ย้อนหลังไป 10 ปี บัตรเอทีเอ็มยังเป็นของใหม่
แต่ปัจจุบันกลายเป็นบัตรมาตรฐานที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ในการทำธุรกรรม
มาถึงยุคนี้ Smart Card จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดบริการใหม่
สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน
สมาร์ทการ์ด (Smart Card) เป็นบัตรชนิดหนึ่งที่มีขนาดพอๆ กับบัตรเครดิต
หรือบัตรเอทีเอ็มพลาสติก ที่มีการฝังชิปคอมพิวเตอร์ (Computer Chip) ไว้ภายในบัตร ซึ่งภายในตัวชิปได้บรรจุข้อมูลในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยกรรมวิธีที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างดีเยี่ยม
สมาร์ทการ์ดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ สมาร์ทการ์ดแบบมีการสัมผัส
(Contact smart cards) ซึ่งการใช้งานจำเป็นต้องมีการสอดใส่เข้าไปใน เครื่องอ่านสมาร์ทการ์ด
(smart card reader) และสมาร์ทการ์ดแบบไม่มีการสัมผัส (Contactless smart
cards) ซึ่งการใช้งานต้องการเพียงให้วางอยู่ใกล้ๆ กับสายอากาศเท่านั้น
สมาร์ทการ์ดแบบมีการสัมผัสเป็นบัตรที่มีการผนึกชิปทอง ขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งนิ้ว
เอาไว้ที่ด้านหน้าบัตรแทนการใช้แถบแม่เหล็ก (Magnetic stripe)
โดยพบว่าใช้กันมากที่สุดในบัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็ม เมื่อผู้ใช้สอดใส่บัตรเข้าไปในเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ดแล้ว มันจะสัมผัสกับหัวต่อหรือคอนเน็กเตอร์ทางไฟฟ้า ซึ่งจะทำการส่งถ่ายข้อมูลเข้า-ออก จากชิป
สมาร์ทการ์ดแบบไม่มีการสัมผัส เป็นบัตรที่มองดูรูปร่างภายนอกแล้วคล้ายกับบัตรเครดิตพลาสติกแบบหนึ่งที่ภายใน
มีการผนึกชิปคอมพิวเตอร์และขดลวดสายอากาศไว้ภายใน ซึ่งใช้ในการติดต่อกับเครื่องรับ-เครื่องส่งที่อยู่ในระยะไกล
(Remote receiver/transmitter)
โดยทั่วไปมักจะใช้บัตรแบบนี้เมื่อต้องมีการดำเนินการทางด้านรายการ (Transactions)
อย่างรวดเร็ว เช่น การจัดเก็บเงินค่าผ่านทางด่วน บัตรพนักงานเพื่อใช้ผ่านเข้า-ออกประตูของบริษัท
เป็นต้น
นอกจากบัตรสมาร์ทการ์ดทั้งสองแบบดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันยังมีการผลิตสมาร์ทการ์ดแบบผสมหรือที่เรียกว่า
คอมบิ การ์ด (Combi Card) ออกมาใช้งานอีกด้วย โดยบัตรแบบนี้เป็นบัตรใบเดียวแต่ทำหน้าที่เป็นทั้งสมาร์ทการ์ดแบบมีการสัมผัส และสมาร์ทการ์ดแบบไม่มีการสัมผัส
เพื่อเพิ่มความสะดวกและประโยชน์ในการใช้งานมากขึ้น
พลาสติกที่นำมาใช้ผลิตสมาร์ทการ์ดมีอยู่หลายชนิด แต่ที่นิยมใช้กันมากคือ
พีวีซี (PVC-Polyvinyl Chloride) และเอบีเอส (ABS-Acrylonitrile Butadiene
Styrene) อย่างไรก็ดี การใช้พีวีซีมีข้อดีคือสามารถพิมพ์ลายนูนได้ แต่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ส่วนเอบีเอสไม่สามารถพิมพ์นูนได้แต่นำกลับมาใช้งานใหม่ได้
ขนาดของบัตรพลาสติกถูกกำหนดโดยมาตรฐานระหว่างประเทศ ISO 7810 ซึ่งได้กำหนดถึงคุณลักษณะทางกายภาพของพลาสติกที่นำมาใช้ทำบัตรด้วย
เช่น ความคลาดเคลื่อนของอุณหภูมิ ความยืดหยุ่นในการใช้งาน ตำแหน่งของหน้าสัมผัสทางไฟฟ้า เป็นต้น
ในสมาร์ทการ์ดมีกลไกการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลหลายแบบ โดยหากเป็นบัตรที่ใช้เก็บข้อมูลอย่างเดียว
(memory-only card) จะมีความซับซ้อนน้อยกว่าบัตรที่ใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ (Microprocessor
card)
การป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่บรรจุภายในสมาร์ทการ์ด ควบคุมได้ 2 แนวทาง
คือ ควบคุมบุคคลที่สามารถเข้าถึงข้อมูล เช่น เข้าถึงได้ทุกคน เฉพาะผู้ถือบัตร
หรือ บุคคลที่ระบุไว้เท่านั้น
