การเข้ามาของสิงคโปร์ ไม่เพียงแต่จะสร้างสีสันให้กับธุรกิจอินเทอร์เน็ตเท่านั้น
แต่พวกเขากำลังทำให้ไทยเป็น จิ๊กซอว์ ของการสร้าง
เครือข่ายธุรกิจอินเทอร์เน็ตระดับภูมิภาค แรงบันดาลใจยิ่งใหญ่นี้
จึงทำให้ ความสั่นคลอน ของดอทคอม ยังดูมีไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น
ในบรรดาผู้ประกอบธุรกิจอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของไทยที่มีบทบาทในเวลานี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มทุนจากสิงคโปร์
มีอย่างน้อย 3 ราย ที่ได้ทุนจากสิงคโปร์เข้ามาร่วมหุ้น
เนชั่น พอยต์เอเชีย เออาร์กรุ๊ป ทั้ง 3 รายนี้ เป็นผู้ประกอบธุรกิจอินเทอร์เน็ต
ที่มีบทบาทมากที่สุด
การเข้ามาของกลุ่มทุนสิงคโปร์ เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ และการเติบโตของธุรกิจดอทคอมในไทย
ถึงแม้ว่าภาพการรุกของกลุ่มทุนสิงคโปร์ จะมีทั้งการเข้ามาตั้งสาขา การร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น
และรูปแบบของธุรกิจที่ต่างกันไป ทั้งการเป็นเว็บไซต์ระดับเอเชีย ไดเรคทอรีส์ระดับโลก
ไอเอสพี และอินเทอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์
แต่พวกเขามีเป้าหมาย และภารกิจ นั่นคือ การสร้างยุทธศาสตร์ด้านเครือข่าย
ที่จะมีไทยเป็นหนึ่งในเครือข่ายเหล่านี้ และมีส่วนที่สัมพันธ์อย่างมากกับยุทธศาสตร์ของสิงคโปร์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้อย่างแยกไม่ออก
s e a r c h e n g i n e
ภาพของเด็กหนุ่มวัยทำงาน ลุกจากโต๊ะทำงานที่เขาคร่ำเคร่งมาตลอดบ่าย เพื่อขี่สกู๊ตเตอร์บริเวณทางเดินที่ปูพรมอย่างดี
บนอาคารเพรสซิเดนท์ทาวเวอร์ ใจกลางกรุงเทพฯ ที่ตั้งของสำนักงานแคทชา ไทยแลนด์ที่เพิ่งตกแต่งเสร็จไม่กี่เดือนมานี้
ผมเชื่อว่านี่คือที่มาของความคิดสร้างสรรค์ ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ
บริษัทแคทชา ประเทศไทย วัย 26 ปีผู้นี้ บอกกับ ผู้จัดการ ถึงเหตุผลของการจำลองบรรยากาศของบริษัทดอทคอมหลายแห่งในซิลิคอน
วัลเลย์ มาไว้ที่สำนักงานแคทชา ประเทศไทย
แนวคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ คือ การเป็นทางเลือกอันดับแรกของนักท่องเว็บที่ต้องการ
search engine ในการค้นหาข้อมูล
แคทชา ถูกก่อตั้งขึ้นจากคนหนุ่มรุ่นใหม่ แพทริก โกรฟ เด็กหนุ่มที่ตัดสินใจทิ้งการเรียนลงกลางคัน
บินจากสหรัฐอเมริกากลับประเทศสิงคโปร์ รวบรวมสมัครพรรคพวกในวัยเดียวกันมาเปิดเป็นบริษัท
catcha.com ขึ้นเมื่อกลางปี 2542
ความตั้งใจของพวกเขาคือ การเป็นเว็บไซต์ ด้าน search engine ระดับภูมิภาคเอเชีย
ที่สามารถค้นหาข้อมูลได้ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศ พวกเขารู้ดีว่าอีกไม่นาน
บรรดายักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะเป็น yahoo หรือ lycos จะข้ามฟากขยายธุรกิจมายังย่านเอเชีย
และเมื่อเวลานั้นมาถึง ด้วยเงินทุน และประสบการณ์ที่มากกว่า บรรดาเว็บไซต์
search engine ท้องถิ่น ก็อาจหมดโอกาส หนทางเดียว คือ การรุกเข้าสู่ตลาดก่อน
แคทชา.คอม ไม่ต่างไปจากธุรกิจดอทคอมในย่านเอเชียรายอื่นๆ ที่มองเห็นโอกาส
และแนวโน้มของตลาดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชีย ที่กำลังเข้าสู่ช่วงรอยต่อของการเติบโต
ไอเดียเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจาก venture capital รายใหญ่อย่าง ชอว์บราเดอร์
ค่ายหนังรายใหญ่ของฮ่องกง รวมทั้ง venture capital ในมาเลเซีย ด้วยเงินทุนสนับสนุน
350 ล้านบาท ที่เป็นเงินก้อนแรกที่พวกเขาได้มาสำหรับใช้ในการเริ่มต้นธุรกิจ
นอกเหนือจากการสร้างเครื่องมือหลัก สำหรับการเป็นเว็บไซต์ในการค้นหาข้อมูล
ซึ่งพวกเขาเลือกใช้ engine ตัวเดียวกับที่ lycos.com และ infoseek.com เพื่อสร้างมาตรฐานให้ทัดเทียมกับสหรัฐอเมริกา
แต่สิ่งที่พวกเขาต้องทำมากกว่านั้น ก็คือ การสร้างเนื้อหาเฉพาะตัวที่จะต้องเข้าถึงผู้ใช้ในแต่ละประเทศ
ที่มีวัฒนธรรม และความต้องการที่แตกต่างกันไป นี่คือเหตุผลของการจัดตั้งสำนักงานขึ้นใน
