คลังเลื่อนแปลงสภาพกฟผ.


ผู้จัดการรายวัน(1 มีนาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

เลื่อนแปลงสภาพ กฟผ. เป็นบ.มหาชนวันนี้ กระทรวงคลังชี้ไม่ได้ถูกกดดันจากม็อบ แต่เอกสารไม่พร้อม นายกฯยังย้ำเหมือนเดิม แปรรูปเพื่อความโปร่งใส ไม่ได้ขายรสก. ไม่เข้าตลาดหุ้นค่าไฟก็ขึ้นอยู่แล้ว เอแบคโพลล์สำรวจคนกทม.หวั่นนายทุนผูกขาด ค่าไฟขึ้นหลังแปรรูป อยากให้ชะลอไปก่อน พนักงานกฟผ.ต่างจังหวัดยกขบวนร่วมม็อบวันนี้ เอ็นจีโอเตรียมสมทบ

วันนี้ (1 มี.ค.) เป็นวันที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำหนดจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน จำกัด ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการแปรรูป กฟผ. ที่กำลังถูกคัดค้านอย่างหนักจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. (สร.กฟผ.) ที่ได้จัดการชุมนุมคัดค้านอย่างต่อเนื่องมา 1 สัปดาห์แล้ว

นายศิริชัย ไม้งาม ประธาน สร.กฟผ. เปิดเผยว่า ได้รับทราบมาจากบุคคลที่เชื่อถือได้ว่า กำหนดการจดทะเบียนแปลงสภาพ กฟผ. เป็นบริษัทมหาชน จำกัด ในวันนี้ (1 มี.ค.) จะต้องเลื่อนออกไปก่อน เพราะขั้นตอนต่างๆ ยังไม่สมบูรณ์

นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ยังไม่รู้เรื่องการเลื่อนการจดทะเบียนในวันนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของ กฟผ.ในนามรัฐบาลกล่าวว่า กระทรวงการคลังคงจะต้องเลื่อนการแปลงสภาพกฟผ.เพื่อจดทะเบียนเป็นบริษัท จำกัด(มหาชน) ในวันนี้ออกไปก่อน เนื่องจากยังคงติดปัญหาเอกสารบางอย่างไม่ครบถ้วน แต่ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับแรงกดดันจากม็อบกฟผ.แต่อย่างใด และคาดว่าการจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจะดำเนินการได้หลังจากที่เอกสารครบถ้วนซึ่งเชื่อว่าคงใช้เวลาไม่นานนัก

รัฐไม่ยากไร้ถึงขายสมบัติกิน

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวในที่ประชุมใหญ่ของพรรคไทยรักไทย เมื่อวานนี้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่การขายรัฐวิสาหกิจ แต่เป็นการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพื่อลดหนี้ของรัฐวิสาหกิจ

"รัฐบาลนี้ไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกถึงกับขายของกิน รัฐบาลนี้มาเป็นรัฐบาลแค่ไม่ถึง 2 ปี ยังใช้หนี้ไอเอ็มเอฟ 5 แสนล้านบาทหมดไป เพราะฉะนั้นการกระจายหุ้นรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์จึงไม่ใช่การขายทรัพย์สินแต่อย่างใด"

นายกฯกล่าวว่า การกระจายหุ้นของรัฐวิสาหกิจ ในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้มีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ มีการตรวจสอบได้ คนที่ถือหุ้นแค่ 10 หุ้นก็สามารถเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น ขอดูบัญชี ขอดูระบบต่างๆ ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้เกิด ความโปร่งใสของระบบรัฐวิสาหกิจไทย

ส่วนที่ห่วงกันว่าการที่รัฐวิสาหกิจเข้าตลาด หลักทรัพย์จะทำให้มีการขึ้นราคาบริการนั้น พ.ต.ท. ทักษิณกล่าวว่า ไม่จริง โดยอ้างอิงถึง กฟผ. ที่ยังไม่เข้าตลาดแต่ระหว่างปี 2536-2546 ยังขึ้นค่าไฟทุกปี เพราะฉะนั้นการเข้าตลาดไม่ได้ทำให้ค่าไฟขึ้นหรือไม่ขึ้น ทุกอย่างเป็นไปตามต้นทุน

นายกฯ ยืนยันว่ารัฐบาลจะกระจายหุ้นเพื่อประเทศชาติและประชาชนไม่ใช่เพื่อใครทั้งสิ้น ถ้าพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่งรักชาติ รักประชาชนมากกว่ารักตัวเองต้องไม่ขัดขวาง โดยตนจะดูแล สวัสดิภาพ สวัสดิการของพนักงานรัฐวิสาหกิจ และรัฐบาลนี้จะไม่ยอมขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ โดยยอมถือหุ้นข้างน้อย แต่จะต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ตลอดเวลา ยกเว้นรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนต่อเนื่องมายาวนานและยังปรับปรุงไม่ได้ก็อาจจะต้องยกเลิกไป

