เมื่อผลประโยชน์ลงตัว อะไรๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ แม้แต่คู่แข่งขันอย่างเอไอเอสและดีแทค ยังต้องหันมาจูงมือขึ้นเวทีแถลงข่าวร่วมกันเป็นครั้งแรก
นับเป็นครั้งแรกที่คู่แข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่เคยไล่กวดกันอย่างหนัก
อย่างบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส
คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือดีแทค ต้องขึ้นเวทีแถลงข่าวความร่วมมือเชื่อมต่อบริการ
MMS (Multimedia Messaging Service) เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บริการข้ามระบบระหว่างกันได้
ทั้งคู่มีเป้าหมายไม่ต่างกัน นั่นก็คือ ต้องการกระตุ้นยอดรายได้จากบริการเสริม
หรือ non-voice โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นบริการ MMS ที่แม้ว่ายอดผู้ใช้ยังไม่มากนัก แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โทรศัพท์มือถือที่ใช้งานอยู่ในตลาดเวลานี้ 20 ล้านเครื่อง มีเครื่องที่มีระบบ
MMS ไม่เกิน 5 แสนเครื่อง ในจำนวนนี้เป็นของเอไอเอส 350,000 เครื่อง และเป็นของดีแทคประมาณ
200,000 เครื่อง
แต่อัตราการใช้งานของลูกค้าบริการ MMS เริ่มส่อเค้าไปได้สวย เอไอเอสมีผู้ใช้บริการ MMS แบบไม่ประจำ 2.2 แสนเครื่อง ขณะที่มีลูกค้าใช้ประจำ 1.3 แสนเครื่อง
อัตราเฉลี่ยเดือนละ 5 แสนครั้ง
ส่วนดีแทคมีลูกค้าที่ใช้บริการ MMS เป็นประจำจำนวน 5 หมื่นราย อัตราการใช้งานเฉลี่ยเดือนละ
3 แสนครั้ง มีรายได้ประมาณ 18 ล้านบาท
เอไอเอสคาดว่า ผลจากการร่วมมือในครั้งนี้จะส่งผลให้รายได้จากบริการ MMS
ซึ่งมีอยู่ 20 ล้านบาทต่อปีเพิ่มเป็นอีกเท่าตัว ภายใน 6 เดือน ส่วนค่ายดีแทคไม่น้อยหน้า
กัน คาดหมายว่า ยอดผู้ใช้บริการ MMS จะ เพิ่มขึ้นเท่าตัว
ส่วนของรายได้ ในอัตราค่าบริการที่จัดเก็บ 10 บาทต่อข้อความ จะถูกแบ่งผลประโยชน์ตามจำนวนข้อมูลที่ส่งระหว่างกัน ขึ้นอยู่กับลูกค้าของค่ายใดส่งมากน้อยกว่ากัน
จากนั้นจึงนำเงินที่ได้มาจัดแบ่งกัน
เมื่อผลประโยชน์ลงตัว งานแถลงข่าวจึงถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์
เพื่อให้ทันกับเทศกาลวันวาเลนไทน์
ถึงแม้งานนี้จะเป็น win win แต่ด้วยความที่เป็นคู่แข่งที่ขับเคี่ยวกันมาตลอด
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของทั้งฝ่ายจึงต้องทำงานหนัก เพื่อไม่ให้อีกฝั่งเกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบ
หรือโดดเด่นกว่ากัน
เริ่มตั้งแต่เลือกโรงแรมเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดงานแถลงข่าว ต้องตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างสำนักงานใหญ่ของทั้ง 2 ค่าย บังเอิญว่าโรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล ที่เลือกไว้ถูกจองเต็ม จึงต้องย้ายมาที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถนนวิภาวดีรังสิต
มาถึงรูปแบบการจัดงาน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหลื่อมล้ำว่าผู้บริหารของค่ายใดจะโดดเด่นกว่ากัน แทนที่จะเป็นเวทีแถลงข่าวปกติ ก็เปลี่ยนมาทำในลักษณะการสนทนากับผู้สื่อข่าวประมาณ
30 คน บนโต๊ะรูปตัว U
เอกสารข่าว หรือ Press Release ที่แจกให้ผู้สื่อข่าว ก็แจก 2 รูปแบบจาก
2 ค่าย แล้วแต่ผู้สื่อข่าวจะเลือกสรรกันไปใช้งาน เช่นเดียวกับป้ายชื่อบริษัทที่ติดอยู่บนผนัง
ก็กำหนดให้มีขนาดเท่ากัน
มาถึงผู้บริหารที่ขึ้นเวทีแถลง จะมีตัวแทนฝั่งละ 1 คน ในฟากของเอไอเอส
นั้นมีสุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธุรกิจการให้บริการสื่อสารไร้สายคร่ำหวอดบนเวทีแถลงข่าวมานานกว่า
สำหรับดีแทคเลือกรัฐฉัตร ศิริพานิช ผู้อำนวยการกลุ่ม Product Management
เพิ่งย้ายมารับตำแหน่งดูแลบริการดังกล่าวไม่กี่เดือน เรียกว่ายังมือใหม่อยู่มาก
จึงต้องนำธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจ Prepaid มาประกบคู่
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร งานนี้ก็สามารถลงเอยด้วยดี ด้วยภาพถ่ายของผู้บริหารของเอไอเอสอยู่ตรงกลาง ขนาบด้วยผู้บริหารของดีแทค พร้อมกับประโยคที่ว่า "การแข่งขันยังมีอยู่
แต่การร่วมมือก็ต้องมีขึ้น" อันเป็นที่มาของงานนี้ เพราะหากผลประโยชน์ลงตัว
อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอ