"ไชยวัฒน์"วางทายาทปลุกสวนสยาม-อสังหา


ผู้จัดการรายวัน(27 กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"ไชยวัฒน์ เหลืออมรเลิศ" เร่งฟื้นธุรกิจ ช.อมรภัณฑ์กรุ๊ปเป็นโฮลดิ้งคอมพานีในอนาคต วางระบบโครงสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3 โครงการ ธุรกิจสปาและรีสอร์ต รวมกว่า 2,000 ล้านบาท พร้อมปลุกสวนสยาม ให้ทายาทบริหาร เจรจาดึงคนเก่ามือดีเสริมทีม ผสมผสานการบริหารจัดการเก่า-ใหม่ หวังทำกำไร ก่อนผลักดันสวนสยาเข้าตลาดหุ้นปี 2550 แจงปัญหาแบงก์กรุงเทพฯ อยู่ระหว่างขออุทธรณ์ของศาลแพ่ง เหตุยืดเยื้อเพราะปัญหาส่วนตัว

นายไชยวัฒน์ เหลืออมรเลิศ ประธานกรรมการ บริษัท อมรภัณฑ์นคร-สวนสยาม จำกัด เปิดเผยถึงนโยบายการดำเนินงานของกลุ่ม ช.อมรพันธ์ ว่าการกลับเข้าวงการอสังหาริมทรัพย์ครั้งนี้ถือเป็นในรอบ 25 ปีนับตั้งแต่ห่างหายไปจากตลาด เนื่องจากต้องการทำงานกับสวนสยามอย่างเต็มที่ และต้องการสร้างธุริกิจสวนสนุกให้ประสบความสำเร็จจากที่ในประวัติศาสตร์ยังไม่เคยมีใครทำสำเร็จมาก่อน เพราะเป็นธุรกิจบริการ และใช้เงินลงทุนสูง ในต่างประเทศธุรกิจนี้จำเป็นต้องดึงเอาผู้ร่วมทุนจากธุรกิจอื่นเข้ามาเสริมเพื่อให้อยู่รอด

นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ พบว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่บอกถึงโอกาสทางธุรกิจของกลุ่ม จากแนวนโยบายภาครัฐสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมถึงการเชื่อมต่อของเส้นทางท่องเที่ยวของประเทศในกลุ่มเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาสวนสยามให้เป็นสวนน้ำระดับสากลมากขึ้น และปัจจัยที่สำคัญมาจากผลประกอบการของสวนสยามที่สามารถทำกำไร ประมาณ 5-6 ล้านบาท จากยอดรายได้ 200 ล้านบาท เทียบกับผลการดำเนินงานขาดทุนที่ผ่านมาต้องประสบกับภาวะขาดทุนมาตลอด 25 ปีนับตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจ

วางมือธุรกิจให้ทายาทดูแล

สำหรับแนวทางการพัฒนาธุรกิจสวนสนุก สวนน้ำ นายไชยวัฒน์กล่าวว่า จะทำควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยจัดตั้งบริษัท ช.อมรพันธุ์วัฒนา จำกัด ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 50 ล้านบาท ให้นายสิทธิศักดิ์ เหลืออมรเลิศ ลูกชายคนโตดูแล เริ่มพัฒนา 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการบ้านสวนอมรพันธุ์ บ้านเดี่ยว 75 ยูนิต บนพื้นที่ 20 ไร่ ระดับราคา 5-8 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 500-600 ล้านบาท

โครงการที่ 2 อมรภัณฑ์ เอื้ออาทรวัฒนา สอดรับกับนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยของภาครัฐ ตั้งอยู่ในย่านหนองจอก บนพื้นที่ 33 ไร่ จำนวน 30 ยูนิต บ้านเดี่ยวระดับราคาขายไม่เกิน 1 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 300 ล้านบา และอีกโครงการที่หาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง ขนาด 30 ไร่ พัฒนาเป็นบ้านเดี่ยวระดับราคา 10-20 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับกลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติ มีมูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท

พื้นที่ในโครงการที่หาดแม่รำพึงนี้ ส่วนหนึ่งจะพัฒนาเป็นรีสอร์ตและสปา ซึ่งจะให้จิรวรรณ เหลืออมรเลิศ ลูกสาวคนที่ 3 เป็นคนดูแล อยู่ระหว่างการร่างแบบ และพิจารณาเลือกเชน (Chain) มาบริหาร เพราะจะช่วยเสริมเรื่องภาพลักษณ์ของธุรกิจได้

นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ยังมีพื้นที่อีกแปลงบนถนนลาดพร้าว จำนวน 14 ไร่ ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน มีแผนงานที่จะพัฒนาเป็นบ้านเดี่ยวกลางเมืองในอนาคต

"จากธุรกิจที่วางไว้และให้ลูกพัฒนาในโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่จะเห็นรายได้ในปีนี้ จะจัดสรรเงินส่วนหนึ่งที่ได้มาปรับปรุงพื้นที่ในสวนสยาม และจัดหาเครื่องเล่นใหม่เข้ามาเสริม ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทำกันไว้กับลูก ๆ ว่าสุดท้ายแล้วต้องการสร้างให้สวนสยามประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ โดยธุรกิจนี้จะให้วุฒิชัย ลูกชายคนที่ 2 รับผิดชอบ" นายไชยวัฒน์ กล่าว

ฟื้นธุรกิจดันเข้าตลาดหุ้น

นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกลุ่มพันธมิตรเก่าที่เคยอยู่ในกลุ่ม ช.อมรภัณฑ์ในอดีตเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้ให้กับทีมบริหาร อาทิ นายสันติ โอฬาร พัฒนาโครงการหมู่บ้านรานี , นายสรศักดิ์ ตั้งประกิจ กลุ่มเลิศอุบล , นายมงคล จิรกิจอนุสรณ์ , นางนงเยาว์ โตวชรกุล (น้องสาว) พัฒนาโครงการบ้านสิริยา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่ม ซึ่งจะเสริมด้านประสบการณ์การทำงานให้กับบรรดาคนรุ่นใหม่

โดยในปี 2547 จะเป็นปีของการตระเตรียมตัวให้พร้อม สร้างธุรกิจให้เข้มแข็ง เพื่อเตรียมตัวนำบริษัท อมรพันธุ์นคร-สวนสยาม จำกัด ซึ่งมีสวนสยาม เป็นทรัพยากรสำคัญในการทำรายได้ ตั้งเป้าว่าจะนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ให้ได้ภายใน 3 ปี หรือราวปี 2550

"เศรษฐกิจยุคใหม่ เติบโตภายใต้ธุรกิจครอบครัวไม่เพียงพอกับการทำงานในปัจจุบัน จำเป็นต้องเป็นมหาชนเพื่อระดมทุนจากตลาดเข้ามาเสริม ซึ่งประโยชน์ที่ได้จะมีทั้งเครดิตและชื่อเสียง จากสถานการณ์ปัจจัยมองว่ามีความเป็นไปได้ จากนั้นจึงจะนำบริษัท ช.อมรพันธุ์วัฒนา จำกัด ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นลำดับต่อไป"

นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทภาระหนี้สินอยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท เป็นภาระที่สามารถรับมือได้ วัดได้จากสินทรัพย์ของสวนสยาม จำนวน 300 ไร่ มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท และ ยังเหลือพื้นที่พัฒนาอีก 20% ประมาณการรายได้ในปี 2547 เท่ากับ 260 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 300-400 ล้านบาทในปี 2548 โดยจะพยายามดึงนักท่องเที่ยวให้ได้ 3 ล้านคนต่อเดือน

สำหรับแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาโครงการจัดสรร ได้รับเงินทุนส่วนหนึ่งมาจากไทยธนาคาร ประมาณ 30% และคงไม่พิจารณาเพิ่มวงเงิน เว้นแต่ในกรณีที่ต้องพัฒนาโครงการในขนาดใหญ่ขึ้น

"ส่วนข้อปัญหาด้านกฎหมายระหว่างตัวเองกับนายชาตรี โสภณพนิช ของแบงก์กรุงเทพฯ อยู่ระหว่างการขออุทธรณ์ จากศาลแพ่ง หลังจากที่ตัดสินแล้วว่าเราเป็นฝ่ายแพ้ อย่างไรก็ดีปัญหาดังกล่าวที่ไม่สามารถจบลงได้ เกิดจากกรณีส่วนตัวที่ตกลงกันไม่ได้เท่านั้น"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.