ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ คืนถิ่น สพช.

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

การสั่งให้กฟผ.รายงานต้นทุนค่าไฟฟ้าและพิจารณาการปรับค่าไฟ ฟ้าอัตโนมัติ เป็นภารกิจแรกหลังกลับสู่ชายคากิจการด้านพลังงานของปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

ดูเหมือนว่าพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) องค์กรรัฐวิสาหกิจที่ทรงพลังแห่งหนึ่งของประเทศดูจะไม่ยินดีมากนักเมื่อ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ถูกรัฐบาลชุดปัจจุบันผลักดันให้กลับมาทำหน้า ที่และมีบทบาทในการกำหนดนโยบายสำคัญอุตสาหกรรมพลังงาน

ช่วงปลายปีที่ผ่านมาถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญยิ่งแห่งวงจรชีวิตการ ทำงานของปิยสวัสดิ์ เมื่อต้องย้ายไปทำหน้าที่ดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะอธิบดี ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้นคนในกรมประชาสัมพันธ์เองดูเหมือนจะเก็บตัวเงียบถึงการวิพากวิจารณ์ผู้นำคนใหม่ ที่เข้ามาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

ทุกลมหายใจของพนักงานกรมประชาสัมพันธ์ คือ การแปรรูป และปิยสวัสดิ์ก็เป็นผู้ที่ถูกคัดเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่การปรับกลยุทธ์องค์กรใหม่ ผมว่างานนี้เป็นงานท้าทาย และกรมฯ นี้จะต้องเปลี่ยนแปลงภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ไม่เปลี่ยนไม่ได้แล้ว ปิยสวัสดิ์บอก ผู้จัดการ

เขาให้ความเห็นต่อไปว่า สิ่งที่คนในองค์กรเกลียดที่สุด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรไหน คือ การที่พบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างไร โดยอ่านตามหนังสือพิมพ์ นี่คือปัญหาของการปรับปรุงองค์กร ที่ผ่านมาผู้บริหารไม่ได้อธิบายให้พนักงานเข้าใจทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม อาจจะเรียกได้ว่าการทำหน้าที่ของปิยสวัสดิ์ในกรมประชาสัมพันธ์ยังไม่เข้าที่เข้าทาง เขาก็ได้ถูกย้ายกลับเข้ามาในตำแหน่งเลขาธิการ สำนักคณะกรรมการนโยบายพลังงงานแห่งชาติ (สพช.) อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่ทำให้เขาเกิด ขณะเดียวกันก็เป็นหน่วยงานที่เขาสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งระบบและบุคลากรทั้งหมด ที่สำคัญเป็นงานที่เขาถนัดที่สุดในบรรดาอาชีพในแวดวงราชการไทย

การแปรรูปกิจการพลังงาน นี่คือ ภาระกิจที่ปิยสวัสดิ์จะต้องสานต่อให้สำเร็จต่อจากบริษัทผลิตไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าราชบุรี เนื่องจากปัจจุบันการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชน ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน

ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันยุคการค้าเสรีและยังเป็นการลดภาระทางการเงินของรัฐบาลอีกด้วย

สิ่งที่ปิยสวัสดิ์มั่นใจมาเสมอ ก็คือ การที่ไม่สามารถเก็บกฟผ. ไว้ให้อยู่ในรูปแบบปัจจุบันได้ เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มการแข่งขัน

นั่นหมายความว่า กฟผ.จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายรัฐบาลตามสภาพการแข่งขันที่เกิดขึ้น ดังนั้นกฟผ.จะไม่ใช่องค์กรเหมือนที่เป็นที่อยู่ในปัจจุบันที่มีพนักงานเกือบ 30,000 คนอีกต่อไป

ความคิดของปิยสวัสดิ์เกี่ยวกับผลกระทบต่อการดำเนินงานแปรรูปฯ หายไปหมดแล้วโดยเฉพาะแนวความคิดของพนักงานในกฟผ. แต่เขาก้เข้าใจดีว่าการดำเนินการคงจะต้องใช้เวลาพอสมควร

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นกระบวนการที่มีความเจ็บปวดและเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ปัญหายิ่งหนักหน่วงขึ้นเพราะเป็นประเด็นที่ไปพัวพันถึงความกังวลใจเกี่ยวกับอธิปไตยของประเทศ

สำหรับคนงานการแปรรูปหมายถึงการตกงาน ส่วนผู้นำทางการเมืองและผู้ที่กุมอำนาจอยู่เห็นว่าเป็นการสูญเสียสถานภาพ ความมั่งคั่งและอิทธิพลของตนไป

นับจากนี้ไป เมื่อปิยสัวสดิ์เข้ามามีบทบาทต่อกิจการพลังงานอีกครั้ง บางครั้งอาจจะได้เห็นและได้ยินคำว่าแปรรูปมากขึ้นหลังจากเงรยบหายไปช่วงเวลาหนึ่ง

ผู้จัดการ ปีที่ 18 ฉบับที่ 206 พฤศจิกายน 2543



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.