คนกทม.คิดไม่เหมือนนายกฯ

นายศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานสำนักวิจัย เอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กฟผ. ในสายตาประชาชน : กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร" จำนวน 1,147 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชน 75.5% ติดตามข่าวการชุมนุมคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของพนักงาน กฟผ. 24.5% ไม่ได้ติดตาม โดยประชาชน 1 ใน 3 เห็นด้วยกับการชุมนุมประท้วงของพนักงาน กฟผ. และเห็นว่าทำไปเพื่อส่วนรวม ในขณะที่ประชาชนอีกประมาณ 1 ใน 3 ไม่เห็นด้วยและไม่เชื่อว่าทำไปเพื่อส่วนรวม

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คือ 55.4% วิตกว่า ภายหลังการแปรรูปกฟผ. แล้วจะทำให้กลุ่มนายทุน เข้าไปผูกขาดกิจการ 25.9% ไม่วิตกกังวล และ 18.7% ไม่มีความเห็น

ในขณะที่ 61.1% เชื่อว่าการแปรรูป กฟผ.จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น 14.6% เชื่อว่าเท่าเดิม 5.9% เชื่อว่าลดลง และ 18.4% ไม่มีความเห็น

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่าง 46% เห็นว่ารัฐบาลควรชะลอการแปรรูป กฟผ.ไว้ก่อน 17.3% ไม่เห็นด้วยที่จะชะลอโครงการ และ 36.7% ไม่มีความเห็น

เมื่อสอบถามถึงความพอใจต่อการให้บริการของการไฟฟ้าในปัจจุบัน พบว่าประชาชน 44% พึงพอใจต่อการให้บริการ 39.9% ค่อนข้างพอใจ และ 14.3% ไม่ค่อยพอใจ

แกนนำยันขอพบนายกฯคนเดียว

การชุมนุมคัดค้านการแปรรูปกฟผ.ยังคงมีต่อไปเป็นวันที่ 7 โดยในช่วงเช้ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมทยอยเดินทางมาร่วมอย่างประปราย ประมาณ 100 คน เนื่องจากเป็นวันหยุด และได้มีการเปิดเวทีตั้งแต่เวลา 8.00 น. โดยมีการปราศรัยบนเวทีเป็นระยะ จากนั้นได้มีการส่งตัวแทนประมาณ 20 คน ไปแจกเอกสารตามย่านชุมชนในกรุงเทพฯ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน

เวลาประมาณ 12.00 น.ได้มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเดินทางมาประมาณ 1,000 กว่าคนรวมทั้งลูกหลานของพนักงานด้วย นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานกฟผ. ได้ขึ้นเวทีปราศรัยภายหลังการประชุมแกนนำว่า ตามที่ได้หารือกับนางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รมว.สาธารณสุขและรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กพ. นั้น ยังยืนยันว่าจะขอเจรจากับนายกฯโดยตรงและการชุมนุมจะยังคงดำเนินต่อไปโดยยึดตามมติของผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมเป็นหลัก

ภายหลังการปราศรัยนายศิริชัยได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่าเมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. วันที่ 28 ก.พ. ได้รับการติดต่อจากนางสุดารัตน์ โดยนางสุดารัตน์ได้เสนอตัวที่จะเป็นตัวกลางประสานงานกับทางนายกฯ แต่ตนได้ยืนยันไปตามที่ปราศรัยไปก่อนหน้านี้ และได้ยื่นข้อเสนอให้มีการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนทั้งประเทศก่อน โดยหากผลออกมาว่าให้แปรรูปก็คงต้องยอมรับ แต่ก็เชื่อว่าประชาชนคงไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น

"ยังยืนยันจุดเดิมที่คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจกฟผ. และไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวใดๆ และขอย้ำว่ายังไม่มีข้อตกลงใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเรายังไม่ได้เจรจากับนายกฯ" นายศิริชัยกล่าว

นายศิริชัย กล่าวถึงท่าทีของสหภาพฯ และผู้ชุมนุมว่าคงไม่อ่อนลง ส่วนการถอยไปคนละก้าวนั้น อยู่ที่นายกฯว่าจะถอยแค่ไหน และเหตุผลของนายกฯที่ว่าหากไม่มีการแปรรูปแล้วจะมีผลต่อตลาดหลักทรัพย์นั้น คิดว่าไม่น่าจะมีผลอะไรมากมาย และจริงๆ แล้วหลายคนก็คงรู้ดีว่า ผู้ที่ถือหุ้นใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์หรือมีผลประโยชน์นั้นเป็นกลุ่มไหน

นายศิริชัยกล่าวต่อว่า การชุมนุมในวันนี้พนักงานกฟผ.จากส่วนภูมิภาคประมาณ 6,000-7,000 คนจะเข้ามาร่วมชุมนุมด้วยซึ่งจะทยอยเดินทางมาถึงตั้งแต่ช่วงค่ำของวานนี้และเช้าวันนี้ โดยตั้งเป้าหมาย ว่าจะมีผู้ร่วมชุมนุมอย่างต่ำ 3 หมื่นคน

นายอิทธิพล ศรีประนาม รองประธานสหภาพการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า กรณีที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่การกระทรวงมหาดไทย ได้ระบุว่าสหภาพฯกปน.จะไม่ร่วมชุมนุมคัดค้านและเข้าใจการแปรรูปรัฐวิสหกิจของรัฐบาลด้วยดีนั้น ไม่ต้องการให้พูดแทนพนักงาน กปน.เพราะทุกคนเข้าใจดีจึงไม่ต้องการแปรรูป และที่ผ่านมาก็ร่วมชุมนุมมาตลอดและวันนี้ก็จะมาร่วมเพิ่มอีก

สรส.ยัน 2 มี.ค.ประชุมใหญ่

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) กล่าวว่า วันที่ 2 มีนาคม 2547 สรส.ยังยืนยันจะเปิดการประชุมใหญ่ วิสามัญสรส.เช่นเดิมเพื่อลงมติการคัดค้านการแปรรูปกฟผ. ส่วนกรณีที่มีข้อกังวลห่วงว่าจะมีมือที่ 3 เข้ามาแทรกแซงก็น่าจะเกิดจากความวิตกกังวลมากกว่า แต่ที่ผ่านมาก็เห็นว่าพนักงานที่มาชุมนุมอยู่ในความสงบและเรียบร้อย

นายแพทย์บันลือ เฮงประสิทธิ์ ที่ปรึกษาสร.กฟผ.กล่าวว่า การที่ผู้บริหารกฟผ.ลงมา รับประทานข้าวด้วยเมื่อวันเสาร์เป็นการแสดง ความไม่จริงใจเพราะได้รับคำสั่งมาเพื่อให้เข้ามาเกลี้ยกล่อมให้มีการสลายการชุมนุม และวันที่ 2 มี.ค.เมื่อมีการประชุมสรส. อยากรู้ว่าผู้บริหารจะประกาศตัวอย่างไรกันแน่

บิ๊กกฟผ.กล่อมพนักงาน

นายสิทธิพร รัตโนภาส ผู้ว่าการกฟผ. กล่าวภายหลังการเรียกประชุมด่วนพนักงานกฟผ.ระดับรองผู้อำนวยการขึ้นไปเพื่อหารือการแก้ไขปัญหาการชุมนุมว่า ผู้บริหารทำได้เพียงการบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับกฟผ. คือการให้ข้อแนะนำแก่พนักงานในระดับผู้บัญชาการแต่ละฝ่ายในกฟผ. ทำการชี้แจงกับผู้ใต้บังคับบัญชาของตน ว่า เกิดความเสียหายอย่างไรกับกฟผ. เพื่อให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานตามปกติ

เอ็นจีโอร่วมต้าน

เวลา 13.00 น. ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน 16 องค์กร แถลงจุดยืนร่วมกัน "คัดค้านแปรรูปรับวิสาหกิจ ไฟฟ้า-ประปา" นำโดย นายสุวิทย์ วัดหนู ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการครป. น.ส. สายรุ้ง ทองปอน เลขาธิการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรับฟังความคิดเห็นการคัดค้าน ไม่เห็นด้วยที่จะเอาการไฟฟ้า และการประปาไปแปรรูป จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด มหาชน

ตัวแทนเครือข่ายฯกล่าวว่า สิ่งที่นายก-รัฐมนตรีได้พูดกับประชาชนนั้นเป็นการโกหกคำโตทั้งสิ้น เพราะการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นการเปิดโอกาส ให้กับคนบางกลุ่ม ที่มีเงินเข้ามาซื้อหุ้น รวมทั้งจะเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นและในท้ายที่สุดรัฐวิสากิจ โดยเฉพาะไฟฟ้าก็จะต้องตกเป็นของต่างชาติ ซึ่งประชาชนคนไทยก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น ทั้งๆที่ขณะนี้ประชาชนเป็นเจ้าของกิจการอยู่แล้ว แต่นายกรัฐมนตรีไม่ได้สอบถามประชาชนเลยว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการกระทำดังกล่าวของรัฐบาล

