ไทคอนฯ มั่นใจมีผู้สนใจสวมสิทธิถือหุ้นบุริมสิทธิของ TICON แทนคาลเปอร์ส หากทิ้งหุ้นที่ถือในกองทุนเพื่อการร่วมทุน
(Thailand Equity Fund) หลังจากมีนโยบายเพิกถอนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยและอินเดีย
ยันไม่กระทบหุ้นแน่
นายชาตรี เหล่าเหมวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท ไทคอน
อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) (TICON) เปิดเผยกรณีที่บริษัทฯ ขายหุ้นบุริมสิทธิให้กองทุนเพื่อการ
ร่วมลงทุน (Thailand Equity Fund) จำนวน 50 ล้านหุ้น ซึ่งมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (คาลเปอร์ส) ถือหุ้นอยู่ในกองทุนดังกล่าว 20% ว่า บริษัทฯจะไม่ได้รับผลกระทบจากการถอนตัวของคาลเปอร์ส
หลังจากมีมติเพิกถอนไทยและอินเดียออกจากบัญชีรายชื่อประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งคาลเปอร์สได้รับอนุญาต
ให้เข้าไปลงทุน โดยไทคอนฯ มั่นใจว่ามีผู้ที่สนใจเข้ามาถือหุ้นแทน ทำให้ไม่กระทบต่อหุ้นบริษัทฯอย่างแน่นอน
เพราะไทคอนฯเป็นบริษัทที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง
"ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าคาลเปอร์สจะถอนจากกองทุนเพื่อการร่วมลงทุนหรือไม่ หากคาลเปอร์สถอนการลงทุนไป ก็คงไม่กระทบต่อหุ้นไทคอนฯ เพราะจะมีผู้ที่สนใจเข้ามาถือหุ้นบุริมสิทธิแทน
ซึ่งหุ้นบุริมสิทธิดังกล่าวจะไม่มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่หากราคาหุ้นTICON
มีการเปลี่ยนแปลงเกิน 40% ก็มีสิทธิบังคับให้เขาแปลงเป็นหุ้นสามัญได้"
ทั้งนี้ไทคอนฯได้รับชำระเงินค่าหุ้นบุริมสิทธิ เพิ่มทุนที่บริษัทเสนอขายให้แก่กองทุนเพื่อการร่วมลงทุนจำนวน
50 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 9.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 462,500,000 บาทเมื่อวันที่
11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยที่หุ้นบุริมสิทธิสามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญของบริษัทได้
ซึ่งกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนรวมที่มีทุน 10,000 ล้านบาท จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของรัฐบาลไทย
และสถาบันชั้นนำของประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม
เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารกองทุน
กลุ่มผู้ลงทุนในกองทุนเพื่อการร่วมลงทุน ประกอบด้วยสถาบันจากต่างประเทศ ได้แก่
International Finance Corporation (IFC), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย(คาลเปอร์ส)
, Asian Development Bank (ADB), และDEG (ในกลุ่ม Germany's KfW) สำหรับสถาบันในประเทศ
ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารพาณิชย์ 12 แห่ง บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และ ธนาคารออมสิน
นายชาตรี กล่าวว่าเงินที่ได้จากการขายหุ้นบุริมสิทธิดังกล่าวนำมาใช้ในการขยายธุรกิจ
โดยบริษัทจะนำไปใช้ในการซื้อที่ดินในนิคมฯและสร้างโรงงานให้เช่าเพิ่มเติม โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายก่อสร้างอาคารโรงงานให้เช่าอีก
50 โรงงาน คาดทั้งปีบริษัทจะมีโรงงานให้เช่ารวมทั้งสิ้น 160 โรงงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีโรงงานให้เช่าเพียง
114 โรงงาน ส่งผลให้บริษัทมีรายได้ และกำไรสุทธิขยายตัวขึ้น 30% จากปีก่อน และยังรักษาระดับอัตราหนี้สินต่อทุนไว้ในระดับที่เหมาะสมอยู่ที่
1.5 เท่า
โดย ณ สิ้นปี 2546 บริษัทมีหนี้สินรวม 700 ล้านบาท อัตราหนี้สินต่อทุน 1.5 เท่า
