ผ่าใหญ่แฟมิลี่โนฮาว"โต้ง"ส่อแววถอดใจ


ผู้จัดการรายวัน(26 กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

มติบอร์ด ตลท.วานนี้ ตอกย้ำยืด บจ.ใหม่รับส่วนลดภาษี 5% อีก 1 ปี พร้อมรับหุ้นคันทรี่กลับเข้าจดทะเบียน ใหม่ แถมผ่าตัดบอร์ดแฟมิลี่โนฮาว ครั้งใหญ่ โบรกเกอร์ชี้ "กิตติรัตน์" มีสิทธิถอดใจ ด้าน "สมเจตน์" ยังแบ่งรับแบ่งสู้ หลังตกเป็นข่าว เป็นแคนดิเดต ด้านเอ็มดี ตลท. ปฏิเสธลั่น รื้อบอร์ดแฟมิลี่ฯไม่ได้ เกิดจากปัญหาความขัดแย้ง

นางภัทรียา เบญจพลชัย รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และเลขานุการคณะกรรมการ ตลท. เปิดเผยมติคณะกรรมการ.ตลท. วานนี้ (25 ก.พ.) ว่า คณะกรรมการ ตลท.มีมติเห็นชอบปรับโครงสร้างคณะกรรมการ และแต่งตั้งกรรมการบริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว บริษัทในเครือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างองค์กร ตลท.

โดยให้ประธานกรรมการ ตลท. ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริษัท และให้รองผู้จัดการ ตลท. ดูแลสายงานกิจกรรมองค์กร เป็นกรรมการบริษัท แทนรองผู้จัดการที่ดูแลสายงานศูนย์ระดมทุน

นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมอีก 2 คน ได้แก่ นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. และนายนิพัทธ พุกกะณะสุต ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาตลาดทุน การปรับโครงสร้างดังกล่าว จะทำให้คณะกรรมการบริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว มีรวม 13 คน โดยมีกรรมการโดยตำแหน่ง 5 คน คือ นายวิจิตร สุพินิจ ประธานกรรมการ ตลท. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลท. นางภัทรียา นายวิเชฐ ตันติวานิช ผู้จัดการ บริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว นายรัชชพล เหล่าวานิช ผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว

ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน จะประกอบ ด้วย นายธีระชัย นายยุทธ วรฉัตรธาร นายนิพัทธ นายคณิต คุณาวุฒิ นายสมคิด จิรานันตรัตน์ นายเทพ รุ่งธนาภิรมย์ นายสุรัตน์ พลาลิขิต และนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ให้มีผลตั้งแต่ 1 มี.ค. โดยคณะกรรมการทั้งหมดของบริษัท จะมีวาระดำรงตำแหน่ง ถึง 31 ธ.ค.

บริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว เป็น บริษัทย่อย ตลท. ทำหน้าที่ผลิตสื่อ และรายการเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุน รูปแบบความรู้คู่ความบันเทิง ผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และกิจกรรมต่าง ๆ การมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเข้าใจด้านการลงทุนหลากหลาย จึงเป็นประโยชน์ต่อบริษัท ที่จะได้รับข้อเสนอแนะดำเนินกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนไปยังผู้ลงทุน และประชาชน วงกว้าง และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวมต่อไป นางภัทรียากล่าว

แหล่งข่าวโบรกเกอร์ แสดงความเห็นกรณีปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของบริษัท แฟมิลี่โนฮาว ซึ่งนายกิตติรัตน์เป็นคนก่อตั้ง ว่าถือเป็นการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ที่ไม่ธรรมดา เนื่องเพราะคณะกรรมการชุดใหม่ ล้วนเป็นผู้อาวุโส และมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านตลาดเงินตลาดทุนรอบด้านกว่าคณะกรรมการชุดเก่า ภาพเช่นนี้ สะท้อนดีกรีความขัดแย้งภายในมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะระหว่างนายวิจิตร และนายกิตติรัตน์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็เคยมีกระแสข่าวความขัดแย้งเป็นระยะ ๆ เพียงแต่กรณีนี้ ค่อนข้างชัดเจนกว่า ไม่สามารถประนีประนอมยอมกันได้ จะด้วยเหตุใดก็ตาม

แหล่งข่าวกล่าวว่า ช่วงก่อนหน้าที่จะผ่าตัดใหญ่ แฟมิลี่โนฮาว นายกิตติรัตน์แสดงท่าทีกับคนใกล้ชิดหลายคน ทำนองอึดอัด และรู้สึกถอดใจกับการทำงาน ขณะนี้ หากผลปรับโครงสร้างออกมาเช่นนี้ ยิ่งส่อแววนายกิตติรัตน์คงถอดใจมากขึ้นกว่าเก่า ส่วนนายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ที่ถูกพูดถึงว่า เป็นแคนดิเดต เจ้าตัวเมื่อได้ยินข่าว ก็ยังไม่ได้ปฏิเสธชัดเจน ว่าจะไม่แทนที่นายกิตติรัตน์

ด้านนายกิตติรัตน์กล่าวถึงกรณีปรับเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท แฟมมิลี่ โนฮาวว่า ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งระหว่างเขากับนายวิจิตร การที่เชิญนายธีระชัยร่วมเป็นกรรมการ เพื่อทำให้ ตลท.และ ก.ล.ต.ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น

"ในที่ประชุมคณะกรรมการ ตลท.สอบถามถึงข่าวการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบอร์ดบริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว ที่หนังสือพิมพ์ลง และลงในทำนองว่า มีความขัดแย้งกัน ซึ่งก็ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมได้รับทราบว่าไม่ได้เกิดจากปัญหาความขัดแย้งแต่อย่างใด ผมก็เป็นผู้ไปเชิญกรรมการใหม่เข้ามาร่วมงาน เพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกันมากยิ่งขึ้น" นายกิตติรัตน์กล่าว

การทำงานกันใกล้ชิด ถือเป็นสิ่งที่ดี ทั้งส่วนรัฐบาล กระทรวงการคลัง ก.ล.ต. ตลท. ซึ่งถ้าทำให้ตลาดทุนมีความแข็งแกร่ง ก็จะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน เขากล่าว

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ ตลท. มีมติแก้ไขหลักเกณฑ์รับหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียน โดยกำหนดเกณฑ์เฉพาะกิจ เพื่อสั่งรับบริษัทที่ยื่นคำขอเข้าจดทะเบียน เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนไว้ก่อน (Shelf listing) เพื่อเอื้ออำนวยให้บริษัทที่ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ภาษี จากการจดทะเบียนภายใน 5 ก.ย.

โดยจะรับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไว้ก่อน และให้บริษัทกระจายหุ้น เพื่อให้เริ่มซื้อขายได้ภายในวันสิ้นรอบบัญชีถัดไป หรือ 31 ธ.ค. 2548 แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน

นางภัทรียากล่าวว่า บริษัทที่จะขอจดทะเบียน ไว้ก่อนลักษณะดังกล่าวได้ ต้องเป็นบริษัทมหาชน ที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายในวันที่ 3 ก.ย. วันทำการสุดท้ายก่อน 5 ก.ย.

เป็นบริษัทมีกำไรก่อนเป็น บจ. และดำเนินงาน อย่างน้อย 2 ปี ภายใต้คณะผู้บริหารชุดเดียวกันอย่างน้อย 1 ปี มีคณะกรรมการตรวจสอบ และต้องร่วมกับที่ปรึกษาการเงิน เพื่อยื่นขอ ตลท. และเป็นบริษัทที่ ตลท.สั่งรับเป็น บจ.ภายในวันที่ 5 ก.ย. ทั้งนี้ ตลท. จะเสนอ ก.ล.ต. เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ตลท.พิจารณากรณี 4 บจ. ได้แก่ บริษัท เพาเวอร์-พี (PP) บริษัท คันทรี่ (ประเทศไทย) (CNTRY) บริษัท รัตนการเคหะ (RR) และบริษัท ศรีวรา เรียลเอสเตทกรุ๊ป (S-VARA) ซึ่งยื่นคำขอให้ทบทวนมติเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าว

โดยมีมติผ่อนปรนคำสั่งเพิกถอนหลักทรัพย์ CNTRY โดยให้ยังคงสภาพเป็น บจ.ไปก่อน และให้บริษัทต้องปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบวก และให้ซื้อทรัพย์สินส่วนที่จะนำกลับมาดำเนินการเป็นธุรกิจหลักภายใน 180 วัน รวมทั้งให้บริษัทจัดสรรหุ้นจำนวนหนึ่งให้ผู้ถือหุ้นเดิม ก่อนลดทุน และปรับโครงสร้างหนี้

สำหรับ PP และ RR คณะกรรมการมีมติพิจารณาข้อมูล และเงื่อนไขดำเนินการบริษัททั้ง 2 เพิ่มเติม ก่อนที่คณะกรรมการจะพิจารณาคำขอให้ทบทวนการสั่งเพิกถอนหลักทรัพย์ดังกล่าวใหม่อีกครั้ง ส่วนกรณี SVARA คณะกรรมการ ตลท.มีมติคงคำสั่งเพิกถอนหลักทรัพย์บริษัทเช่นเดิม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.