พันธวณิช 3 ปี แห่งการเดิมพัน

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

เพียงเพราะต้องการพิสูจน์ตัวเองในโลกธุรกิจใบใหม่อย่าง eCommerce ทำให้ ม.ล.สุภสิทธิ์ ชุมพล ตัดสินใจทิ้งอาชีพ "มนุษย์ทองคำ" ที่ทำมาเกือบ 20 ปี หันมาบุกเบิกธุรกิจ e-marketplace ร่วมกับกลุ่ม ซี.พี.

3 ปีผ่านไป ไม่เพียงแต่ธุรกิจจะเริ่มทำกำไร แต่พันธวณิชยังเตรียมพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หากเป้าหมายการระดมทุนเป็นผลสำเร็จ ไม่เพียงแต่จะเป็นตราประทับความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งให้กับ e-marketplace น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ ม.ล.สุภสิทธิ์ ชุมพล มีความสุขมากที่สุดในชีวิตการทำงานของเขา

บริษัทพันธวณิชก่อตั้งขึ้นเมื่อ 3 ปี ที่แล้ว หลังวิกฤติเศรษฐกิจได้ไม่นาน ด้วยแนวคิดของ ม.ล.สุภสิทธิ์และกลุ่มเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น หรือทีเอ ที่มองเห็นโอกาสร่วมกันในการสร้างตลาดกลางการค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดขึ้นในไทย

ม.ล.สุภสิทธิ์ ชุมพล เป็นอดีตหัวหน้า กลุ่มธุรกิจการเงินสถาบัน บริษัท UBS WARBURG เขาไม่ใช่คนที่ชื่นชอบเทคโนโลยี ตรงกันข้ามเขาไม่คุ้นเคยกับเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ แต่ประสบการณ์จากการอยู่ในวงการวาณิชธนกิจมาเป็นเวลา 12 ปี ทำให้เขาตระหนักดีถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ๆ

ขณะที่กลุ่มทีเอคาดหวังว่าจะใช้โครงการนี้นำร่องเพื่อก้าวไปสู่การค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดต้นทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ จัดจ้าง ให้กับธุรกิจในเครือซี.พี. เอง รวมถึงการให้บริการแก่ลูกค้าอื่นๆ

ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ พันธวณิชเปิดตัวอย่างคึกคักให้กับตลาด ด้วยการดึงเครือซิเมนต์ไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ กลุ่มยูคอม เข้ามาแถลงข่าวร่วมในเส้นทางธุรกิจใหม่

แม้แนวคิดในการทำธุรกิจ e-procurement จะเต็มไปด้วยข้อดีจากการที่ธุรกิจสามารถลดต้นทุนจากการจัดซื้อที่ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้ผลิตให้เลือกมากมาย และยังโปร่งใสตรวจสอบได้ ทว่ากลับไม่ง่ายอย่างที่คิด

"ที่จริงแล้วธุรกิจนี้มันไม่ได้ยาก แต่ยากที่ต้องผลักดันให้ผู้บริหารเบอร์ 1 ขององค์กรเชื่อ ผมต้องลงไปทุกอย่างตั้งแต่ พูดคุย อ้อนวอน" ม.ล.สุภสิทธิ์เล่า

เมื่อเส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เขาและทีมงานต้องอาศัยทั้งความขยันและอดทนเป็นอย่างมาก

เริ่มตั้งแต่การสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริหารระดับสูง การจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่องค์กรธุรกิจ โดยทีมงาน 40 คนของบริษัทที่ล้วนแต่มีประสบการณ์ด้านการตลาด

จากมูลค่าการซื้อขายผ่านระบบประมูลออนไลน์ในปีแรกที่มีอยู่เพียงแค่ 200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 4,000 ล้านบาทในปีถัดมา และปี 2546 มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นเป็น 14,000 ล้านบาท

ผู้ผลิตที่เข้ามาเสนอสินค้าก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น จากที่มีเพียงแค่ 10 รายในช่วงแรก ปัจจุบันเพิ่มเป็น 2,000 ราย

"ถามว่าช้าหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าช้าไป เพราะช่วงแรกเรามองดีเกินไป เพราะกว่าจะได้สักราย ต้องอธิบายแล้วอธิบายอีก เพราะเราต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานของฝ่ายจัดซื้อ ก็เลยต้องใช้เวลา บางคนทำถึงขั้นที่ไปหลอกผู้ผลิตผิดๆ มาให้ 200-300 คน พอประมูลจริงก็เลยไม่มีการซื้อ ผมเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้ไปเยอะ"

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติย่อมมีโอกาส นอกจากแก้ไขปัญหาจนการประมูลเริ่มกระเตื้องขึ้น ประสบ การณ์และการสะสมฐานข้อมูลในการซื้อขาย ทำให้พันธวณิชมองเห็นโอกาสจากการขยายผลไปสู่บริการใหม่ๆ ซึ่งเป็นการนำประสบการณ์ของการเป็น ที่ปรึกษามาประยุกต์ และถูกคาดหมาย ว่าจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่เข้ามาหล่อเลี้ยงบริษัท

บริการ Self Service Auction เป็นบริการติดตั้งและให้ลูกค้าเช่าระบบไปประมูลเองที่บริษัท

บริการ Credit Arbitrage ซึ่งเป็นการนำเอาประสบการณ์จากการเป็นที่ปรึกษามาประยุกต์ใช้ จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำกว่าของผู้ซื้อ ลดต้นทุนของสินค้า จะเป็นบริการอีกชิ้นที่จะมากระตุ้นการใช้บริการประมูลออนไลน์

ทุกวันนี้ นอกจากจะมีรายได้จากประมูลออนไลน์แล้ว รายได้ที่กำลังเติบโตการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล้วนมาจากการบริการให้คำปรึกษาวางระบบจัดซื้อออนไลน์ให้กับองค์กรธุรกิจ

จากบริษัทที่ขาดทุนต่อเนื่องตลอด 3 ปีเริ่มมองเห็นกำไร เป้าหมายต่อไปของพวกเขา คือ การเข้าไประดมทุนในตลาด หลักทรัพย์ฯ เพื่อนำมาใช้หนี้และลงทุนสร้างบริการใหม่ๆ

"เราอยากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะเราอยากดัง เพราะเราเป็น e-marketplace แรกในเอเชีย และเป็นการตอกย้ำให้เห็น vision ของเราเมื่อ 3 ปีที่แล้วว่าเราเดินมาถูกทาง"

ขั้นแรกคือ การให้กับนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง ให้เข้ามาถือหุ้น 20% โดยจะเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 170 ล้านบาท ให้เป็น 330 ล้านบาท โดยเงินทุน 160 ล้านบาทที่ระดมมาได้ จะนำไปใช้หนี้ให้กับบริษัทฟรีวิว โซลูชั่น ประมาณ 143 ล้านบาท ที่เหลือใช้ลงทุนในบริการใหม่ และหาทีมงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะแต่ละอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมในองค์กร

สิ่งที่พวกเขามองในวันนี้ได้มองไกลไปถึงการร่วมมือกับ e-marketplace ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสร้างโอกาส และขนาดของตลาดให้มากขึ้นกว่าเก่า ทั้งในแง่ของผู้ผลิตและผู้ขาย

และไม่ว่าผลจะลงเอยอย่างไร และ ยากลำบากเพียงใด แต่ผลงานในช่วง 3 ปี แรกของพันธวณิช ก็ทำให้ ม.ล.สุภสิทธิ์เริ่ม มั่นใจกับประโยคที่ว่า "ผมไม่เคยทำอะไร ไม่สำเร็จ"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.