5 ประเทศ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เพื่อต้องการเข้าถึงวัฒนธรรม
และความต้องการของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
จุดแข็งของเราอยู่ที่ การที่เราจะเข้าถึงผู้บริโภคในแต่ละประเทศ ด้วยเทคโนโลยี
และภาษาที่เป็นของท้องถิ่นแต่ละประเทศ ฉัตรชัย บอกกับ ผู้จัดการ หลังการเข้ามาเปิดสำนักงานในไทยไม่นาน
ฉัตรชัย เจอกับแพทริก โกรฟ ประธานกรรมการบริหาร catcha.com วัย 25 ปี ผ่านทางไอซีคิว
และหลังจากได้คุยกันไม่กี่ครั้ง เขาตัดสินใจทิ้งชีวิตนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
มาเป็นกรรมการผู้จัดการ แคทชา ประเทศไทย เพื่อเป็นเครือข่ายหนึ่งของ catcha.com
ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์
แคทชา ประเทศไทย เปิดตัวขึ้นในไทยอย่างครึกโครม ตามแนวคิดของธุรกิจดอทคอมในยุคนั้น
ที่ต้องเริ่มต้นจากการสร้าง brand ก่อนเป็นลำดับแรก และเป็นสิ่งที่แคทชา
สิงคโปร์ ทำได้ผลมาแล้ว เงินทุนก้อนใหญ่จึงถูกใช้ไปกับการโฆษณาด้านข้างรถประจำทางปรับอากาศ
10 สายทั่วกรุงเทพฯ ไม่รวมโฆษณาตามสื่อวิทยุ และโทรทัศน์ ทำให้ชื่อของแคทชาเป็นที่รับรู้ได้ในเวลาไม่นานนัก
เว็บไซต์ catcha.co.th ถูกสร้างขึ้น โดยมีหน้าตา และเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานเดียวกับ
catcha ในอีก 4 ประเทศ การประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้บริหารวัยใกล้เคียงกันของแคทชาทั้งหมดเป็นเรื่องจำเป็นของที่นี่
เพื่อใช้ประโยชน์จากความเป็นเครือข่าย ในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และบริการใหม่
และฐานข้อมูลรายชื่อเว็บไซต์ ของแต่ละประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชีย และทั่วโลกที่จะถูกนำมาเป็นจุดขายร่วมกัน
แต่ผู้บริหารเหล่านี้ มีอิสระในการที่จะสร้างจุดเด่น ในด้านเนื้อหา และบริการที่เป็นของตัวเอง
ถึงแม้จะเป็นจุดเด่น ในการเข้าถึงความต้องการของลูกค้า แต่อาจทำให้ละเลยเป้าหมายที่แท้จริงของเว็บไซต์ได้
ที่มาของรายได้ของแคทชามาจากโฆษณาบนเว็บไซต์ ถึงแม้แคทชาจะระมัดระวังเรื่องการขยายธุรกิจ
หรือจ้างพนักงานจำนวนมากๆ แต่การให้น้ำหนักไปที่การสร้างยอด page view เพื่อดึงดูดผู้เข้าชม
และสร้างยอดโฆษณา จนละเลยการพัฒนาส่วนที่เป็นแก่นสำคัญของเว็บไซต์ นั่นคือ
ส่วนที่เป็น search engine หรือการสร้างฐานข้อมูล เมื่อฟองสบู่ของตลาดหุ้นแนสแดคแตกกระจาย
และมีผลกระทบต่อธุรกิจดอทคอมไปทั่วโลก แคทชาต้องประสบปัญหาเดียวกัน
แคทชา เป็นหนึ่งในธุรกิจดอทคอมที่ได้รับอนุญาตจากตลาดหุ้นสิงคโปร์ให้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียน
แต่ไม่ทันที่จะซื้อขายหุ้นให้กับนักลงทุนทั่วไป การตกต่ำของตลาดหุ้นแนสแดคที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก
ทำให้ต้องระงับการเข้าตลาดหุ้น
ผู้บริหารของเราเป็นคนตัดสินใจ ตอนนั้นทุกคนไม่เข้าใจ ทั้งตัวผม และกลุ่มผู้ลงทุนของเราก็เหมือนกัน
แต่มาถึงเวลานี้กลับเป็นเรื่องดีสำหรับเรา ฉัตรชัยบอก
แน่นอนว่า ผลจากการตัดสินใจในครั้งนั้น แคทชาต้องได้รับผลกระทบไม่ทางใดทางหนึ่ง
จากการที่พวกเขาไม่สามารถระดมเงินทุนเข้ามาได้ตามที่คาดหมายรวมไปถึงสภาพตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยอีกต่อไป
ทำให้พวกเขาต้องหันมาทบทวนธุรกิจใหม่ ปรับลดค่าใช้จ่ายการตลาด รวมทั้งลดจำนวนพนักงานลง
รวมไปถึงการลดขนาดของธุรกิจลง ท่ามกลางข่าวลือ การบริหารงานที่ผิดพลาดของแคทชาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว
เดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นเวลาที่แคทชา ประเทศไทย เปิดดำเนินงานครบ 1 ปี
พอดี และเป็นช่วงเวลาที่แคทชาต้องผ่านร้อนผ่านหนาว ฝ่ามรสุมความผันผวนของธุรกิจดอทคอม
ท่ามกลางกระแสข่าวร้ายที่มีมาตลอดหลายเดือนนี้
เราค่อนข้างโชคร้ายที่เห็นเราทำตรงนี้ก่อนเพื่อน เราทำเมื่อ 10 เดือนที่แล้ว
