กิจกรรมทางวัฒนธรรมที่กลุ่มคนเล็กๆ
ได้เพียรสร้างขึ้นมานานกว่า 10 ปี
เริ่มมีสีสันขึ้นพร้อมๆ กับความฝันที่จะสร้างตลาดนัดศิลปะในสวนจตุจักร
บริเวณพื้นที่โครงการ 7 ศิลปะใกล้ประตูทางออกที่เชื่อมต่อ กับถนนพหลโยธินนั้น
ท่ามกลางร้านค้าหลากหลายประเภท เมื่อมอง เลยเข้าไปจะเห็นร้านขายงานศิลปะ
ทั้งภาพวาด เซรามิก โลหะ เรียงรายประมาณ 30 ร้าน แม้มีร้านค้าประเภทอื่นเข้ามาคั่นให้เสีย
อารมณ์บ้าง แต่บรรดาศิลปินเจ้าของร้านบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่ากว่าจะรวมตัวกันได้นั้น
ผ่านเส้นทางการต่อสู้มานานทีเดียว
ร้านขายงานศิลปะในสวนจตุจักร เมื่อ 10 กว่าปีก่อนอยู่ที่โครงการ 3 ลึกเข้าไปด้านใน
ผลงานของศิลปินเหล่านั้นสามารถดึงดูดผู้คนให้เข้าไปซื้อหาชื่นชมก็จริงอยู่
แต่ปัญหาความกระจัดกระจายของร้านค้าที่ปะปนกับร้านค้าประเภทอื่น ทำให้บริเวณนั้นไม่สามารถเป็นแหล่งรวมงานศิลปะได้อย่างแท้จริง
ปี พ.ศ.2537 ทาง กทม.ได้ย้ายสถานที่ขายไก่ชนประมาณ 60 ล็อก ซึ่งอยู่ในสภาพรกรุงรังริมรั้วจนแทบจะกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมในสวนจตุจักรออกไป
และได้เสนอทำเลตรงนั้นให้ผู้ค้างานศิลปะมาอยู่รวมเป็นแหล่งเดียวกัน ซึ่งก็คือที่ในปัจจุบันนั่นเอง
สัญญาอนุญาตให้เช่าพื้นที่ใหม่เพิ่งได้รับมาหมาดๆ ทุกคนกำลังเตรียมย้ายร้าน
เพื่อนฝูง ข้างนอกที่รู้ข่าวเตรียมมาร่วมแจม ความฝันของคนกลุ่มนี้ก็คือ สร้างให้บริเวณนี้เป็นลานศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
ต้นไม้ใหญ่เตรียมเอามาลงเพื่อสร้างความร่มรื่น บางคนจัดหาแจกันดินเผาขนาดใหญ่
เอาไว้ปักดอกไม้สีสันสดใสวางไว้ระหว่างทางเดินของร้านค้าทั้ง 2 ฟาก เพื่อดึงดูดสายตาผู้คน
ให้เข้ามาเยี่ยมชม บางมุมจะจัดเป็นนิทรรศการ ทางศิลปะ สอนวาดรูป สอนงานปั้น
ทุกคนกำลัง พูดถึงกิจกรรมต่างๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างมีความสุข ด้วยคนอารมณ์เดียวกัน
ทุกอย่างไม่ง่ายอย่างที่คิด ในช่วงเวลานั้นเอง ผู้รับผิดชอบโครงการตลาดนัดสวนจตุจักรเปลี่ยนคน
ความคิดก็เปลี่ยนไปตาม โดยผู้บริหารคนใหม่ต้องการทำเลตรงนั้นมาให้ผู้ค้ารายอื่นขายสินค้าทั่วไปแทน
กลายเป็นปัญหาที่ยื้อสถานที่กันอยู่หลายปี จนศิลปินกลุ่มหนึ่งย้ายออกไปเกือบหมดเหลือเพียง
20 ร้าน ที่ยังทนผลิตชิ้นงานมาขายท่ามกลางความกดดัน
เวลาผ่านเลยไปเกือบ 10 ปี วิกฤติเศรษฐกิจทำให้ผู้คนเข้ามาเดินซื้อของในจตุจักรมากขึ้น
สินค้าตกแต่งบ้าน ภาพวาดงานศิลปะขายได้ดี โดย เฉพาะในโครงการ 7 นั้น ร้านค้าที่ขายงานอย่างอื่นเริ่มทยอยออกไป
ศิลปิน ที่เคยผละหนีหายเริ่มกลับเข้ามา
แม้พื้นที่ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด แต่เสน่ห์และสีสันของย่านนี้
เริ่มเกิดขึ้น พื้นที่ตรงกลางระหว่างร้านที่เคยเป็นทางเดินธรรมดาถูกปรับปรุง
ใหม่เป็นร้านกาแฟ และเครื่องดื่มเล็กๆ กลางแจ้งที่พอแดดร่มลมตกก็กลาย เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของผู้คนในแวดวงศิลปะ
พร้อมๆ กิจกรรมอื่นๆ ที่ค่อยๆ ตามมา