หลังจากบริษัทออกหุ้นบุริมสิทธิขายให้กองทุนฯ ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนต่ำกว่า 1
เท่า ทำให้บริษัทฯมีความสามารถในการกู้ยืมเงินเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการขยายกิจการต่อไปได้
โดยปีนี้คาดว่าจะกู้ยืมเงินจากแบงก์เพิ่มเติมประมาณ 500 ล้านบาท
สำหรับกรณีที่ค่าวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างอาคารโรงงาน
ให้เช่าเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10% ซึ่งบริษัทจะหาแบ่งเบา ภาระต้นทุนที่เพิ่มโดยการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
ทำให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง ทดแทนต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น โดยบริษัทจะรักษานโยบายการตลาดที่จะขายหรือคิดค่าเช่าโรงงานในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งประมาณ
10% ภายใต้คุณภาพการก่อสร้างโรงงานที่สูง
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังศึกษาการขยายธุรกิจ ไปยังต่างประเทศ โดยพิจารณาการเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานให้เช่าในนิคมอุตสาหกรรมที่ฉางโจว
ประเทศจีน ซึ่งนิคมฯ ดังกล่าวผู้ถือหุ้นของบริษัทคือ บจม.สวนอุตสาหกรรมโรจนะเป็นผู้ดำเนินการอยู่
คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ซึ่งรูปแบบการลงทุนจะเหมือนกับที่ทำอยู่ในไทย โดยผู้ประกอบการนิคมฯจะช่วยหาลูกค้าขนาดกลางและเล็ก
ซึ่งใช้พื้นที่ไม่มากนักให้บริษัทฯ ซึ่งได้ซื้อที่ดินรองรับไว้อยู่แล้ว
สำหรับดำเนินงานงวดปี 2546 ว่าบริษัทมีกำไรสุทธิ 207.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85.64%
จากปีงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 111.82 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรต่อ หุ้นเพิ่มจาก33
สตางค์ เป็น 52 สตางค์ ต่อหุ้น เนื่องจากในปี 2546 บริษัทมีการขายโรงงานให้แก่ลูกค้าจำนวน
4 โรงงานในขณะที่ปี 45 ไม่มีรายการดังกล่าวเกิดขึ้น ทำให้กำไรจากการดำเนินงานของปี
2546 เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีกำไรขั้นต้น 343 ล้านบาทจากค่าเช่ารับและค่าบริการ เนื่องจากมีการขยาย
ตัวของการให้เช่าโรงงานอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนโรงงานที่มีผู้เช่าและรับรู้รายได้
แล้วจำนวน 86 โรง งาน ณ สิ้นปี 2545 เพิ่มเป็น 102 โรงงาน ณ สิ้นปี 2546 ทำให้รายได้ค่าเช่าและค่าบริการเพิ่มขึ้นมาก
ส่งผลให้มีกำไรจากการให้เช่า และบริการเพิ่มขึ้น
ขณะที่ดอกเบี้ยจ่ายลดลงในปี 2546 บริษัทมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยน้อยลงกว่าปีก่อนประมาณ
5.9 ล้านบาท ทั้งที่ธุรกิจของบริษัทยังคงขยายตัว อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับลดลง
รวมทั้งบริษัทได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินในการเจรจาขอลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดิม
และคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำสำหรับวงเงินกู้ใหม่
ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท ครั้งที่ 3/2547 อนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังของปี
2546 ในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นที่มีรายชื่อในสมุดทะเบียน ณ วันที่
12 มีนาคม 2547 เวลา 12.00 น. กำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 19 เมษายน 2547 โดยกำหนดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี
2547 ในวันที่ 2 เมษายน 2547