ในขณะที่ดอทคอมอื่นกำลังขายฝัน แต่เรากลับเป็นบริษัทแรกในภูมิภาคเอเชีย ที่บอกว่า
เราจะลดเงินเดือนผู้บริหาร ลดขนาดธุรกิจลง
ฉัตรชัยเล่าว่า การตัดสินใจลดการลงทุนของแคทชา เกิดขึ้นหลังจากการตกต่ำของตลาดหุ้นแนสแดค
ที่เกิดขึ้นมาได้เพียง 2-3 ครั้ง เรามองแล้วว่าโมเดลของธุรกิจที่อยู่ไม่ได้ต้องปรับไปสู่อยู่บนพื้นฐานของธุรกิจที่แท้จริง
นั่นคือการมีต้นทุน และรายได้ ไม่ใช่การสร้าง page view
ถึงแม้ว่า จนถึงวันนี้ โมเดลธุรกิจของแคทชาไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป พวกเขายังคงให้คำจำกัดความของแคทชา
ว่าเป็น search engine portal อยู่เช่นเดิม รวมทั้งแหล่งที่มาของรายได้จากยอดโฆษณา
ที่พวกเขายังเชื่อว่ามีอยู่จริงในโลกของอินเทอร์เน็ต และนี่เองทำให้พวกเขายังคงมุ่งเน้นการหาผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจกับผู้บริโภค
ซึ่งไม่ใช่แค่การขายแบนเนอร์โฆษณา
ทุกวันนี้ยังไม่มีสูตรสำเร็จ หรือกฎเกณฑ์ที่จะบอกได้ว่า อะไรคือความสำเร็จบนอินเทอร์เน็ต
ฉัตรชัยบอก ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะจำกัดตัวเอง
นักวิเคราะห์บางส่วนให้ความเห็นว่า การมีเวลาสำหรับการเปลี่ยนแปลงของแคทชาในครั้งนี้
มาจากการได้เงินทุนก้อนใหม่จากนักลงทุนใหม่เข้ามา ซึ่งมองว่า แคทชายังมีโอกาสที่จะเดินหน้าต่อไปได้
เพราะอย่างน้อยก็สร้างชื่อมาได้ระดับหนึ่ง มีเงื่อนไขอยู่ว่าพวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงคือ
การแก้ไขจุดอ่อน
ฉัตรชัย ยอมรับว่าที่ผ่านมาแคทชาละเลยการพัฒนาในส่วนที่เป็น search engine
ที่ถือว่าเป็นแก่นหลักของการเว็บไซต์ประเภทนี้ จุดอ่อนของแคทชาอยู่ที่ผู้ใช้ยังค้นหาข้อมูลได้ช้า
และไม่ตรงกับความต้องการ
แคทชาสิงคโปร์ จะเป็นแกนนำหลักของการร่วมพัฒนา search engine ขึ้นใหม่ทั้งหมด
นั่นหมายความว่า พวกเขาจะเปลี่ยนจากการ ซื้อ เทคโนโลยีของคนอื่น มาใช้ serach
engine ที่พัฒนาขึ้นเอง
การย้ายทีมเทคโนโลยีของแคทชา สิงคโปร์ มาอยู่ที่มาเลเซีย เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาในเรื่องของต้นทุนธุรกิจ
เช่นเดียวกับสาขาของแคทชาในแต่ละประเทศจะต้องหาเลี้ยงตัวเองให้ได้มากที่สุด
และขอเงินทุนจากบริษัทแม่น้อยที่สุด
สำหรับฉัตรชัยแล้ว ถือว่าเป็นความโชคดี ที่เขาไม่ได้รับพนักงานมากเกินความจำเป็น
ทีมงาน 10 คนเหล่านี้ จึงไม่มากไปสำหรับรายได้จากโฆษณาที่หาได้ในแต่ละเดือนที่จะทำให้แคทชา
ประเทศไทย เลี้ยงตัวเองต่อไปได้
โดยรวมแล้วไทยก็โอเค ไม่ได้แย่หรือดีกว่าประเทศอื่นๆ
สิ่งที่ฉัตรชัยและทีมงานทั้ง 10 คนทำในเวลานี้ ก็คือ การหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
และลูกเล่นใหม่ๆ มีเป้าหมายอยู่ที่การเป็นส่วนที่จะมาเพิ่มยอดขายให้กับโฆษณา
เขายกตัวอย่าง การพัฒนาเกม แคทชามิลเลียนแนร์ เวอร์ชั่น 2 ออกมา พร้อมกับ
โฆษณาแบบทีวี 30 วินาที หลังจากจบเกมที่ 5 และ 10
ถึงแม้ว่า การแสวงหารายได้ยังคงเป็นปัญหาที่หนักสำหรับธุรกิจดอทคอม และยังต้องใช้เวลากับความสำเร็จในอนาคต
ที่ยังไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไร สำหรับฉัตรชัยแล้ว นอกจากเขายังไม่ได้บินกลับไปเรียนต่อปริญญาเอก
ตามที่เป็นข่าวแล้ว เขายืนยันว่า จะอยู่กับแคทชา จนประสบความสำเร็จ
ผมยังอยากให้แคทชาเป็นหน้าแรกที่ทุกคนต้องใช้ นี่คือเป้าหมาย ฉัตรชัยบอก
อี ไ ก ด์ ส มุ ด ห น้ า เ ห ลื อ ง อ อ น ไ ล น์
อีไกด์ กรุ๊ป เป็นกลุ่มธุรกิจจากสิงคโปร์ ที่เข้ามาตั้งสาขาในไทย เพื่อใช้เป็นหนึ่งในเครือข่ายของการบริการสมุดหน้าเหลืองออนไลน์ไปทั่วโลก
เริ่มที่เอเชียแปซิฟิกเป็นด่านแรก
เว็บไซต์ ที่ใช้เป็นแหล่งรวบรวมรายชื่อขององค์กรธุรกิจแห่งนี้ ถูกตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน
2541 โดยกลุ่มผู้บริหารชาวสิงคโปร์ ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำสมุดหน้าเหลืองมาก่อน
และมองเห็นโอกาสใหม่จากโลกธุรกิจออนไลน์
