป้าหมายทุนจดทะเบียนของบริษัทที่จะเข้าซื้อขายในปีนี้เช่นเดียวกัน ด้วยการผลักดันบริษัทที่กำลังเตรียมตัวให้เข้าจดทะเบียนโดยเร็ว เพื่อสร้างฐานลูกค้าระยะสั้น และขยายฐานลูกค้าระยะยาว ยุทธ วรฉัตรธาร รองผู้จัดการและกรรมการผู้จีดการตลาดหลักทรัพย์ใหม่อธิบาย

สำหรับตัวเลขทุนจดทะเบียนที่คาดคะเนไว้ ในส่วนของรัฐวิสาหกิจที่จะเข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจจะไม่มากอย่างที่คิด เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่สามารถไปควบคุมกระบวนการแปรรูปได้และไม่อยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้

ที่มาของตัวเลข 48,000 ล้านบาท เกิดจากการประเมินของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยวิธีการให้อัตราการเติบโตของมูลค่าของมูลค่ารวมตลาดเป็นปีละเท่าไร ซึ่งวิชรัตน์ยังมีความกังวลถึงการคาดคะเนมีตัวแปรหลากหลาย โดยเฉพาะตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี (GDP) ที่อยู่นอกเหนือการทำงานของเรา

นอกจากนี้ การนำข้อมูลเดิมเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นำมาประมวลใหม่ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่มีการเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน ดังนั้นการติดต่อกับบริษัทเป้าหมายเพื่อชักชวนเข้ามาจดทะเบียนถึง 100 แห่ง แต่โอกาสเข้าถึงบริษัทที่ยินยอมให้ไปเจรจาจริงๆ มีเพียง 40 แห่ง

สำหรับตลาดหลักทรัพย์ใหม่ เนื่องจากเป็นตลาดขนาดเล็กและธุรกิจเล็ก กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจึงมีขนาดกว้าง ปีที่แล้วตลาดใหม่ได้ส่งจดหมายติดต่อขอพบลูกค้าเป้าหมายกว่า 600 บริษัท มีเพียง 106 บริษัทที่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตลาดใหม่เข้าพบ

สำหรับแผนการของทั้งสองตลาดหลักทรัพย์ ก็คือ การทำตลาดให้เห็นภาพในเชิงลึกจากข้อมูลและเห็นว่าขนาดแตกต่างกันมาก ซึ่งแผนการดังกล่าวในอดีตตลาดหลักทรัพย์แทบจะไม่เคยเหลียวแลเลย วิธีง่ายๆ คือ กำหนดไปเลยว่าปีนี้ต้องการทุนจดทะเบียนใหม่จำนวนเท่าไร วิชรัตน์บอก

นอกเหนือจากแผนการดังกล่าวแล้ว นโยบายเพิ่มสิ่งจูงใจให้กับบริษัทที่สนใจเข้าจดทะเบียน จะอยู่ในรูปการลดค่าธรรมเนียมรายปีและการผลักดันระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมไปถึงการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนเร่งสร้างระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี

โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์ใหม่ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักของบริษัทเอกชนมากพอสมควร สิ่งจูงใจที่นำเข้ามาเสนอ คือ การลดหย่อนค่าธรรมเนียมให้ 5 ปี ซึ่งเป็นกลยุทธ์ผลักดันให้บริษัทที่สนใจเข้ามาจดทะเบียนเร็วขึ้นแม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่อำนวยก็ตาม

กว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ตลาดใหม่พยายามหาเครื่องมือส่งเสริมการขายให้ลูกค้าเป้าหมายและใช้มาทุกรูปแบบ และพบว่าการที่บริษัทเข้ามาจดทะเบียน ต้องเปลี่ยนจากบริษัทจำกัด เป็นบริษัทมหาชนจะต้องทำระบบบัญชีให้มีมาตรฐาน ในอดีตอาจจะเสียภาษีไม่ถูกต้องหรือไม่ครบตามจำนวน

เมื่อเข้ามาจดทะเบียนแล้วจะต้องเปลี่ยนผู้สอบบัญชีให้มีมาตรฐาน รวมไปถึงการจัดระบบงานต่างๆ ล้วนแต่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้นเมื่อเข้ามาจดทะเบียนแล้ว การซื้อขายหุ้นกลับไม่เป็นตามความคาดหวังบริษัทเหล่านั้นอาจจะมองว่าไม่คุ้ม

อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์พยายามเน้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสการดำเนินงาน ซึ่งประเด็นนี้ผู้บริหารบางคนเห็นว่าการเป็นบริษัทมหาชนมีกฎกติกามากมาย โดยเฉพาะภาระในการเปิดเผยข้อมูลที่ล้วนแล้วแต่มีต้นทุน ดังนั้นหากตลาดหลักทรัพย์ไม่มีอะไรที่จะไปชดเชยให้บริษัทเหล่านั้นและไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ความลำบากในการจูงใจในการเข้าจดทะเบียนย่อมมีสูงขึ้น ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ๆ ที่เข้าจดทะเบียนในกระดานหลัก การลดค่าธรรมเนียมไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งที่มีน้ำหนัก คือ เรื่องภาษี

อุปสรรคสำคัญที่ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์หลายๆ คนไม่สามารถแก้ไขได้จนถึงปัจจุบัน คือ โครงสร้างพื้นฐานของไทย ถือว่าเป็นความโชคร้ายของตลาดทุน ซึ่งไม่เฉพาะตลาดทุนเพียงอย่างเดียว เมื่อ 3 ปีกว่าที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทุกคนอยู่ในภาวะที่ต้องพยายามแก้ปัญหาเพื่อเอาธุรกิจตนเองให้รอด นั่นหมายถึง การหมดโอกาสพัฒนาธุรกิจ

แม้ว่า ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ไทยจะเติบโตขึ้นมา แต่โครงสร้างไม่มีความแข็งแรงเลย เพราะบริษัทจดทะเบียนแม้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ถือว่าไม่มากพอ ยุทธชี้ และที่ผ่านมาตลาดหุ้นไม่เคยพัฒนาขยายฐานนักลงทุนอย่างจริงจัง

เมื่อกล่าวถึงปัญหาของตลาดหลักทรัพย์ ในอดีตส่วนใหญ่มักจะพุ่งเป้าไปยังบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะมาตรการต่างๆ ไม่มีใครกล่าวถึงการขยายฐานนักลงทุนให้กว้างขึ้นเลย แต่ในปัจจุบันได้เริ่มหันมาสนใจประเด็นดังกล่าวแล้ว และปัญหาอยู่ตรงที่ฐานนักลงทุนไทยยังไม่กว้างพอ

ความจริงแล้วแนวคิดการขยายฐานนักลงทุนมีมาตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมาหลังจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ออกไปเปิดห้องค้าในต่างจังหวัดพร้อมๆ กับการเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับธุรกิจค้าหลักทรัพย์

อีกภาพหนึ่งที่ปรากฏเห็นหลังจากมีห้องค้าภูมิภาค คือ นักลงทุนมีขนาดเล็กและโบรกเกอร์ที่ไปเปิดตัวมักจะกระจุกตัวอยู่ในบริเวณเดียวกัน ปัญหาที่ตามมา คือ การแย่งลูกค้ากันเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ก.ล.ต.ได้พยายามขจัดปัญหาด้วยการให้ผู้จัดการห้องค้าตามภูมิภาครวมกลุ่มกัน เพื่อไม่ให้เกิดลักษณะการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายจนกระทั่งระบบเสีย แต่การรวมกลุ่มทำได้ไม่นานสัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจก็เกิดขึ้น ทุกคนจึงหันหลังให้กันและกันเพื่อหาทางป้องกันตัวเอง

หลังจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นข้อบกพร่องในอดีตแล้ว ปัจจุบันจึงมองว่าการขยายฐานนักลงทุนมีหลายวิธี โดยเฉพาะความมุ่งหวังให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้นถือเป็นกระบวนการเริ่มต้น ซึ่งเมื่อกระจายหุ้นออกมาย่อมช่วยขยายฐานนักลงทุนไทย

นี่คือที่มาของตัวเลข 48,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องอาศัยนักลงทุนต่างประเทศ เพราะทุกครั้งที่ตีจากตลาดหุ้นมักจะเห็นลางร้ายทุกที และทุกครั้งที่เข้าตลาดก็มักจะเป็นนักลงทุนกลุ่มเดิมๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.