SAMART ฟื้นไข้

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

วิกฤติเศรษฐกิจในช่วง 4-5 ปีที่แล้ว บริษัท องค์กรธุรกิจ ต่างประสบปัญหา บางแห่งปรับเปลี่ยนโครงสร้าง บางแห่งล้มหายไป แต่นั่นเป็นจุดเปลี่ยนนำไปสู่การทำธุรกิจ Content ของเครือสามารถ

ธุรกิจในเครือกลุ่มบริษัทสามารถ เป็นหนึ่งในองค์กรธุรกิจที่ประสบกับปัญหาหลายบริษัทในเครือถูกปิด บางธุรกิจถูกขายต่อ วิกฤติเศรษฐกิจช่วงนั้นเป็นยุคของการรวมธุรกิจ ลดค่าใช้จ่าย ต่างจากแต่ก่อนที่เป็นยุคการขยายธุรกิจเติบโต

กลุ่มบริษัทสามารถเริ่มต้นธุรกิจจากร้านให้บริการซ่อมนาฬิกา วิทยุ และติดตั้งเสาอากาศวิทยุ โทรทัศน์ ที่จังหวัดสระบุรี ภายใต้ชื่อที่ลูกค้าเรียกขานจนติดปากว่า ร้าน "สามารถ" โดยผู้ก่อตั้งคือ เชิดชัย วิไลลักษณ์

กว่าจะฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจต้องใช้เวลา 5-6 ปี สะสางปัญหา ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ล้างภาพลักษณ์ จนกระทั่งเรียกได้ว่า "ฟื้นไข้"

ในปี 2546 กลุ่มบริษัทสามารถได้มีการจัดโครงสร้างทางธุรกิจใหม่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานและประสาน ประโยชน์ระหว่างธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งออกเป็น 4 สายธุรกิจ คือ

สายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมภาครัฐ (Government Solutions) ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมอย่างครบวงจร แก่หน่วยงานภาครัฐ, สายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ภาคเอกชน (Samart Solutions) ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมอย่างครบวงจรในรูปแบบ "Enterprise Solutions Provider"

สายธุรกิจการสื่อสารข้อมูลและอุปกรณ์สื่อสารไอที (I-Mobile Multimedia) ให้บริการครอบคลุมธุรกิจ Mobile Business และ Infotainment Multi-Media อย่างครบวงจร และสายธุรกิจอื่นๆ (Related Business)

ซึ่งธุรกิจในสายการสื่อสารข้อมูลและอุปกรณ์สื่อสารไอที จะเป็นตัวจักรสำคัญของธุรกิจในเครือสามารถ โดยได้มีการปรับทิศทางเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อเข้าสู่ธุรกิจ Content อย่างเต็มตัว ประกอบด้วย 4 บริษัท คือ

สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจนำเข้าและเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสาร, บริษัทสามารถ อินโฟ มีเดีย จำกัด ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิง ทั้งภาพและเสียง ผ่านสื่อต่างๆ ที่ทันสมัย

บริษัทสามารถ โมบาย เซอร์วิสเซส จำกัด ดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ สื่อสารและอุปกรณ์มัลติมีเดีย และบริษัท สามารถ อินเตอร์แอคทีฟ มีเดีย จำกัด ดำเนินธุรกิจสื่อสารข้อมูลผ่านสื่ออินเตอร์ แอคทีฟต่างๆ

การ re-branding ล้างภาพอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ชี้ทิศทางใหม่ปรับเข้าสู่ธุรกิจ Content ต่างจากเมื่อก่อนที่เคยเป็นธุรกิจโทรคมนาคมเพียงอย่างเดียว มีการลงทุนด้าน infrastructure หาพันธมิตรทางธุรกิจ เปลี่ยนแปลงบุคลากร วัฒนธรรมองค์กรใหม่ ปรับโครงสร้างหนี้ครั้งสุดท้าย นั่นเป็นเรื่องราวที่สามารถทำมาตลอดทั้งปีในปี 46

ธวัชชัย วิไลลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัทสามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า

เมื่อ 2 ปีก่อน เราจ้างบริษัทวิจัยมาวิจัยบริษัทในเครือของเราทั้งหมดว่ามีจุดแข็งอะไรบ้าง มีช่องว่างทางการตลาดอะไรที่จะไปสู้กับกลุ่ม Telco และ Operator รายอื่นโดยไม่จำเป็นต้องทำธุรกิจโทรคมนาคมอย่างเดียว ซึ่ง Content เป็นตลาดที่ยังไม่ค่อยมีใครทำ จึงมาจับตลาดตรงนี้แทน

ธุรกิจ Content เกิดขึ้นมาจากการทำ Value Added Service ร่วมกับบริษัทในฮ่องกง ในรูปแบบของ Prepaid Card ให้คนกดโทรศัพท์เข้ามาฟังข้อมูลแบบ Audio Text ในชื่อของบริษัทสามารถ นิวมีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริการที่เกิดขึ้นมาก่อนที่องค์การโทรศัพท์จะเปิดให้บริการ Audio Text ในเมืองไทย

จากนั้นจึงพัฒนาขึ้นมาใช้เป็นบริการเสริมในฮัลโหล 1800 ซึ่งวางตำแหน่งทางการตลาดไว้เป็น Value Added Services โดย Content ที่สำคัญในตอนนั้นคือ หมอดู แต่ภายหลังได้ขายฮัลโหล 1800 ทิ้งไป ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่มากที่สุด

จนกระทั่งล่าสุด ได้นำแนวคิดนี้มาทำบริการ BUG เพื่อสร้างบริการที่แตกต่างในตลาด เพิ่มการใช้งานโทรศัพท์ให้มากขึ้น โดยให้คนโทรเข้ามาสอบถามข้อมูล เบอร์โทรศัพท์ ร้านอาหาร ฯลฯ

สามารถ ไอ-โมบาย เป็นผู้เปิดตลาด mobile content ให้มีความชัดเจน ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการนำเอาโทรศัพท์มือถือกับ content มารวมกัน ทำให้เกิด synergy และสร้างการแข่งขันในตลาดมากขึ้น

โดยชื่อ I-mobile เป็นการนำคำว่า Information, Infotainment, Interactive และ Innovative มารวมกัน เป็นตัว I แล้วจึงนำรวมกับคำว่า mobile กลายเป็น I-mobile

มาจากคอนเซ็ปต์ที่ว่าโทรศัพท์มือถือของสามารถต้องมีอะไรที่ unique มากกว่ารายอื่น สร้าง value ให้กับเครื่องได้ ซึ่งการที่ content จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยตัวเครื่องก่อน

"ธุรกิจแบบเดิมที่เคยทำมา จะเป็นแบบผูกขาด แต่เมื่อเปลี่ยนมาทำธุรกิจที่ต้องมีการแข่งขัน เราก็ต้องรู้จักแข่งขันให้เป็น" ธวัชชัยกล่าว

สิ่งสำคัญคือ ปรับองค์กร ปรับคน กล้าตัดสินใจ ลดขั้นตอนการทำงานให้สั้น กระชับ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงที่มาของรายได้ มองเห็นฐานลูกค้าชัดเจน

ธวัชชัยกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ภารกิจสำคัญในปีนี้ของสามารถ ไอ-โมบาย ก็คือ ทำอย่างไรให้คนหันมาใช้โทรศัพท์มือถือจอสี ที่เล่น Content ได้ แล้ววิสัยทัศน์ เป้าหมาย ที่ต้องการเป็น mobile multimedia ที่ให้ content บนโทรศัพท์มือถือก็จะเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้สามารถ ไอ-โมบาย ยังได้จับมือกับ TM International Sdn Bhd หนึ่งในกลุ่มบริษัทเทเลคอมมาเลเซีย ที่มีเครือข่ายการให้บริการครอบคลุม 8 ประเทศ ขยายธุรกิจการให้บริการ Mobile Multimedia และ Content ไปสู่ต่างประเทศ

โดยสามารถ ไอ-โมบาย ได้จัดตั้งบริษัทไอ-โมบาย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อรองรับการขยายฐานทางธุรกิจดังกล่าว

เป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญ สำหรับการสร้างแบรนด์ I-mobile ให้กลายเป็น regional brand ที่เป็นที่รู้จักในภูมิภาคนี้

หลังจากนี้ไปคือ ช่วงเวลา "ฟิตตัว" แสดงศักยภาพที่พร้อมต่อสู้กับคู่แข่งและขยายอาณาจักรไปสู่นานาประเทศ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.