ความพยายาม 25 ปีบนเส้นทางธุรกิจที่เดินทางไปพร้อมกับจินตนาการของชายชื่อ ไชยวัฒน์
เหลืองอมรเลิศ ในตำนานการสร้าง "สวนสยาม" สวนน้ำ แหล่งท่องเที่ยว ทะเลเทียมแห่งแรก
ของกรุงเทพฯ
"ชีวิตนี้อยากเห็นสวนสยามประสบความสำเร็จ" เป็นคำกล่าวของ ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ
นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจสวนสนุกในนามสวนสยาม บ่งบอกถึงความพยายามอีกครั้งกับการปลุกปั้นธุรกิจสวนน้ำสวนสนุกแห่งนี้ให้เป็นตำนานสวนสนุกของเมืองไทย
ไชยวัฒน์ เล่าให้ฟังว่า ในระยะเวลา 3 ปีจากนี้ ถ้านับจากปัจจุบัน ที่อายุ 69 ปีก็จะได้
72 ปี น่าจะเป็นเกณฑ์ดีที่จะเกษียณ และวางมือจากธุรกิจอย่างจริงจัง
แต่ในช่วงนี้ นับจากปี 2547 จะเป็นปีแห่งการตระเตรียมธุรกิจให้พร้อม โดยมองว่ายุคแห่งการแข่งขัน
การอยู่รอดในฐานะธุรกิจครอบครัว ทำกำไร และบริหารธุรกิจอยู่เฉพาะในกลุ่ม "เหลืองอมรเลิศ"
เพียงกลุ่มเดียวดูจะไม่เพียงพอ การผันไปสู่ธุรกิจมหาชน ให้ประชาชนและนักลงทุนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของกับครอบครัวนี้น่าจะเกิดประโยชน์ได้มากกว่า
ความคิดได้เริ่มต้น ณ จุดนี้ ก่อนสานต่อไปสู่การปรับวางโครงสร้างธุรกิจให้พร้อม
ครั้งนี้ "ไชยวัฒน์" มาพร้อมด้วยกำลังใจ และแรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมธุรกิจ ในยุค
ช.อมรภัณฑ์เฟื่องฟู มีนายสันติ โอฬาร พัฒนาโครงการหมู่บ้านรานี, นายสรศักดิ์ ตั้งประกิจ
กลุ่มเลิศอุบล, นายมงคล จิรกิจอนุสรณ์, นางนงเยาว์ โตวชรกุล (น้องสาว) ที่มุ่งมั่นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกับพี่ชาย
ล่าสุดพัฒนาโครงการบ้านสิริยาที่อยู่ระหว่างขายและพัฒนา ด้วยหวังในประสบการณ์ทางธุรกิจ
และฝีไม้ลายมือของกลุ่มเพื่อนสนิทมาเป็นกำลังสำคัญผลักดันธุรกิจของกลุ่ม ที่จะผันไปเป็น
ช.อมรภัณฑ์กรุ๊ป โฮลดิ้ง คอมปะนี บริหารการลงทุนและพัฒนาธุรกิจด้านสวนสนุก สปาและรีสอร์ต
รวมถึงพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต
โดยผลักคืน 3 แกนนำ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวในอนาคตให้เริ่มเข้ามามีบทบาทในงานและธุรกิจครอบครัวมากขึ้น
เริ่มจาก สิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ ลูกชายคนโต ที่ให้มาช่วยงานเป็นเวลาหลายปี
เริ่มจากคนขายตั๋ว ทำความสะอาดเครื่องเล่นต่างๆ ก่อนจะมาพัฒนา 3 โครงการอสังหาริมทรัพย์
ในนาม ช.อมรภัณฑ์วัฒนา
เริ่มจากทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 50 ล้านบาท พัฒนา 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการบ้านสวนอมรพันธุ์
บ้านเดี่ยว 75 ยูนิต บนพื้นที่ 20 ไร่ ระดับราคา 5-8 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 500-600
ล้านบาท
โครงการที่ 2 พัฒนาในชื่อ อมรภัณฑ์ เอื้ออาทรวัฒนา สอดรับกับนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยของภาครัฐ
ตั้งอยู่ในย่านหนองจอก บน พื้นที่ 33 ไร่ จำนวน 30 ยูนิต บ้านเดี่ยวระดับราคาขายไม่เกิน
1 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 300 ล้านบาท และอีกโครงการที่หาดแม่รำพึง จังหวัด ระยอง
ขนาด 30 ไร่ พัฒนาเป็นบ้านเดี่ยวระดับราคา 10-20 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับกลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติ
มีมูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท
จากนั้นได้เริ่มวางธุรกิจสวนสยามให้กับลูกชายคนที่ 2 วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ เป็นคนดูแลและบริหารงานต่อ
ส่วนลูกสาวคนเล็ก จิรวรรณ เหลืองอมรเลิศ จะเข้าไปพัฒนาธุรกิจด้านสปา และรีสอร์ตในพื้นที่โครงการหาดแม่รำพึง
โครงการลงทุนในปี 2547 ต่อเนื่องถึงปี 2548
ไชยวัฒน์ กล่าวว่า เบื้องต้นจะพยายามสร้างรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อง่ายขายคล่องกว่าในยุคที่เศรษฐกิจเติบโตและคนมีความต้องการซื้อบ้าน
จะเอาเงินส่วนหนึ่งจัดสรรมาพัฒนาให้สวนสยาม พัฒนาขึ้นมาเทียบเท่ากับระดับสากล
"เป็นการตกลงกันกับลูก ๆ ว่า เมื่อทำไประยะหนึ่ง จะเอาเงินบาง ส่วนมาพัฒนาสวนสยามให้ดีกว่าปัจจุบัน
ทั้งปรับพื้นที่ให้ดูใหม่ ส่วนห้องอาหาร ห้องน้ำ และอีกหลายจุด รวมถึงการนำเครื่องเล่นใหม่ๆ
เข้ามาเสริม"
โดยมองว่า จังหวะ เวลา และโอกาส เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น การสนับสนุน ด้านนโยบายการท่องเที่ยวของภาครัฐ
เส้นทางคมนาคมที่ปรับใหม่ ทำให้สวนสยามไม่ไกลอย่างอดีต สามารถเดินทางเชื่อมต่อได้กับสนามบินหนองงูเห่า
และอีกหลายจุด
เมื่อพัฒนาสวนสยามได้เต็มรูปแบบ จะทำให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ในปี
2550 จากปัจจุบันที่เริ่มมีกำไร 5-6 ล้านบาท จากยอดรายได้รวมประมาณ 200 ล้านบาทในปี
2546
หากเป็นไปตามคาด ในปี 2550 จะพัฒนาให้บริษัท อมรภัณฑ์นคร-สวนสยาม ซึ่งเป็นบริษัทบริหารจัดการ
สวนสยาม เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตามด้วย บริษัท ช.อมรภัณฑ์วัฒนา จำกัด บริษัทที่ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์
โดยจะตั้งบริษัทแม่ทำหน้าที่ลงทุนกับทุกบริษัทที่ขยายงานไป
ในช่วงเวลา 3 ปีจากนี้ ไชยวัฒน์ หวังว่าจะได้วางมือทางธุรกิจอย่าง จริงจัง และให้บรรดาลูก
ๆ ได้สานต่อธุรกิจที่วางไว้ จากนั้นจะเริ่มหันไปใช้เวลากับการพักผ่อน จากที่เจ้าตัวมักจะย้ำว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาทั้งหมดทุ่มเทไปกับการทำงานทั้งสิ้น
ตั้งแต่วัยหนุ่มถึงอายุ 69 ปีในปัจจุบัน ที่ตั้งใจจะได้เห็นสวนสยาม สวนน้ำ สวนสนุกแห่งนี้
ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง