Sir Bill Gates

โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) King of Computer Software ผู้ถือหุ้นใหญ่ Microsoft ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ kinght Commander of the Most Excellent Order of the British Empire (KBE) จากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ แห่งสหราชอาณาจักร

หากบิลล์ เกตส์ เป็นคนอังกฤษ เขาจะมีฐานันดรศักดิ์เป็น Sir Bill Gates แต่เป็นเพราะบิลล์ เกตส์ เป็นพลเมืองแห่งสหรัฐอเมริกา เขาจึงเป็นได้เพียง Bill Gates, KBE บิลล์ เกตส์ รู้สึกปราโมทย์ที่ได้รับเกียรตินี้

KBE เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีมาแต่ปี 2460 พระราชทานแก่ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือสหราชอาณาจักรในด้านการสงคราม ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติผู้ทรงคุณค่าแก่การรับ KBE ให้ครอบคลุมบรรดาผู้ทำสาธารณรัฐประโยชน์แก่สหราชอาณาจักรและพลเมือง แห่งสหราชอาณาจักร

บิลล์ เกตส์ มิใช่ชาวอเมริกันคนแรกที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสหราชอาณาจักร สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับ ภาพยนตร์นามอุโฆษก็ดี อลัน กรีนสแปน (Alan Greenspan) ประธานคณะผู้ว่าการแห่ง The Federal Reserve ก็ดี และรูดิ จิอัลเยียนี (Rudi Giuliani) ผู้ว่าการมหานครนิวยอร์กก็ดี ล้วนแล้วแต่มาก่อนบิลล์ เกตส์ ทั้งสิ้น (ดูภาค ผนวก)

บิลล์ เกตส์ มิใช่นักธุรกิจอเมริกันคนแรกที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสหราชอาณาจักร ลู เกิร์สต์เนอร์ (Lou Gerstner) อดีตประธานบริษัท IBM เคยได้รับเกียรตินี้มาก่อน

แต่เหตุใดบิลล์ เกตส์ จึงกลายเป็น Bill Gates, KBE?

บิลล์ เกตส์ ได้รับยกย่องเป็นนักธุรกิจ ผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยที่ระบบเศรษฐกิจแห่งสหราชอาณาจักรได้รับประโยชน์จากผลพวงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของ Microsoft ด้วย ในประการสำคัญ บิลล์ เกตส์ มีใจบุญสุนทาน เขาและภรรยาได้ก่อตั้ง Bill and Melinda Gates Foundation ในปี 2543 โดยบริจาคเงินจำนวน 2,600 ล้านดอลลาร์อเมริกัน (หรือประมาณ 1,400 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง) เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านสุขภาพอนามัยและการศึกษา เงินบริจาคจำนวนมากใช้ไปในการวิจัยเพื่อต่อสู้กับโรคมาลาเรีย และโรคเอดส์ อีกส่วนหนึ่งใช้ไปในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ บิลล์ เกตส์ เจาะจงให้เงินอุดหนุนในด้านนี้แก่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์โดยเฉพาะ รวมทั้งการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เข้ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในด้านหนึ่ง บิลล์ เกตส์ แสดงตนเป็น เศรษฐีใจบุญสุนทาน แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับเป็นนายทุนผู้หิวกำไรชนิดไม่รู้จักพอ Microsoft พยายามรวบอำนาจผูกขาดในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ด้วยวิธีการนานัปการ บิลล์ เกตส์ ถูกกล่าวหาว่าไม่มีจิตวิญญาณแห่ง การแข่งขันที่เป็นธรรม Microsoft ถูกรัฐบาลอเมริกันฟ้องในสหรัฐอเมริกาโทษฐานมีประพฤติกรรมอันขัดต่อ Anti-Trust Law และถูกฟ้องด้วยโทษฐานเดียวกันในสหภาพยุโรป ขณะเดียวกัน ประชาชนผู้บริโภคก็ดำเนินคดีกับ Microsoft ด้วย เพราะอำนาจผูกขาดของ Microsoft ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อ Windows PC Operating System ในราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น

ประชาสังคมโลกพากันตั้งข้อกังขาว่า นายทุนผู้หิวกำไรจะกลายเป็นเศรษฐีใจบุญสุนทานได้อย่างไร หากมิใช่เป็นเพราะเหตุผล ในเรื่องการเสียภาษีอากร เพราะการบริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศลจะได้รับยกเว้นและลดหย่อนภาษีจำนวนมาก

บิลล์ เกตส์ กำหนดนโยบายมาเป็น เวลาช้านานที่จะมิให้ Microsoft จ่ายเงินปันผล จนในปี 2545 Microsoft มีดุลเงินสดสูงถึง 36,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน นโยบายการไม่จ่ายเงินปันผลทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเสียประโยชน์ เพราะมิได้รับส่วนแบ่งกำไร แต่บิลล์ เกตส์ ได้ประโยชน์ เพราะเมื่อยังมิได้รับเงินปันผล บิลล์ เกตส์ ก็ยังไม่ต้อง เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินปันผล ที่ยังมิได้รับ ต่อเมื่อ Microsoft จ่ายเงินปันผล บิลล์ เกตส์ ก็ต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินปันผลที่ได้รับ นโยบายการไม่จ่ายเงินปันผล ทั้งๆ ที่ Microsoft มีกำไรจำนวนมหาศาล ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอันมาก โดยที่ราล์ฟ เนเดอร์ (Ralph Nader) เป็นผู้นำการวิพากษ์ จนในปี 2546 Microsoft ต้อง เริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายการจ่ายเงินปันผล