หลังจากได้กลุ่มนักลงทุน และ venture capital อย่าง OCBC Wernes & Walden
( OWW) และ Walden International Investment Group พวกเขาสร้างเว็บไซต์ที่รวบรวมรายชื่อธุรกิจขึ้น
อีไกด์ใช้เวลา 2 ปีในการวางรากฐานธุรกิจในบ้านของตัวเอง จากนั้นในปี 2543
ก็เริ่มขยายออกนอกประเทศ เริ่มตั้งอีไกด์มาเลเซียเป็นประเทศแรกในเดือนมกราคม
ตามมาด้วยอีไกด์ ไทยแลนด์ ในเดือนมิถุนายน และอีไกด์ออสเตรเลีย ที่เปิดสาขาในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน
สาขาอีไกด์ไทยแลนด์ ตั้งอยู่บนอาคาร เอ็มไพร์ทาวเวอร์ ริมถนนสาทร แหล่งใจกลางธุรกิจของเมืองไทย
สำนักงานสาขาแห่งนี้นอกจากทำหน้าที่ในการขายโฆษณาบนเว็บไซต์แล้ว ยังเป็นแหล่งรวบรวมฐานข้อมูลรายชื่อองค์กรธุรกิจของไทย
เพื่อส่งกลับไปที่บริษัทแม่ในสิงคโปร์ โดยมีโจเซฟ ลิม กรรมการผู้จัดการชาวสิงคโปร์
ผู้บริหารรุ่นที่ 2 ที่เคยมีประสบการณ์ในธุรกิจสมุดหน้าเหลืองเป็นผู้ดูแล
สิริรัตน์ มีสมบูรณ์พูนสุข Web Director บริษัทอีไกด์ ไทยแลนด์ จำกัด เล่าให้
ผู้จัดการ ฟังว่า ฐานข้อมูลของอีไกด์แตกต่างไปจากเว็บไซต์ไดเรคทอรีส์ออนไลน์อื่นๆ
ตรงที่ร้านค้าที่อยู่ในฐานข้อมูลของอีไกด์ จะเป็นโลกการค้าที่เป็นจริงเท่านั้น
ไม่ใช่ร้านค้าออนไลน์ เหมือนเว็บไซต์ไดเรคทอรีส์อื่นๆ
นี่คือ โจทย์ที่ยากกว่า เพราะเราต้องมีการอัพเดทฐานข้อมูล ว่า ร้านค้าเหล่านี้มีอยู่จริง
หรือมีการย้ายที่อยู่ไปหรือเปล่า
การ update ฐานข้อมูลทำไปได้ถึงการเช็กเครดิต ฐานะการเงินขององค์กรธุรกิจเหล่านั้น
เป็นผลจากการร่วมมือระหว่างอีไกด์ และบริษัทดันแอนด์บัสสตรีท บริษัทให้บริการข้อมูลธุรกิจจากอเมริกา
นั่นหมายความว่า ลูกค้าที่ต้องการใช้บริการนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในราคา
6 เหรียญสิงคโปร์ ซึ่งลูกค้าสามารถจ่ายเป็นบัตรเครดิตผ่านเว็บไซต์ แต่บริการนี้จะมีเฉพาะในสิงคโปร์เท่านั้น
ส่วนในไทยยังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทบีโอแอล ซึ่งเป็นคู่ค้าของดันแอนด์บัสตรีท
ถึงแม้ว่าขั้นตอนในการเก็บข้อมูลที่ยุ่งยากกว่า แต่นี่คือรากฐานที่สำคัญของการใช้ประโยชน์จากออนไลน์
เข้ากับธุรกิจในโลกใบเก่าที่มีอยู่จริง ไม่ต้องกังวลว่าร้านค้าเหล่านี้จะปิดตัวลงได้ตลอดเวลาเหมือนกับร้านค้าออนไลน์
ข้อมูลเหล่านี้ยังสามารถค้นหาจากแหล่งข้อมูลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์
กรมส่งเสริมการส่งออก สมาคมธุรกิจการค้าต่างๆ จากนั้นเป็นหน้าที่ของทีมงาน
20 คนของอีไกด์ ไทยแลนด์ จะต้องอัพเดทข้อมูลรายชื่อ เพื่อเก็บลงในคอมพิวเตอร์อีกครั้งหนึ่ง
ฐานข้อมูลขององค์กรธุรกิจ ที่รวบรวมได้เวลานี้ 150,000 บริษัทในเวลานี้
โดยจะต้องครอบคลุม ชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ แฟกซ์ อีเมล เว็บไซต์ รวมทั้งสินค้าและบริการ
จะถูกส่งจากเมืองไทย ไปเก็บไว้ที่ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ ของบริษัทแม่ที่สิงคโปร์
เมื่อลูกค้าเรียกดูเข้าไปที่เครื่อง server ที่สิงคโปร์ ผ่านวงจรเช่าระหว่างประเทศ
ของสิงค์เทลที่ต่อเชื่อมมาในไทย
เช่นเดียวกับ สาขาของอีไกด์ ในมาเลเซีย ออสเตรเลีย ที่จะทำในลักษณะเดียวกัน
นั่นก็คือ การส่งข้อมูลทั้งหมดไปเก็บไว้ที่ ดาต้าเซ็นเตอร์ในสิงคโปร์ และมีศูนย์สำรอง
(backup) ที่สหรัฐอเมริกา
สิ่งที่อีไกด์ทำในวันนี้ จึงเป็นการวางรากฐานของการเป็น hub ที่เป็นแหล่งข้อมูลการค้าธุรกิจที่สำคัญ
ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับในอนาคต ที่ถือเป็นหัวใจของสิงคโปร์เวลานี้
และนี่เป็นสาเหตุการเลือกเมืองไทยเป็น 1 ในประเทศที่อีไกด์เข้ามาลงทุน นอกเหนือจากเหตุผลในเรื่องของอัตราการเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตในไทย
และค่าแรงราคาถูกของไทยแล้ว คือประโยชน์จากการเป็นประตูทางการค้า จากการเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบที่สำคัญของไทยมาใช้ประโยชน์ในการสร้างฐานข้อมูล
ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดของอีไกด์ ก็คือเว็บไดเรคทอรีส์ออนไลน์จากแดนลอดช่องแห่งนี้
ไม่ได้ทำขึ้นสำหรับลูกค้าทั่วไป แต่มุ่งไปที่การใช้ประโยชน์ระหว่างธุรกิจ
business to business (b to b)
การมุ่งเน้นไปที่บริการเช่นนี้ย่อมมีนัยทางธุรกิจที่สำคัญ เพราะสิ่งที่อีไกด์ทำ
จึงไม่ได้อยู่ที่การมุ่งเน้นเพิ่มยอด page view เพื่อหวังผลรายได้จากโฆษณาบนแบนเนอร์เท่านั้น
แต่เป็นการสร้างมูลค่าทางธุรกิจที่แท้จริง
นอกเหนือจากฐานข้อมูลองค์กรธุรกิจที่เป็นอยู่จริง อีไกด์จะมีเนื้อที่สำหรับให้ผู้สนใจติดต่อกับธุรกิจที่อยู่ในฐานข้อมูลหรือ
Inquiry ซึ่งการทำเช่นนี้เท่ากับว่า อีไกด์จะทำหน้าที่เป็น สื่อกลาง ให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกัน
สิริรัตน์ เล่าว่า ทุกวันนี้ มี inquiry เข้ามาประมาณ 200 รายต่อวัน โดยอีไกด์ไทยแลนด์
จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวม inquiry จากนั้นจะส่งให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง
ส่วนมูลค่าของการซื้อขายที่มีมากเท่าไรนั้นเป็นเรื่องของผู้ซื้อและผู้ขายจะติดต่อกันเอง
เมื่อได้ inguiry มาเราจะส่งอีเมล หรือถ้าเขาไม่มีเราจะส่งแฟกซ์ไปให้ร้านค้าเหล่านั้นโดยอัตโนมัติ
ซึ่งถ้าเขาได้รับผลตอบเราที่ดี เขาก็จะติดใจ และมาลงหน้าโฆษณากับเรา
องค์กรธุรกิจ ที่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของอีไกด์ จะมีข้อมูล ชื่อที่อยู่เบอร์โทรศัพท์
พร้อมกับแบบฟอร์ม Inguiry เป็นสิ่งที่อีไกด์ให้บริการฟรี แต่หากองค์กรธุรกิจใด
ต้องการใส่ข้อมูลเพิ่ม เช่น ข้อมูลประวัติบริษัท รายละเอียดของสินค้า รวมทั้งแผนที่ตั้งของบริษัท
จะต้องมาเช่าเนื้อที่โฆษณาเป็นพิเศษ และเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของอีไกด์
วิธีการทำInquiry นอกจากการหวังผลในเรื่องของโฆษณา เพราะเมื่อลูกค้าได้ประโยชน์จากออร์เดอร์ซื้อขายสินค้าเข้ามาจะนำไปสู่การซื้อเนื้อที่โฆษณา
ที่จะเก็บจากลูกค้าเป็นรายปี ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของอีไกด์แล้ว การทำตัวเป็น
สื่อกลาง นี้ ยังเท่ากับเป็นการต่อยอดไปสู่การเป็น e-market place หรือเป็นตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์
ที่กำลังเป็นแนวโน้มสำคัญของโลกการค้าทุกวันนี้
มันเป็นขั้นแรกที่ทำให้เขารู้จักกัน จากนั้นจะพัฒนาไปสู่ การเป็น e-market
place ได้ในอนาคต
การเซ็นสัญญาร่วมทุน รวมถึงการซื้อเทคโนโลยี จากบริษัท bex.com จากยุโรป
ก็ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ผู้ซื้อและผู้ขายที่ใช้บริการ e-market place ของอีไกด์
จำเป็นต้องมี slot card ประจำตัว เพื่อบอกว่าเป็นผู้ซื้อและผู้ขายตัวจริง
ทุกครั้งที่มีการใช้งาน จะต้องมีการรูด slot card อุปกรณ์พิเศษ
การค้าขายผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ e-commerce ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสิงคโปร์เป็นอย่างมาก
บรรดาธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง (SME) จะได้รับเงินสนับสนุน 50% จากองค์กรเพิ่มผลผลิต
เป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด เมื่อมีการใช้บริการ e-market place ของอีไกด์
หลังการทดลองใช้ในสิงคโปร์ได้ผลดี เป้าหมายต่อไป คือ การเปิดให้ทุกประเทศที่เป็นสาขาของอีไกด์ใช้งาน
จุดสำคัญของ ไดเรคทอรีส์ออนไลน์ นอกเหนือจากฐานข้อมูล ที่ต้องจัดเก็บอย่างถูกต้อง
และสามารถใช้ประโยชน์ได้ตามที่ลูกค้าต้องการแล้ว เครื่องมือในการค้นหาข้อมูล
search engine เป็นส่วนสำคัญที่มองข้ามไม่ได้
ทีมของอีไกด์เป็นคนทำสมุดหน้าเหลืองมาก่อน ดังนั้นเขาจะรู้ข้อบกพร่องต่างๆ
ที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาให้เหมาะสม
อีไกด์ใช้เวลากว่า 1 ปีในการพัฒนา search engine ขึ้นใช้งานเอง สิ่งที่พวกเขาต้องทำ
ก็คือการที่ต้องเข้าถึงข้อมูลได้หลายทาง และรองรับกับฐานข้อมูลได้หลายภาษา
นอกเหนือจากภาษาจีนที่อยู่ระหว่างพัฒนา เพื่อเตรียมสำหรับการขยายไปสู่ตลาดฮ่องกง