นายสุวิทย์กล่าวว่า เครือข่ายประชาชนจะรอดูท่าที่ของนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดนี้ว่าในวันที่ 1 มี.ค.นี้จะเดินหน้าจดทะเบียนกฟผ. เป็นบริษัทมหาชนหรือไม่ ถ้ายังจดทะเบียนตามกำหนดก็จะเริ่มเคลื่อนไหวโดยจะเชื่อมโยงกับทุกเครือข่ายทั่วประเทศออกมาแสดงพลัง ประสานกำลังกันเพื่อหาวิธีในการบอกกล่าวเล่าข้อเท็จจริงให้กับประชาชนและสังคมได้รับทราบว่า ขณะนี้สาธารณประโยชน์ของประชาชนกำลังถูกยึดไปอยู่ในมือของกลุ่มทุน

นายสุริยะใส กล่าวว่า ในวันที่ 1 มี.ค.จะไปรวมตัวกันที่หน้าตึก ซีพี ถนนสีลมเพื่อแถลงจุดยืนและบอกกล่าวให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรีจะนำกากฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์

แฉที่ปรึกษาดันให้เพิ่มค่าไฟ

นายศรีสุวรรณ ควรขจร เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชน (กปอพช.) เปิดเผยว่า บริษัทบอสตัน คอนซัลต์ติ้ง กรุ๊ป ซึ่งรัฐบาลจ้างมาทำการศึกษาการนำ กฟผ.เข้าตลาดหุ้นได้นำเสนอว่าตัวเลขผลตอบแทนที่จูงใจนักลงทุนควรจะอยู่ที่ 9% แต่ในตัวเลขจริงของการแปรรูปกฟผ.ใน 5 ปีแรก ผลกำไรจะอยู่เพียง 1-4% เท่านั้น ดังนั้น บ.บอสตันจึงเสนอ 2 แนวทางในการจะคงตัวเลขกำไร 9% ไว้คือ

แนวทางที่ 1 ตั้งกองทุนจากกำไรที่ได้จากการ นำกฟผ.เข้าตลาดหุ้น 60,000 ล้านบาทเพื่อมาชดเชย ในช่วงที่ผลกำไรไม่ถึง 9%

แนวทางที่ 2 ให้ผลักเข้าไปในค่าเอฟที เลย

ดังนั้น การประกันกำไร 9% ให้นักลงทุนจะถูกผลักเข้ามาในค่าไฟอย่างแน่นอน โดยเฉพาะคนจนและผู้ใช้ไฟรายย่อยต้องรับภาระ เพราะ ผู้ประกอบการธุรกิจยังสามารถผลักภาระค่าไฟมา ที่ผู้ซื้อสินค้าได้ แต่ผู้ใช้ไฟรายย่อยต้องจ่ายเพิ่มอย่างเดียว

นส.สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการเครือข่ายสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ในเวทีรับฟังความ คิดเห็นที่ฝ่ายรัฐจัดเรื่องแปรรูปกฟผ.ส 5 ครั้ง ที่ผ่านมา ผู้แทนหน่วยราชการตอบคำถามว่าไม่สามารถรับประกันเรื่องไม่ขึ้นค่าไฟได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับที่รมต.กระทรวงพลังงานและนายกฯ ออกมาพูดว่าจะไม่ขึ้นค่าไฟอย่างน้อย 1 ปีและ 3 ปี

ส่วนกรณีองค์กรกำกับดูภาคพลังงานที่รัฐบาลวางแผนไว้ให้สังกัดกระทรวงพลังงานก็แสดงถึงความไม่เป็นอิสระและจะไม่ก่อให้เกิดการตรวจสอบอย่างยุติธรรมได้จริง

ด้านนายคณิน บุญสุวรรณ อดีตส.ส.ร. ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมการแปรรูปจึงมีความเร่งรัด และทำไมต้องเป็นวันที่ 1 มี.ค.นี้ด้วย ทั้งที่นายก-รัฐมนตรีก่อนที่จะเข้ามารับใช้ประชาชนก็บอกกับว่า จะไม่ขายรัฐวิสาหกิจรวมทั้งจะยกเลิกกฎหมาย ขายชาติ 11 ฉบับที่พรรคประชาธิปัตย์ทำไว้

"การแปรรูปเกิดขึ้นเมื่อไร ความหายนะก็จะค่อยๆคืบคลายเข้ามาสู่ประเทศ เช่นที่ประเทศอินเดียที่จะมีการเลือกตั้งกันในอีกไม่กี่เดือนนี้ ก็ได้เคยทำการขายรัฐวิสาหกิจโดยการยอมขาดทุน เพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋า ซึ่งก็ได้มาประมาณ 30% เพื่อที่นำมาเป็นเงินทุนในการใช้จ่ายในการเลือกตั้ง และการกระทำแบบเร่งรีบของรัฐบาลชุดนี้จึงเห็นได้ว่า เป็นการกระทำเช่นเดียวกันกับประเทศอินเดีย หรือไม่ เพื่อที่จะได้เงินมาไว้ก่อน 6 หมื่นล้าน เพื่อไว้เป็นทุนเตรียมการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่" นายคณิน กล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.