Virtual Value

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

วิกฤติการณ์ไข้หวัดนก นำมาซึ่งโอกาสในการเรียนรู้และเข้าใจ "สิ่งตกผลึก" บางอย่างทั้งในแง่ผู้บริหารทางการเมืองและธุรกิจ

บางอย่างเป็น "ความรู้เก่า" นักบริหารรัฐและธุรกิจ ผู้ที่พยายามทำให้เข้าใจว่าพวกเขาเป็นคน "หัวใหม่" ชอบท่องเป็นคาถาเสมอ ที่ว่าด้วย "ข้อมูล" คราวนี้พวกเขาจะเข้าถึง "ความหมาย" และ "แก่นแท้" ของข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะการศึกษา ทำความเข้าใจข้อมูลที่ว่าด้วย "ข่าวร้าย" หรือ "วิกฤติการณ์"

"ข่าวร้าย" หรือ "วิกฤติการณ์" จะเกิดขึ้นเสมอ เป็นสิ่งที่จะต้องยอมรับ ดูเหมือนความถี่ในการเกิดจะมีมากขึ้น พอๆ กับความหลากหลายของเรื่องที่ดูจะเกี่ยวข้องกับสังคมในมิติต่างๆ มากขึ้นเสียด้วย

ที่สำคัญหลายเรื่องมิใช่มาจากความบกพร่องเชิงบริหารด้วย การยอมรับแนวโน้มนี้จะทำให้การศึกษาทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างมีสติมากขึ้น

โดยเฉพาะการประเมินผลกระทบที่สัมพันธ์กับข้อมูลที่แท้จริงของ "ข่าวร้าย" หรือ "วิกฤติการณ์" นั้น ความโน้มเอียงที่เกิดขึ้นในกรณีนี้คือการประเมินผลกระทบอย่างผิดๆ ทำให้ความเข้าใจและหรือความพยายามศึกษาข้อมูลไม่ละเอียดลึกซึ้งเพียงพอ การประเมินอย่างผิดๆ ที่ว่านั้น มักจะเกิดขึ้นจากอคติหรือผลประโยชน์ที่ขัดแย้งของตนเอง

นักบริหารกลัวข่าวร้าย ปกปิดข่าวร้าย หลอกตนเองและสาธารณชนไปด้วย

หากนักบริหารเหล่านี้เข้าใจ "ความรู้ค่อนข้างใหม่" บางเรื่องก็อาจจะทำให้พวกเขากลัว "ข่าวร้าย" น้อยลงบ้างก็ได้

"ระบบคิดและกระบวนการแก้ไขวิกฤติการณ์" มีคุณค่าที่เป็นจริงอย่างชัดเจนมากขึ้นในยุคใหม่

ตำราบริหารหรือความคิดนักบริหารรุ่นค่อนข้างเก่าไปแล้ว มักจะมองที่ผลสุดท้ายง่ายเสมอ และมักจะให้ความสำคัญสิ่งนั้นอย่างมากเกินไป ความจริงความสมดุลในเรื่องความคิดการบริหารกับผลงานสุดท้ายมักจะไปด้วยกัน

ผู้คนในสังคมที่มีปัญญา เข้าใจความสัมพันธ์ของกระบวนการทั้งหมดมากขึ้น โดยเฉพาะสังคมของคนมีปัญญาระดับโลกที่พวกเขามีบทบาทที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ของโลก ไม่ว่าเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงระดับธุรกิจ และสินค้าหรือบริการ

มาตรฐานของโลกตะวันตกที่พยายามบังคับใช้ในระดับโลกมีมากขึ้นจากแนวคิดนี้ ที่สำคัญมีคุณค่าจนกลายเป็นสินค้าใหม่ที่หลากหลาย ที่มีราคาแพงมากเสียด้วยในเวลานี้ มองในมุมกลับกัน พวกเขาก็ยอมรับ "ระบบคิด" ที่ว่านั้นจากคนอื่นด้วย

เมื่อเข้าใจสิ่งนี้แล้ว แทนที่ผู้บริหารจะหมกมุ่นกับ "ข่าวร้าย" ในขั้นตอนที่ไม่อาจจะยับยั้ง "ข่าวร้าย" ได้เท่านั้น ความสำคัญควรจะมาอยู่ที่ "ความคิด และกระบวนการแก้ปัญหา" ซึ่งว่าไปแล้วนั่นคือการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพที่ควรทำ บ่อยครั้งเช่นกัน ที่พวกเขารู้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาได้ แต่เขาคิดว่าเวลามากเกินไป เพราะมัวแต่หมกมุ่นที่ผลสำเร็จสุดท้าย

ความจริงผลสำเร็จเกิดขึ้นจากความคิดที่ดี และระบบบริหารจัดการแก้ไขวิกฤติการณ์ที่ดี ซึ่งจับต้องและมีคุณค่าที่จับต้องได้ตั้งแต่ต้นธารแล้ว บทเรียนเรื่องนี้ไม่ยกเว้นใครเลย คุณทักษิณต้องใช้เวลานานเหมือนกันที่จะเข้าใจความจริงข้อนี้ กว่าจะเสนอความคิดที่พอรับได้ในการแก้ไขวิกฤติการณ์ภาคใต้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นพยายามแก้ปัญหาไปที่ผลสำเร็จสุดท้าย แต่ไม่สำเร็จสักที



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.