ที่กำลังจะเปิดเป็นสาขาถัดไป การพัฒนาภาษาไทยเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
search engine ของอีไกด์จะเน้นการค้นหา ในลักษณะที่เป็น search box ที่จะสามารถค้นหาข้อมูลประเภทของธุรกิจ
หรือจากชื่อขององค์กรธุรกิจ
เทคโนโลยีของ search engine เป็นสิ่งที่พวกเขาหวงแหนเป็นพิเศษ นอกจากฐานข้อมูลที่รวมศูนย์อยู่ที่บริษัทแม่แล้ว
เครื่องมือในการพัฒนา search engine จะถูกเก็บเป็นความลับทางธุรกิจไว้ที่ศูนย์เทคโนโลยีที่สิงคโปร์
การพัฒนาให้แปลงเป็นภาษาท้องถิ่นจะใช้วิธีส่งข้อมูลไปแปลภาษาเป็นภาษาท้องถิ่นที่บริษัทแม่ในสิงคโปร์
สิริรัตน์ เล่าว่า อีไกด์ใช้งบลงทุนในไทยประมาณ 20 ล้านบาท เงินทุนส่วนใหญ่จะใช้ไปกับงบโฆษณาสร้างชื่อของอีไกด์ไทยแลนด์
เงินก้อนแรก 15 ล้านบาทใช้ไปกับงบโฆษณาในช่วง 6 เดือนแรก และอีก 6 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรก
และจะใช้ 20 ล้านบาทในปีนี้ นอกเหนือจากนั้นจะเป็นต้นทุนเงินเดือนของพนักงานเก็บข้อมูล
และพนักงานขายโฆษณา ซึ่งเป็นการลงทุนไม่มาก
ทุกวันนี้ อีไกด์ไทยแลนด์ มีรายได้จากค่าโฆษณาเดือนละ 3-4 ล้านบาท มาจากการโฆษณาแบนเนอร์
และในส่วนที่เป็นไดเรคทอรีส์ ซึ่งเป็นรายได้หลัก ที่ให้ลูกค้าเช่าเนื้อที่
ในอัตราเดือนละ 8,600 บาท หรือคิดเป็น 105,600 บาทต่อปี และมีรายได้บางส่วนมาจากการพัฒนาระบบ
e-commerce ให้กับลูกค้า
เม็ดเงินทุ่มไปกับการโฆษณา ทำให้ยอดรายได้ที่เข้ามายังไม่คุ้มกับเงินลงทุนเท่าไรนัก
เป็นส่วนหนึ่งที่สิงคโปร์เขาก็ complain มาเหมือนกันว่า ทำไมต้นทุนสูง แต่ก็เป็นเพราะทำให้พนักงานขายโฆษณาได้ง่ายขึ้น
สิริรัตน์บอก
ประโยชน์ของการเป็นเครือข่าย ช่วยได้มากในเรื่องของการขยายยอดผู้ชม สิริรัตน์บอกว่า
link ที่เรียกข้อมูลมาจากสิงคโปร์จะเยอะมาก
เป้าหมายของอีไกด์ ไม่ได้อยู่ที่การวางเครือข่ายในเอเชียแปซิฟิกเท่านั้น
แต่พวกเขาต้องการก้าวไปสู่ การเป็นไดเรคทอรีส์ออนไลน์ระดับโลก คู่แข่งของพวกเขาไม่ใช่
yahoo หรือ ไลคอส แต่กลับเป็น เยลโล่เพจเจส ที่มีทั้งบริการออนไลน์ และสมุดหน้าเหลือง
แต่สิ่งที่เราแตกต่างไปจากเขา ก็คือ content และ search engine เป็นส่วนผสมที่ลงตัวมากที่สุด
สิริรัตน์บอก และนี่คือเหตุผลที่เขาต้องหันมาเร่งยอดขายในเมืองไทยให้ดี
เวลานี้ อีไกด์ เป็นบริษัทดอทคอมที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นในสิงคโปร์
แต่ยังไม่ได้กระจายหุ้น (IPO) แต่เป้าหมายของการขยายไปทั่วโลกยังอยู่
ไ ล ค อ ส เ อ เ ซี ย
เว็บไซต์ search engine แห่งนี้เข้ามาเปิดสาขาในไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อปลายปี
2543 ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ 7 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นประเทศที่
12 ในย่านเอเชียแปซิฟิกที่ไลคอสเข้ามาลงทุน
เครือข่ายของไลคอสในเอเชียทั้ง 12 ประเทศนี้ เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากการร่วมทุนระหว่างไลคอส
และสิงคโปร์เทเลคอม ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่มีอยู่ร่วมกัน ระหว่างเครือข่ายของสิงค์เทลในภูมิภาคนี้
รวมเข้ากับประสบการณ์และชื่อสินค้าของไลคอส และในการสร้างเครือข่าย web search
engine ของไลคอส์ไปทั่วภูมิภาคเอเชีย
หลายปีมานี้ สิงค์เทล ได้มุ่งขยายการลงทุนนอกประเทศ ไม่เพียงเฉพาะกิจการโทรคมนาคม
ที่สิงค์เทลพยายามเข้าไปมีส่วนในหลายประเทศ ดีลล่าสุดคือการซื้อบริษัทออพตัส
ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของออสเตรเลีย
ในอีกด้านหนึ่ง สิงค์เทล ก็รุกเข้าสู่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตในรูปแบบต่างๆ ด้วยการเข้าไปถือหุ้น
และลงทุนในบริษัทอินเทอร์เน็ตท้องถิ่นในหลายประเทศ ในจำนวนนี้ รวมไปถึงพอยต์เอเชีย
ของกลุ่มล็อกซเล่ย์ ก็มีสิงค์เทลถืออยู่ถึง 41%
แต่ดูเหมือนว่า สิงค์เทลกลับยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการลงทุนอย่างเป็นชิ้นเป็นอันเท่าที่ควร