เงินบริจาคที่บิลล์ เกตส์ ให้ในด้านสุขภาพอนามัย ทั้ง Global Fund for Children's Vaccines และการต่อสู้กับโรคมาลาเรียและโรคเอดส์ ก็ถูกวิพากษ์จาก NGOs ว่า ดำเนินการอย่างไม่เข้าใจพื้นฐานของปัญหา

บิลล์ เกตส์ ยังถูกวิพากษ์จาก Amnesty International ในฐานที่ไม่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย และไม่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สนใจเฉพาะแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจ กรณีคลาสสิก ได้แก่ การขายเทคโนโลยีแก่สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อนำไปใช้เซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต อันนำไปสู่การจับกุมผู้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตในประเทศนั้น

การเติบใหญ่และอำนาจผูกขาดของ Microsoft ทำให้มีผู้เห็นภัยอันเกิดจาก Microsoft กระบวนการต่อต้าน Microsoft และบิลล์ เกตส์ ปรากฏอย่างชัดเจน บัดนี้มี Websites จำนวนไม่น้อยที่แสดงตนเป็น ปรปักษ์ต่อ Microsoft และบิลล์ เกตส์ อาทิ

* Bill Bashing
ดู www.cc.jyu.fi/ otto/bill-bashing/

*Gates of Hell?
ดู http://egomania.nu/gates. html

* The antiMicrosoft (UK) Website
ดู http://members.tripod.com/ antiMicrosoft/

Websites เหล่านี้ล้วนต้องการถลกหนังหัว Microsoft และบิลล์ เกตส์ จึงกอปรด้วยบทวิพากษ์ที่ดุเด็ดเผ็ดมัน

บิลล์ เกตส์ เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2498 ณ นครซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา บิดาชื่อ William H. Gates, II เป็นอัยการนครซีแอตเติล มารดาชื่อ Mary Gates เป็นครูสอนหนังสือ

บิลล์ เกตส์ เริ่มใช้คอมพิวเตอร์เมื่ออายุ 13 ขวบ ครั้นอายุ 17 ปี สามารถผลิตโปรแกรม Timetabling System ขายให้แก่โรงเรียนได้ราคา 4,200 ดอลลาร์อเมริกัน ณ Lakeside School บิลล์ เกตส์ ได้พบพอล อัลเลน (Paul Allen) ซึ่งเป็นรุ่นพี่ 2 ปี ทั้งสองคนสนใจคอมพิวเตอร์ร่วมกัน และเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี 2518 ทั้งสองคนร่วมกันก่อตั้งบริษัท Microsoft

บิลล์ เกตส์ ออกจากมหาวิทยาลัยเมื่อ ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 (หลักสูตร 4 ปี) เมื่อประจักษ์ชัดว่า ธุรกิจคอมพิวเตอร์กำลังเฟื่องฟู จุดเปลี่ยนผันสำคัญเกิดขึ้นในปี 2523 เมื่อ Microsoft ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโปรแกรมระบบการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ที่รู้จักกันในนาม MS-DOS และทำสัญญาขายให้แก่ IBM โดยที่ต่อ มาทำสัญญาขายให้แก่บริษัทผู้ผลิต IBM-Compatible PCs อื่นๆ

ในปี 2529 Microsoft จดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์และสามารถระดมเงินทุนได้ถึง 64 ล้านดอลลาร์อเมริกัน หลังจากนั้น Microsoft ก็เติบโตชนิดรั้งไม่อยู่ ในเวลาต่อมา พอล อัลเลน ถอนหุ้นจาก Microsoft คงเหลือแต่ บิลล์ เกตส์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่

ในปัจจุบัน บิลล์ เกตส์ มีทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 64,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน ทรัพย์สินของเขามีมูลค่ามากกว่า GDP ของประเทศเล็กๆ รวมกัน 70 ประเทศ และมีเพียง 63 ประเทศในมนุษยพิภพเท่านั้นที่มี GDP มากกว่ามูลค่าทรัพย์สินของบิลล์ เกตส์

ไม่ว่าบิลล์ เกตส์ ร่ำรวยมหาศาลปานใด หรือเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับว่า บิลล์ เกตส์ เป็นนักบุญหรือ ปีศาจ

ภ า ค ผ น ว ก
รายนามชาวต่างชาติ
ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อังกฤษ
Bob Geldof ผู้จัดงานสาธารณกุศล Live Aid
Lou Gerstner ประธานบริษัท IBM
Hamid Karzai ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน
Billy Graham นักเทศน์
Spike Milligan ดาราตลก
James Watson นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบ DNA
Placid Domingo นักร้องโอเปร่า
Steven Spielberg ผู้กำกับภาพยนตร์
Alan Greenspan ประธาน The Federal Reserve
Rudi Giuliani ผู้ว่าการนครนิวยอร์ก

ที่มา : "Microsoft Creator to Be Knighted"
BBC News (January 26, 2004)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.