และควบคุมด้วยวิธีการเข้าถึงข้อมูล โดยข้อมูลในบัตรสมาร์ทการ์ดนั้นสามารถแบ่งออกได้หลายส่วน
เช่น ข้อมูลที่อ่านได้อย่างเดียว ข้อมูลที่เพิ่มได้อย่างเดียว ข้อมูลที่ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงได้อย่างเดียว
ข้อมูลที่ไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้เลย
สมาร์ทการ์ดเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ที่กำลังเข้าไปมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของผู้คนนับล้าน
บนบัตรประชาชนที่จะเริ่มใช้ในเดือนเมษายนนี้ แต่นั่นเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น
แต่สมาร์ทการ์ดจะมีบทบาทอย่างมากกับการใช้งานด้านบริการต่างๆ เช่น การจับจ่ายซื้อของ
พบแพทย์ ใช้โทรศัพท์ และสรรหาความสุข ความบันเทิง ตลอดจนการพักผ่อนหย่อนใจ
ในสังคมยุคใหม่เป็นยุคที่ต้องการข้อมูลข่าวสารจำนวนมากมายมหาศาล สมาร์ทการ์ดจะช่วยให้มีหนทางใหม่ในการจัดการและควบคุมข่าวสารดังกล่าวได้ด้วยตนเอง
ซึ่งการใช้เทคโนโลยีของสมาร์ท การ์ดก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อีกระดับหนึ่ง
ข้อดีของสมาร์ทการ์ด
1. มีความน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ มากกว่าบัตรที่ใช้แถบแม่เหล็ก
2. สามารถเก็บสะสมข้อมูลได้มากกว่าบัตรที่ใช้แถบแม่เหล็กเป็นร้อยๆ เท่า
3. ลดโอกาสที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวและป้องกันการปลอมแปลงด้วยระบบป้องกันที่ซับซ้อน
4. สามารถเปลี่ยนมือและนำกลับมาใช้ใหม่ได้
5. ทำหน้าที่ต่างๆ ได้มากมาย
6. สามารถนำไปใช้ในงานต่างๆ ได้ อย่างกว้างขวาง เช่น การขนส่ง ธนาคาร และการรักษาสุขภาพ
เป็นต้น
7. สามารถประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาต่างๆ ได้ เช่น เครื่องโทรศัพท์และเครื่องคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว
8. ทำงานด้วยเทคโนโลยีเซมิคอน ดักเตอร์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด
29 มกราคม 2547 ต้นแบบบัตรประชาชนอเนกประสงค์ของชาวไทย ถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
ต้นแบบรูปลักษณ์ของบัตรประชาชน สมาร์ทการ์ด มาจากผลการประกวดการออกแบบบัตรของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(ไอซีที) ที่เปิดให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปส่งผลงานเข้าประกวดตั้งแต่ปลายปี
2546 โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 400 ชิ้น
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า หลังจากได้รูปแบบภายนอกของบัตรสมาร์ทการ์ดแล้ว
ขั้นตอนต่อไปคือ การนำเสนอให้กระทรวงมหาดไทยออกเป็นกฎกระทรวงในเรื่องรูปแบบบัตร
หลังจากนั้นจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ซึ่งรูปแบบอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
ข้อมูลที่เก็บอยู่ในชิปคอมพิวเตอร์ จะเป็นข้อมูลทั่วไปที่เป็นประโยชน์กับผู้ถือบัตร
เช่น ที่อยู่ รายละเอียดการประกันสุขภาพ หรือข้อมูลของนักเรียนว่าเรียนอยู่ที่โรงเรียนอะไร
เป็นต้น
ตัวบัตรจะพิมพ์เพียงชื่อ นามสกุล วันเกิด วันออกบัตร และวันหมดอายุ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดเท่านั้น
ประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ เมืองไอซีทีที่จะก่อตั้งในเชียงใหม่ ภูเก็ต
ขอนแก่น รวมทั้งผู้ลงทะเบียนคนจน นักเรียน นักศึกษา จะเป็นคนกลุ่มแรกที่มีโอกาสใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด
จำนวน 12 ล้านใบ ที่จะทยอยส่งมอบในเดือนมีนาคม และเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน
บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด คาดว่าจะมีราคาประมาณ 120 บาท เพิ่มขึ้นจากบัตรประชาชนแบบเดิมที่ราคาประมาณ