ยกเว้นการร่วมทุนกับไลคอส ได้ว่าเป็นการรุกขยายเข้าสู่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตที่ชัดเจนที่สุดของสิงค์เทลในช่วง
2 ปีมานี้
เครือข่ายของไลคอส นับเป็นยุทธศาสตร์ ที่จะทำให้สิงค์เทลก้าวกระโดดเข้าสู่เวทีของธุรกิจอินเทอร์เน็ตระดับภูมิภาค
ที่มีคู่แข่งอย่างยาฮูเป็นแรงขับดัน
ไลคอสเอเซีย ใช้เงินลงทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงิน
2,000 ล้านบาท ในเอเชียแปซิฟิกทั้ง 12 ประเทศ ซึ่งรวมไปถึงการซื้อเว็บไซต์ท้องถิ่น
11 เว็บไซต์ กระจายอยู่ใน 9 ประเทศ ทั่วภูมิภาคเอเชีย
การผนวกกิจการระหว่างไลคอส และบริษัท terra network ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจากสเปนที่เข้ามาซื้อกิจการของไลคอส
และเปลี่ยนชื่อเป็น terra lycos ซึ่งผลพวงจากการควบรวมกิจการในครั้งนั้น
จะทำให้ไลคอส ได้ประโยชน์ในเชิงภูมิศาสตร์ มีเครือข่ายสาขาอยู่ใน 42 ประเทศทั่วโลก
ครอบคลุมตั้งแต่ละตินอเมริกา ยุโรป สหรัฐอเมริกา เอเชียแปซิฟิก มากกว่ายาฮู
คู่แข่งคนสำคัญที่มีเครือข่ายใน 20 ประเทศ
ความแข็งแกร่งของยาฮูในญี่ปุ่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไลคอสหันมาเลือกลงทุนในตลาดที่มีขนาดเล็ก
และขนาดกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่ยาฮูยังกระโดดลงมา ไทยจึงถูกเลือกเป็นหนึ่งในตลาดที่ว่านี้
สาขาของไลคอสเอเชียในไทยเป็นเพียงห้องเล็กๆ ใน business center ของอาคารซีพีทาวเวอร์
เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารเว็บไซต์ lycosasia.co.th
เรากำลังหาสถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหม่ กรัณฑฤทธิ์ เกตุสัมพันธ์ ผู้จัดการสาขาประเทศไทย
ไลคอสเอเซีย บอก
ดูเหมือนว่าไลคอสเอเซียจะไม่รีบร้อนเท่าใดนักสำหรับตลาดในเมืองไทย ที่อยู่ในช่วงของการเติบโต
และเริ่มต้นได้ไม่นาน
จนถึงวันนี้ยังไม่มี เว็บไซต์ไหนเป็นอันดับ 1 ในไทย ไม่เหมือนในต่างประเทศ
กรัณฑฤทธิ์บอก และนี่คือโอกาสของเรา
ผู้บริหารระดับสูงชาวสิงคโปร์ของไลคอสเอเซีย ให้สัมภาษณ์ตั้งแต่วันแรกของการลงทุนว่าไลคอสนั้นจะไม่ทุ่มเงินไปกับการขยายตลาดอย่างเร่งรีบ
ถึงแม้ว่าสภาพตลาดอินเทอร์เน็ตที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ของไทยจะเป็น โอกาส
ที่ดีสำหรับไลคอสก็ตาม
ไลคอสเอเซีย ใช้ประโยชน์จากความเป็น เครือข่าย ในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่นำมาใช้ประโยชน์ร่วมจากส่วนกลาง
เช่น เครือข่ายสื่อสาร ซอฟต์แวร์ เครื่องแม่ข่าย ที่สาขาจะใช้ร่วมกันจากบริษัทแม่
แทนที่สาขาแต่ละแห่งจะต้องลงทุนเอง
ในไทยเราใช้โครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง server ระบบ operation
จากบริษัทแม่ ทำให้บริหารต้นทุนได้ต่ำกว่า เพราะเราสามารถบริหารเว็บไซต์จากจุดจุดเดียว
กรัณฑฤทธิ์ บอก
รายได้หลักของไลคอสมาจากโฆษณา ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพายอดผู้เข้าชม (page view)
เพื่อมาเป็นตัวสร้างยอดโฆษณา
โดยทั่วไปแล้วเว็บไซต์ลักษณะนี้ จะอยู่ที่ความหลากหลายของการให้บริการ จะมี
2 ส่วนที่เป็นบริการหลัก คือ ส่วนของ เช่น เครื่องมือในการค้นหาข้อมูล search
engine บริการอีเมล และส่วนที่เป็น content ไลคอสก็เช่นเดียวกัน
ไลคอสไม่ได้สร้างบริการเหล่านี้ขึ้นมาเองทั้งหมด แต่อาศัยพันธมิตรท้องถิ่นเข้าช่วย
ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ไลคอสประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ได้มากกว่าการสร้างขึ้นเอง
การพัฒนาเนื้อหา (content) ไลคอสจะใช้วิธีจับมือพันธมิตร ที่เป็นเจ้าของ
content เช่น สำนักข่าวต่าง กรณีนี้ยังรวมไปถึง การทำ search engine ที่ต้องรองรับภาษาไทย
ที่ไลคอสซื้อเทคโนโลยีนี้มาจากบริษัทสยามกูรู
ไลคอสเองก็ได้รับการตอบรับที่ดี จากการใช้ประโยชน์จากชื่อ brandในการสร้างธุรกิจ
เพราะบรรดาพันธมิตรท้องถิ่นเหล่านี้ก็หวังว่าจะใช้ชื่อของไลคอสเป็นช่องทางใหม่ในการขยาย
