แมงป่องเล็งขายไอพีโอ 55 ล้านหุ้น ปลายมี.ค.-ต้นเม.ย. ราคาจองเบื้องต้น 12-15
บาท คาดกวาดเม็ดเงินระดมทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท นำไปซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และขยาย
สาขา และชำระคืนเงินกู้ ด้าน "ยูนิค ไมนิ่ง" ยื่นไฟลิ่งขอกระจาย 20 ล้านหุ้นเข้าเอ็มเอไอ
นายครรชิต ควะชาติ ผู้อำนวยการฝ่าย สายธุรกิจวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ธนชาติ
ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท แมงป่อง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทแมงป่องจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยมีแผนจะระดมทุนจากประชาชนทั่วไป
โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 55 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1
บาท คาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้นได้ภายในปลายเดือน มี.ค. หรืออย่างช้าต้นเดือน เม.ย.
2547 นี้
ทั้งนี้ จะมีการสำรวจความต้องการซื้อของนักลงทุนสถาบัน หรือบุ๊กบิวดิ้ง ภายในสัปดาห์ที่
3 ของเดือน มี.ค. หลังจากนั้นจะสามารถสรุปราคาที่แน่นอนได้ โดยจะจัดสรรหุ้นให้แก่นักลงทุนสถาบัน
ประมาณ 30% ของหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด ที่เหลือจะจัดสรรให้แก่นักลงทุนรายย่อยโดยขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายจำนวนประมาณ
6-7 ราย
นางสาวสุวภา เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด กล่าวว่า
บริษัทแมงป่องคาดว่าจะระดมทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเงินที่ได้จะนำไปจัดซื้อลิขสิทธิ์ประมาณ
180 ล้านบาท ใช้ในการปรับปรุงและขยายสาขาประมาณ 120 ล้านบาท ชำระเงินกู้ 200 ล้านบาท
ส่วนที่เหลือใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ซึ่งคาดว่าหุ้นแมงป่องจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน
เนื่อง จากธุรกิจแผ่นวีซีดี ดีวีดี ภาพยนตร์ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี
2546 ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตประมาณ 33% และมีมูลค่าการตลาดประมาณ 6,000 ล้านบาท
สาเหตุเนื่องจากราคา แผ่นที่ปรับตัวลดลง รวมถึงเครื่องเล่นที่ราคาปรับตัวลดลงเช่นกัน
ทำให้ประชาชนนิยมซื้อแผ่นวีซีดีและดีวีดีมากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทแมงป่องยังดำเนินธุรกิจที่ครอบคลุม ทั้งทางด้านการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์
ทั้งในส่วนของภาพยนตร์และเพลง โดยในปีนี้คาดว่าบริษัทจะมีลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่พร้อมจะผลิตเป็นแผ่นกว่า
140 เรื่อง และที่ผ่านมาบริษัทได้มีการปรับโครงสร้างทาง การเงินและโครงสร้างธุรกิจ
เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรและรองรับการขยายธุรกิจ
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นปัจจุบันกลุ่มตระกูลตรีเอกวิจิตร ถือหุ้น 92% แต่หลังจากที่เสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปแล้วสัดส่วนจะลดลงเหลือ
74% ผู้ถือหุ้นอื่นๆอีก 6% ภายหลังจะลดเหลือ 5% และพนักงานที่ปัจจุบันถือหุ้น 2%
จะลดเหลือ 1% และจะมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจากการทำไอพีโอประมาณ 20%
ด้านนางกิตติ์ยาใจ ตรีเอกวิจิตร ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแมงป่อง กล่าวว่า
การที่บริษัทฯเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อนำ เงินทุนที่ได้ไปใช้ในการซื้อและจัดหาลิขสิทธิ์เพื่อนำ
มาผลิตสินค้าซอฟต์แวร์เอนเตอร์เทนเมนต์ เนื่องจาก ปัจจุบันตลาดธุรกิจโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์มีการขยาย
ตัวอย่างรวดเร็ว และบริษัทยังมีแผนที่จะเปิดสาขาภายในปีนี้ให้ได้ 250 แห่งจากปัจจุบันที่มีอยู่
159 สาขา
สำหรับโครงสร้างรายได้ของบริษัทในช่วงปีที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนจากปี 2545
ที่เป็นลักษณะการขายปลีก 65% ขายส่ง 26% เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2546
ปรากฏว่าสัดส่วนการขายปลีกลดลงเหลือ 46% แต่ขายส่งเพิ่มขึ้นเป็น 47%
ด้านแหล่งข่าวจากโบรกเกอร์แห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทแมงป่องได้มีการกำหนดช่วงราคาเบื้องต้นไว้ที่ระดับ
12-15 บาท ซึ่งราคาขายหุ้นที่แน่นอนจะต้องการทำบุ๊กบิวดิ้งจากนักลงทุนสถาบัน
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ละตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า
เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2547 สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เริ่มนับ 1 แบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง)
ของบริษัทยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ใหม่ (MAI)
โดยมีบริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ทั้งนี้ บริษัทยูนิค ไมนิ่ง จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ จำนวน 20 ล้านหุ้น คิดเป็น
28.57% มูลค่า ที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท ซึ่งเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้
จะนำไปสร้างคลังเก็บสินค้าแห่งใหม่ 2 แห่ง และซื้อรถบรรทุกเพิ่มเติมเพื่อใช้ในกิจการและชำระเงินกู้คืนสถาบันการเงิน
ส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อขยายธุรกิจต่อไป
บริษัทยูนิค ไมนิ่ง ก่อตั้งโดยบริษัทยูนิคแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัล (UGP) และนายสมบูรณ์
สิริ-ไพบูลย์พงศ์ ซึ่งดำเนินธุรกิจนำเข้าถ่านหินคุณภาพดีจากต่างประเทศ และจัดจำหน่ายถ่านหินให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆภายในประเทศ
ซึ่งในปี 2545 บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ เนื่องจาก UGP ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในขณะนั้นได้รับคำเสนอหุ้นโดยบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส
(TIG) และเพิกถอน UGP ออกจากตลาด และบริษัท TIG ไม่มี นโยบายที่จะถือหุ้นของยูนิคไมนิ่ง
จึงได้ขายหุ้นให้กับนายไพบูลย์ เฉลิมทรัพยากร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน
51%
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2545 มีรายได้รวม 360.64 ล้านบาท กำไรสุทธิ
44.14 ล้าน บาท ส่วนปี 2546 มีรายได้รวม 661.77 ล้านบาท และ มีกำไรสุทธิ 47.62
ล้านบาท โดยบริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่า 60% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีและเงินสำรองตามกฎหมาย