Deming Prize เหรียญที่ 3 ของปูนใหญ่


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ดูจะเป็นความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของเครือซิเมนต์ไทย ที่จะต้องส่งผลงานการบริหารจัดการของบริษัทในเครือ ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เข้าชิงรางวัล Deming Prize ในแต่ละปี

รางวัลดังกล่าว สมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรแห่งประเทศญี่ปุ่น (JUSE) ได้มอบให้กับบริษัทอุตสาหกรรมทั่วโลก ที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่น จากการประยุกต์ใช้เครื่องมือบริหารองค์กร เพื่อให้เกิดระบบการจัดการอย่างมีคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Management : TQM) ได้อย่างเหมาะสมกับลักษณะของธุรกิจและองค์กร

เป็นรางวัลที่มอบให้เพื่อระลึกถึง Dr.W.Edward Deming ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารคุณภาพชาวอเมริกัน ที่เข้าไปช่วยฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

บริษัทในเครือซิเมนต์ไทย รายแรกที่ได้รับรางวัลนี้ คือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) เมื่อปี 2545 โดยการประยุกต์นำ TQM เข้ามาใช้ในการปรับองค์กรให้อยู่รอด หลังประสบปัญหายอดขายลดลง ขณะที่หนี้สินเพิ่มพูนขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ

มีการจัดงานฉลองรางวัล ซึ่งเป็นเหรียญ Deming Prize อย่างอลังการ บริเวณสนามหญ้าหน้าอาคารสำนักงานใหญ่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย มีแขกเหรื่อที่ได้รับเชิญมาร่วมงาน ซึ่งประกอบด้วยนักลงทุน คู่ค้า สถาบันการเงินผู้ให้กู้ รวมถึงพนักงานบริษัทในเครือนับพันคน

ปี 2546 เครือซิเมนต์ไทย ได้ส่งผลงานการประยุกต์ใช้ TQM ของบริษัทในเครืออีก 2 บริษัท คือบริษัทอุตสาหกรรมกระดาษไทย และบริษัทสยาม วัสดุทนไฟเข้ารับรางวัลนี้ และประสบผลสำเร็จ

แต่การฉลองรางวัล สำหรับเหรียญที่ 2 และ 3 กลับดูเล็กลงถนัดตา เมื่อเทียบกับการฉลองรางวัลเหรียญแรกที่ได้รับ

บริษัทอุตสาหกรรมกระดาษไทย มีการฉลองรางวัลกันภายในอย่างเงียบๆ

ขณะที่บริษัทสยามวัสดุทนไฟจัดงานใหญ่กว่า เพราะเป็นการจัดควบกันกับการฉลองครบรอบ 50 ปี ของการดำเนินธุรกิจ

สถานที่จัดงานกำหนดขึ้นที่ห้องบอลรูม โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ในช่วงย่ำค่ำของวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะเป็นสถานที่ที่เล็กกว่าสนามหญ้าหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ปูนซิเมนต์ไทย แต่จำนวนแขกที่ได้รับเชิญ ก็มีผลทำให้ที่จอดรถของโรงแรมเต็ม ตั้งแต่เวลาหกโมงครึ่ง จนผู้คนต้องนำรถไปจอดไว้ที่โรงแรมริเวอร์ ซิตี้ แทน

รูปแบบของงาน คล้ายคลึงกับการจัดฉลองรางวัลเหรียญแรก โดยมีการจัดอาหารหลากหลายประเภทมาให้บริการ ในลักษณะเป็นซุ้ม และเน้นการแสดงบนเวทีเป็นไฮไลต์หลัก

เริ่มจากการแสดงกลอง 4 ภาค คือ การรำกลองสะบัดชัย จากภาคเหนือ กลองสิงห์จากภาคอีสาน การรำโทน รำมะนาจากภาคใต้ ปิดท้ายด้วยกลองยาวจากภาคกลาง

หลังจากนั้นเป็นการแสดง Mini Concert จากนักร้องชื่อดัง อย่าง "ปั่น" ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว, มาลีวัลย์ เจมีนา และการแสดงของวงดนตรี Hot Chilli ซึ่งสามารถสร้างความประทับใจให้กับแขกที่มาร่วมงานครั้งนี้ที่ยืนชมอยู่แน่นขนัด จนห้องบอลรูม ดูเล็กลงไปถนัดตา

โดยเฉพาะแขกผู้ใหญ่ที่สุดในงาน คือพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการปูนซิเมนต์ไทย ปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยอุตสาหกรรม และที่ขาด ไม่ได้คือ สมยศ ตั้งมีลาภ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ ในฐานะแม่งาน ซึ่งว่ากันว่ามีความชื่นชอบ ในดนตรีกลองพื้นบ้านเป็นพิเศษ

"งบประมาณจัดงานครั้งนี้ เราใช้ไปประมาณ 1 ล้านบาท เศษ" คนที่มีส่วนร่วมในการจัดงานผู้หนึ่งบอก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.