เป็นเพราะความซ้ำซ้อนของแบรนด์ ทำให้เอ็มเว็บประเทศไทย
ต้องหวนกลับมาใช้แบรนด์ KSC อีกครั้ง
แม้ว่าจะยืนหยัดอยู่ในธุรกิจดอทคอมในไทยมากว่า 5 ปีเต็ม แต่ความผันผวนของธุรกิจดอทคอม
ทำให้เอ็มเว็บ ประเทศไทย ต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการหวนกลับมาใช้แบรนด์
KSC อีกครั้ง
5 ปีที่แล้ว เอ็มเว็บ ประเทศไทย อาศัยข้อได้เปรียบในเรื่องของเงินทุน ที่ได้บริษัทแม่
คือ MIH ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีและอินเทอร์เน็ตที่มีถิ่นฐานอยู่ในแถบแอฟริกาใต้
สร้างทางลัดในการเข้าสู่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตด้วยการไล่ซื้อเว็บไซต์ชื่อดังที่นอกจาก
sanook.com แล้ว ยังมีเว็บไซต์อีกหลายแห่งที่เข้ามาอยู่ภายใต้เครือข่ายของเอ็มเว็บ
ยุทธศาสตร์ธุรกิจของเอ็มเว็บที่มี AOL เป็นแบบอย่าง เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
เมื่อได้ซื้อกิจการบริษัทเคเอสซี คอมเมอร์เชียล อินเทอร์เน็ต ต่อจากดร.กนกวรรณ
ว่องวัฒนะสิน และ ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน การซื้อกิจการในครั้งนั้น เอ็มเว็บตั้งใจใช้เป็น
"จิ๊กซอว์" ต่อภาพธุรกิจอินเทอร์เน็ตให้สมบูรณ์มากขึ้น คือ มีทั้งเว็บท่าเพื่อดึงดูดให้เกิดการใช้งาน
และเป็นการต่อเชื่อมเข้าสู่อินเทอร์เน็ต
เพื่อสร้างชื่อเอ็มเว็บให้เป็นที่รู้จัก แพ็กเกจหรือบริการใหม่ๆ ของเคเอสซี
จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อบริการ "เอ็มเว็บ" แต่ก็ยังมีชื่อของเคเอสซีปะปนอยู่
สร้างความสับสนให้กับลูกค้า ดังนั้นหลังจากปรับจัดทัพใหม่ ด้วยการดึงผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาแทนที่ผู้บริหารบางส่วนที่ออกไป
จึงได้ตัดสินใจหวนกลับมาใช้ชื่อเคเอสซีอีกครั้ง
"จากการสำรวจเราพบว่า ผู้ใช้คุ้นเคยกับแบรนด์เคเอสซีมากกว่า ทุกวันนี้ยังจดจำแบรนด์นี้ได้ดีกว่า
เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เราจะเปลี่ยนมาใช้เคเอสซีจากเดิมที่มีทั้งชื่อเอ็มเว็บและเคเอสซี" กษมาช นีรปัทมะ รองประธานฝ่ายการตลาด บริษัท เคเอสซี คอมเมอร์เชียล
อินเทอร์เน็ต จำกัด และบริษัทเอ็มเว็บ ประเทศไทย
กษมาชเป็น 1 ในผู้บริหารชุดใหม่ที่เข้ามาร่วมงานกับเอ็มเว็บในเดือนสิงหาคม
2546 ก่อนมารับตำแหน่งในเอ็มเว็บ เป็นผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจ บริษัท เกรย์
เวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย) ประสบการณ์ 12 ปีที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงโฆษณา ทำให้เขาถูกเลือกสำหรับ
Re-brand ในครั้งนี้ ซึ่งมีผลให้แพ็กเกจบริการที่ออกใหม่ จะใช้ชื่อแบรนด์เคเอสซี
กษมาชจบการศึกษาด้านภูมิศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และปริญญาโทสาขาการบริหารธุรกิจจาก
California University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา
ขณะเดียวกันกระแสตื่นตัวของบริการ Broadband อันเป็นผลมาจากนโยบายของกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ
หรือไอซีที และการเติบโตของบริการเนื้อหาอย่างเกมออนไลน์ ข้อมูลหุ้น วิดีโอ
ออนดีมานด์ ทำให้เคเอสซีไม่ยอมพลาดรถไฟเที่ยวใหม่นี้
เคเอสซีแยกธุรกิจ Broadband ออกมาเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ โดยมีต่อบุญ พ่วงมหา
รองประธานฝ่าย Broadband Service รับหน้าที่บุกเบิกบริการ Broadband เป็นทิศทางธุรกิจที่สำคัญของเอ็มเว็บ
นับจากนี้
"ตลาดบริการ Broadband จะมีอัตราการขยายตัวมากกว่า 5 เท่าตัว ตัวเลขผู้ใช้โดยประมาณ
80,000-100,000 ราย" ต่อบุญกล่าว
ต่อบุญจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก The Pennsylvania State University ผ่านประสบการณ์ในบริษัทเอสโซ่
แสตนดาร์ด บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จากนั้นเริ่มเข้าสู่แวดวงไอที เป็นผู้จัดการทั่วไป
บริษัทดิจิตอล แอสเซ็ท ผู้ให้บริการข้อมูลทางโทรศัพท์ Mr.Home 1575 อินเทอร์เน็ต
และไดเร็คเมล์ และขึ้นสู่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการของเว็บไซต์
Thailand.com
อย่างไรก็ตาม คู่แข่งคนสำคัญในตลาด Broadband กลับไม่ใช่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วยกัน
แต่เป็นผู้ให้บริการโครงข่าย (Media Provider) อย่างบริษัทเทเลคอมเอเซีย
คอร์ปอเรชั่น และบริษัททศท คอร์ปอเรชั่น ที่นอกจากจะให้เช่าโครงข่ายแล้ว
ยังกระโดดลงมาเป็นผู้ให้บริการ Broadband
ต้นทุนของบริการ Broadband นอกจากจะมีค่า band witch และค่าฮาร์ดแวร์แล้ว
ยังมีต้นทุนค่าโครงข่าย ADSL เคเบิลโมเด็ม และ ISDN เพิ่มเข้ามาด้วย ซึ่งต้องเช่าใช้จาก
ทศท และทีเออีกต่อหนึ่ง
"เราเหมือนกับ Wholesale ที่ต้องเช่ามาและขายต่อให้กับลูกค้าปลายทาง หากมีการปรับราคาค่าเช่าโครงข่ายลงราคาก็จะลดลงได้"
เมื่อสู้ในเรื่องราคาไม่ได้ เคเอสซีจึงต้องวางตำแหน่งบริการบรอดแบนด์ให้เป็นระดับพรีเมียม
สร้างเป็นบริการเสริม เช่น อีเมล พื้นที่เก็บข้อมูล โฮมเพจ ไม่เว้นแม้กระทั่งแอพพลิเคชั่นอย่างบริการ
Messaging ระบบความปลอดภัยและระบบสำรองข้อมูล โดยพุ่งเป้าที่ลูกค้าองค์กร
เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในธุรกิจไอเอสพี ที่มีชื่อเคเอสซีเป็นหลักประกัน