"ผมว่าเสน่ห์ของที่นี่คือ ลูกค้าได้มาซื้องานกับตัวศิลปิน เองเพราะทุกคนขายงานเองอธิบายเอง
พูดถึงที่มาและเรื่องราวของชิ้นงานได้ ซึ่งจะได้อารมณ์กว่าไปซื้องานกับลูกจ้างใน
ร้านใหญ่ๆ ตามโรงแรม ผมเองก็รักการวาดรูป เมื่อได้พูดคุย กับลูกค้าที่เข้าใจงานเรา
ก็กลายเป็นความสุขที่ไม่ได้เป็นตัวเงิน ลูกค้าเองก็น่าจะมีความรู้สึกอย่างเดียวกัน
ความผูกพันทำให้แวะเวียนกลับมาอีกหลายครั้ง"
คันศร ณรงค์ เจ้าของร้านคเณศวร ศิลปินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็น
เขาเปิดร้านที่นี่เข้าปีที่ 2 พร้อมทั้งยอดขายที่ดีขึ้นจากลูกค้าชาวต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่
"ราคา" เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งเพราะวิธีคิดของศิลปินที่เข้ามาขายในจตุจักร
แน่นอนว่าต้องพร้อมที่จะเบรกราคาตนเองไม่ให้สูงเช่นเดียวกับสินค้าที่วางขายในโรงแรม
หรือแกลเลอรี่ตามห้างสรรพสินค้าหรู
ชาวต่างชาติ คือกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน "คนไทยได้เข้ามาดู แต่ฝรั่งซื้อ"
เป็นสิ่งที่พวกเขาพอใจ ปัจจุบันชาวอเมริกันและยุโรปนิยมเลือกซื้อสินค้าเหล่านี้ไปแต่งบ้าน
หลายรายมาสั่งซื้อเพื่อไปขายต่อ ส่วนผู้มีอาชีพตกแต่งภายในชาวสิงคโปร์ ไต้หวัน
และฮ่องกง มาเลือกซื้อสินค้ากลับไป ตกแต่งบ้านหรือออฟฟิศให้ลูกค้า
"ตอนนี้สิ่งที่ผมทำอยู่คือธุรกิจ ไม่ใช่อาร์ต เพราะศิลปะจริงๆ น่าจะบริสุทธิ์กว่านี้
จะปราศจากอาการอยาก เมื่อผมคิดค้นงานสักชิ้น หนึ่ง หน้าตางานอย่างนี้ เทคเจอร์อย่างนี้น่าจะขายได้
น่าจะมีเก็บไว้สักชิ้นหนึ่ง นี่คือความคิดทางพาณิชย์ แต่การที่เห็นคนเข้ามาดู
แล้วเขาชอบ ชื่นชมงาน นั่นคือความสุขของผม โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องซื้อไปครอบครองและผมไม่ได้หวังว่าเขาจะต้องซื้อสักชิ้นกลับไป
"ปิ่ง" ผลิตงานโลหะขายในโครงการนี้มาประมาณ 2 ปี เขาจบวิทยาลัยช่างศิลป์
และมาศึกษาต่อสายจิตรกรรมที่สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง
งานของเขามักมีรูปทรงแปลกๆ ดึงดูดสายตาผู้ที่เดินผ่านไปมาให้หันกลับมามองอย่างพินิจพิเคราะห์เสมอ
ตลาดนัดศิลปะใหม่เป็นเรื่องที่ทุกคนยังคิด ยังฝัน แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องใหญ่
เพราะหมายถึงการจัดโซนนิ่งใหม่หมดในจตุจักร ซึ่งปัจจุบันใครจะเปิดร้านขายอะไร
ตรงไหน ขึ้นอยู่กับความ พอใจของลูกค้ารายใหม่ที่ไปเช่าช่วงร้านมาทำการค้าต่อ
ดังนั้นผู้คนที่เพลิดเพลินกับการเดินเลือกซื้อเซรามิก สินค้าตกแต่งบ้านอย่างสบายอารมณ์อาจจะถูกขัดจังหวะกับเสียงผัดก๋วยเตี๋ยวเสียงดังโฉ่งฉ่าง
หรืออาจจะต้องสะดุ้งสุดตัวด้วยเสียงสุนัขที่เห่าโฮ่งๆ เพราะล็อกติดกัน คือกรงขายสุนัข
แต่นั่นคือ เรื่องราวและวิธีการจัดการที่ผู้บริหารบ้านเมืองต้องเอาไปคิด
เพื่อขับเคลื่อนให้ "สวนจตุจักร" เป็นตลาดกลางแจ้งที่มีมาตรฐาน สร้างเสน่ห์
และดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้มาจับจ่ายซื้อของไปอีกนาน