ใบละ 100 บาท เนื่องจากมีการใส่ระบบรักษาความปลอดภัยมากขึ้น
และในเดือนเมษายน 2547 เราจะได้เห็นสมาร์ทการ์ดที่เป็นบัตรประชาชนใบแรกของเมืองไทย
EDC Pool เปลี่ยนรูปแบบการใช้เงิน
บมจ.ทศท คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับ บมจ.อินเทอร์เน็ตประเทศไทย เปิดบริการ EDC
Pool ศูนย์กลางระบบเครือข่ายเครื่อง รับชำระเงินผ่านบัตรเครดิต บนโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน
พิธีลงนามสัญญาบริการ EDC Pool ถูกจัดขึ้นบริเวณห้องโถง บมจ.ทศท คอร์ปอเรชั่น
เนืองแน่นไปด้วยตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งในประเทศไทย โดยมี นพ.สุรพงษ์
สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเป็นประธาน และพยานในพิธีลงนาม
EDC Pool (Electronic Draft Capture Pool) เป็นบริการที่พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนกระทรวงไอซีที
โดยมุ่งเน้นพัฒนาบริการระบบการชำระเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้สามารถบริการประชาชนทั่วไปได้รวดเร็ว
และปลอดภัย
นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมรูปแบบใหม่ในอนาคต นั่นคือ
การใช้บัตรประชาชนอเนกประสงค์ และการใช้เทคโนโลยีของบัตร Smart Card ในหนทางที่ก่อให้เกิดบริการใหม่
เพื่อนำความสะดวกและทันสมัยให้แก่ประชาชนทั่วไป
ซึ่งต่อไปจะเห็นเครื่องรูดบัตรเครดิต ในร้านอาหารเล็กๆ ข้างทาง ร้านขายของ
ชำ บนรถแท็กซี่ รวมไปถึง mobile EDC เครื่องรูดบัตรแบบพกพา เพื่อใช้ชำระเงินในบริการแบบจัดส่งถึงบ้าน
(Delivery) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ประธานในพิธีเซ็นสัญญาความร่วมมือในวันนั้น
กล่าวว่า ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการระบบเครือข่ายของไอเน็ต และโครงข่ายของ
ทศท จะช่วยให้เกิดการพัฒนาการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นประตูขยายการใช้งาน
Smart Card ให้เติบโตขึ้นไป
ต้นทุนการวางระบบเครือข่ายที่มีราคาแพง และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีเพียงไม่กี่ธนาคารเท่านั้นที่ให้รับการรับรายการชำระค่าสินค้า
อรัญ เพิ่มพิบูลย์ รักษาการกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น
จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือใน ครั้งนี้ บมจ.ทศท คอร์ปอเรชั่น ให้การสนับสนุนบริการ
EDC Pool ด้วยอัตราค่าโทรศัพท์ที่โทรเข้ามายังหมายเลขพิเศษ 4 หลักที่ ทศท
กำหนดขึ้น เพื่อทำรายการชำระเงิน โดยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลครั้งละ 1 บาท
ในต่างจังหวัด ครั้งละ 1.50 บาท
ในปี 46 มีผู้ถือบัตรเครดิตประมาณ 4 ล้านบัตร เมื่อเทียบกับปี 45 ที่มีผู้ถือบัตรเครดิต
3.42 ล้านบัตร และมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้น
ตฤณ ตัณฑเศรษฐี กรรมการผู้จัดการ บริษัทอินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
กล่าวว่า บริการ EDC Pool สามารถรองรับการทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว และสมบูรณ์
ซึ่งตอบสนองความต้องการของธนาคาร หรือสถาบันการเงินในการให้บริการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต
และเพิ่มจำนวนร้านค้าผู้ใช้บริการเครื่องรูดบัตร ทำให้มีเงินหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ระบบประมวลผลหลักของธนาคารจะยังคงอยู่ภายใต้การดูแล และควบคุมของธนาคารเช่นเดิม
โดย EDC Pool จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับและส่งเอกสารให้ถูกต้องตามมาตรฐานการทำธุรกรรมของบัตรเครดิต
วีซ่า และมาสเตอร์ การ์ด
เชื่อว่าหากการชำระค่าสินค้า หรือบริการผ่านเครื่องรูดบัตร ณ ร้านค้าทั่วประเทศ
สามารถทำได้อย่างสะดวก จะทำให้การท่องเที่ยวของไทยก้าวไกลเป็นที่รู้จักทั่วโลก
เป็นการผลักดันให้ประเทศก้าวสู่ความเป็นผู้นำทางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และเป็นก้าวย่างสำคัญในการเปลี่ยนรูปแบบการชำระเงินแบบเงินสดให้อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์
e-Purse ถุงเงินยุคไฮเทค
e-Purse คือ ถุงเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง Purse เป็นคำโบราณที่ใช้เรียกถุงสำหรับใส่เงิน
ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้คำว่า Wallet ที่หมายถึง กระเป๋าสตางค์ ซึ่งเป็นกระเป๋าหนังแบนๆ
ใส่ธนบัตรอย่างในปัจจุบัน
บริษัทไทยสมาร์ทการ์ด จำกัด ถือหุ้นโดยกลุ่มธนาคารและองค์กร บริษัททั่วไป
ซึ่งกลุ่มธนาคารประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บัตรกรุงไทย
จำกัด ถือหุ้นรวมกัน 51%
กลุ่มองค์กร บริษัททั่วไป ประกอบด้วย บริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น
จำกัด (มหาชน), บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซี.พี.เซเว่น
อีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน), บริษัทเอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) และบริษัทล็อกซเล่ย์
จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นรวมกัน 49%
บริการ e-Purse ของบริษัทไทยสมาร์ทการ์ด จำกัด ตั้งใจให้เป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินแทนเงินสด
เพื่อซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 500 บาท เช่น ค่ารถโดยสารรถประจำทาง
ซื้อสินค้าในร้าน 7-eleven เป็นต้น กระตุ้นให้เกิดการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น
เฉลิมชัย ฉัตรชัยกนันท์ Chief Commercial Officer บริษัท ไทยสมาร์ท การ์ด
จำกัด กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้ร่วมกับร้าน 7-eleven เป็นแห่งแรก ทดสอบระบบบริการ
e-Purse ในรูปแบบของบัตรสมาร์ทการ์ดที่สามารถเติมเงินได้ และใช้ชำระแทนเงินสดเมื่อซื้อสินค้าภายในร้าน
7-eleven โดยไม่จำกัดวงเงินขั้นต่ำของราคาสินค้า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี
47 (ประมาณเดือนสิงหาคม) ซึ่งจะเริ่มทดลองใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นอันดับแรก
ในช่วงแรกลูกค้าสามารถเติมเงินได้ที่ร้าน 7-eleven เท่านั้น โดยมีแผนจะขยายบริการเติมเงินไปยังตู้คีออสที่ให้บริการ
และธนาคารที่รับเติมเงินในภายหลัง
ปัจจุบันลูกค้าที่เดินเข้า-ออกในร้าน 7-eleven มีประมาณ 15 ล้านคน แยกเป็นกรุงเทพฯ
และปริมณฑลประมาณ 7 ล้านคน และต่างจังหวัดประมาณ 8 ล้านคน จะเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสร้างฐาน
ลูกค้าให้กับถุงเงินอิเล็กทรอนิกส์
รูปแบบของบัตร e-Purse ที่ทดลองใช้งานจะเป็นบัตรเปล่า ไม่มีตัวเงิน จำหน่ายในราคาประมาณ 200 บาท โดยลูกค้าที่ซื้อ ไปสามารถนำไปเติมเงินได้ที่จุดให้บริการ
ทั้งนี้ราคาขึ้นอยู่กับร้านค้าในการทำโปรโมชั่น
การสร้างเครือข่ายเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้การใช้บริการเป็นไปอย่างรวดเร็ว
และหากขยายไปยังบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กับชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น
ก็จะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้มีการใช้เงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่จำเป็นต้องพกเงินสดอีกต่อไป
e-Purse จึงเปรียบเหมือนห้องทดลองของประชาชนในทุกระดับ ให้มีโอกาสสัมผัสกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในชีวิตจริง