แบงก์ธนชาติเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ในไตรมาส 3 ปีนี้ เป็นกำหนดการที่ธนาคารธนชาติ (Nation Bank) ซึ่งเป็นเป็นธนาคารจำกัดขอบเขตธุรกิจ (Restricted Bank) แห่งแรก ที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการกันระหว่างบริษัทเงินทุนธนชาติ บริษัทเงินทุนเอกชาติ และบริษัทเงินทุนอีก 3 แห่ง จะเริ่มเปิดให้บริการแก่ประชาชน

ขนาดของธนาคารธนชาติ จะเล็กสุดในระบบ หรือใหญ่กว่าธนาคาร ยูโอบี รัตนสิน แต่เมื่อเทียบคุณภาพสินทรัพย์จะเป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์ดีมากที่สุด เพราะจะไม่มีหนี้เสียเลย บันเทิง ตันติวิท ประธานกรรมการ บง.ธนชาติ ซึ่งได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ยกระดับเป็นธนาคารจำกัดขอบเขตกล่าว

การยกระดับบง.ธนชาติ เป็นธนาคารจำกัดขอบเขต เป็นไปตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องการลดจำนวนบริษัทเงินทุนลง โดยบริษัทเงินทุนแห่งใดที่มีขนาดได้ตามเกณฑ์ ก็สามารถยื่นเรื่องเพื่อขอยกระดับเป็นธนาคารได้

ที่ผ่านมามีบริษัทเงินทุนหลายแห่งที่แสดงความสนใจยกระดับตนเองเป็นธนาคารจำกัดขอบเขต โดยนอกจากบง.ธนชาติแล้ว ยังมีบง.ทิสโก้ และบง.เกียรตินาคินอีก 2 แห่ง โดยในส่วนของบง.ทิสโก้นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับบง.บางแห่งในการควบรวมกิจการ เพราะตามเกณฑ์ของธปท. กำหนดว่า บง.ที่ต้องการเป็นธนาคารจำกัดขอบเขตธุรกิจ จะต้องควบรวมกันอย่างน้อยให้ได้ 5 แห่ง และต้องมีเงินกองทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันบง.ธนชาติมีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว 13,331.29 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมา บง.เอกชาติได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนไปแล้วรวมกว่า 8,000 ล้านบาท รวมทั้งการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์อีก 3,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมเงินกองทุนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ของทั้ง 2 บริษัท จะได้เกิน 10,000 ล้านบาท ตามเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด

สำหรับขั้นตอนในการจัดตั้งธนาคาร ขณะนี้บง.ธนชาติ อยู่ระหว่างการโอนหนี้ดีจำนวนประมาณ 10,000 ล้านบาท ไปยังบง.เอกชาติ และโอนหนี้เสียไปยังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ธนชาติ

ตามแผนการที่วางไว้ หลังได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการจากกระทรวงการคลัง ธนาคารธนชาติจะทำสัญญาเช่าอาคารต้นสน ถนนชิดลม ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาวางแผนจะเปิดเป็นสาขา แต่ต้องระงับไปเนื่องจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เพื่อใช้เป็นสำนักงานใหญ่ และในปีแรกจะเปิดสาขา 5-10 แห่ง ส่วนในปีที่ 2 มีแผนที่จะรวมกิจการกับธนาคารพาณิชย์อื่น หรือเสนอตัวเข้าซื้อกิจการธนาคารพาณิชย์บางแห่ง

ในการดำเนินธุรกิจนั้น เนื่องจากธนาคารธนชาติ เป็นธนาคารประเภทจำกัดขอบเขตธุรกิจ ดังนั้นจะไม่สามารถรับฝากเงินประเภทออมทรัพย์ได้ในปีแรก แต่จะสามารถดำเนินการได้ในปีที่สอง รวมทั้งการเปิดให้บริการเงินด่วนหรือเอทีเอ็ม ส่วนการให้บริการเช็คนั้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการอย่างช้าภายในปีที่ 5 ที่เปิดดำเนินการ รวมถึงการให้บริการซื้อขายเงินตราต่างประเทศด้วย

ส่วน บง.ธนชาติ ก็จะยังคงอยู่ โดยจะหันมาทำธุรกิจเช่าซื้อ เพื่อไม่ให้ธุรกิจเกิดการซ้ำซ้อนกัน รวมถึงการซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินมาบริหาร เพราะจากประเมินแล้วพบว่า ธุรกิจดังกล่าวสามารถทำรายได้ดีกว่าการปล่อยกู้ โดยที่ผ่านมาบง.ธนชาติได้ซื้อหนี้เสียมูลค่ารวม 5,937 ล้านบาท จากยอดหนี้คงค้าง 23,067 ล้านบาทมาจากธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และได้แบ่งหนี้เสียออกเป็น 2 ส่วนเพื่อแยกบริหาร ส่วนหนึ่งโอนมาอยู่ใน บบส.ธนชาติ อีกส่วนหนึ่งอยู่ใน บบส.เมกซ์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง มาบุญครอง, มอร์แกน สแตนเลย์ และ บง.ธนชาติ

ไตรมาสแรกที่ผ่านมา บง.ธนชาติ เป็นบง.ที่สามารถทำกำไรได้สูงสุด ในจำนวนบง. 11 แห่ง ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยสามารถทำกำไรได้ 683.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,592.86% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 45.81 ล้านบาท ขณะที่บง.ทั้ง 11 แห่ง ได้แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาสแรก มีกำไรสุทธิรวม 1,450.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 250.95% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2543 ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิรวม 960.66 ล้านบาท

เป็นที่น่าจับตาว่า การที่บง.ธนชาติสามารถจัดตั้งธนาคารจำกัดขอบเขตขึ้นมาได้ในปลายปีนี้ จะมีผลต่อการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์โดยรวมในปีหน้าอย่างไร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.