content ของพวกเขาให้กว้างขึ้น
แต่สำหรับไลคอสแล้ว มันเป็นเรื่องที่ไลคอสใช้เงินเป็นมากกว่า กรัณฑฤทธิ์บอก
ทำไมเราต้องใช้คนมหาศาล ถ้าจะทำเท่ากับหนังสือพิมพ์ ก็ต้องใช้ทีมงาน 100
คน นี่คือเหตุผล
สิ่งที่ไลคอสต้องทำ จึงเป็นเพียงการคิดโมเดลในการแบ่งรายได้ให้กับพันธมิตรเหล่านี้
ยกเว้นอีเมล ที่เป็นเทคโนโลยี ที่ไลคอสเอเซียพัฒนาขึ้น และใช้ร่วมกัน และใช้เป็นจุดขายของเว็บไซต์
ความเป็นเครือข่ายที่มีสาขาอยู่ทั่วภูมิภาค และทั่วโลก ทำให้อัตราเสี่ยงของไลคอสต่ำกว่าการที่ต้องลงทุนในประเทศเดียว
ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากประเทศเดียว
นัยนี้ยังรวมไปถึงการใช้เครือข่ายทั่วโลกจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องของการหารายได้ให้กับไลคอสในไทย
เช่นเจ้าของโรงแรมสมุย ต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากเยอรมนี หรืออิตาลี
การมีเครือข่ายเว็บไซต์อยู่ทั่วโลกของเราจะช่วยในการเจาะเข้าไปยังลูกค้าในแต่ละประเทศได้
ขณะเดียวกัน เจ้าของสินค้า หรือบริการ จะสามารถเลือกกลุ่มลูกค้าเฉพาะเจาะจงในประเทศอื่นๆ
เช่น เราจะให้โฆษณาออกมาเฉพาะคนที่คีย์หาข้อมูลมาจากอังกฤษ และเยอรมนี กรัณฑฤทธิ์ยกตัวอย่าง
นอกจากนี้ ผลจากการรวมกิจการของบริษัทแม่ นอกจากจะขยายเครือข่ายของไลคอสให้กว้างขึ้นไปอีก
ธุรกิจ ISP ก็กำลังเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่อาจจะทำให้ไลคอสมีความมั่นคงมากกว่าการมีเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว
แ ป ซิ ฟิ ก อิ น เ ท อ ร์ เ น็ ต
บนชั้น 28 ของอาคารเล่าเป้งง้วน ริมถนนวิภาวดีรังสิต เป็นที่ตั้งของบริษัทแปซิฟิก
อินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) มีถิ่นฐานจากสิงคโปร์ ที่เข้ามาลงทุนในไทยเกือบ
1 ปีที่แล้ว
พื้นที่ว่าง โต๊ะเก้าอี้ และจอคอมพิวเตอร์ใหม่เอี่ยมจำนวนมากที่ยังไม่ได้ถูกใช้งาน
เราเตรียมไว้สำหรับขยายงานในอนาคต คำตอบที่เราได้จากปรีธยุตม์ นิวาศบุตร
กรรมการผู้จัดการ บริษัทเวิลด์เน็ท แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด บอกกับ ผู้จัดการ
ในช่วงเย็นวันหนึ่ง
ไอเอสพีรายนี้ ก็เหมือนกับทุนอินเทอร์เน็ตจากสิงคโปร์รายอื่นๆ ที่ได้แรงขับดันในการขยายออกต่างประเทศ
อันเนื่องมาจากจำนวนประชากรที่จำกัดของสิงคโปร์ จึงต้องแสวงหาตลาดใหม่ ๆ
ที่ยังมีโอกาส
ไทยถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 6 ประเทศของเครือข่ายที่แปซิฟิก อินเทอร์เน็ตเข้าไปลงทุน
ด้วยขนาดของจำนวนประชากร และอยู่ระหว่างการพัฒนา
สิงคโปร์มีประชากร 3 ล้านคน ไทยมี 61 ล้านคน ต่างกัน 90% แค่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
20% คิดเป็น 6 ล้านคน 2 เท่าของประเทศสิงคโปร์แล้ว ดังนั้นยังมีโอกาสอยู่มาก
แต่แน่นอนว่าการแข่งขันก็สูงตามไปด้วย
แปซิฟิก อินเทอร์เน็ตเป็นบริษัทในกลุ่มซัมบาวัง ที่เป็นของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ทำธุรกิจขนส่ง
รวมถึงธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์ ไอที ก่อสร้าง และมีศูนย์วิจัยและพัฒนาเป็นของตัวเอง
การเข้ามาลงทุนในไทยของแปซิฟิก อินเทอร์เน็ต เป็นลักษณะของการเข้าซื้อสัมปทานต่อจากบริษัทเวิลด์เน็ท
ของกลุ่มยูคอม ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยกำลังประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจผู้บริหารของยูคอมเวลานั้น
จึงตัดสินใจขายบริษัทเวิลด์เน็ทให้กับแปซิฟิก อินเทอร์เน็ต
โครงสร้างการถือหุ้นของแปซิฟิกอินเทอร์เน็ต ก็เหมือนกับไอเอสพีรายอื่นๆในไทย
นั่นคือ แปซิฟิกอินเทอร์เน็ตกรุ๊ป ได้จัดตั้งบริษัทแปซิฟิก อินเทอร์เน็ต
ประเทศไทยขึ้นโดยถือหุ้นอยู่ 75% อีก 25% เป็นของผู้บริหารเดิมของเวิลด์เน็ท
จากนั้นบริษัทแปซิฟิก อินเทอร์เน็ต เข้าไปถือหุ้นในบริษัท เวิลด์เน็ท 67%
ซึ่งเป็น บริษัทที่รับสัมปทานไอเอสพีจากกสท. โดยกสท. ซึ่งจะถือหุ้นลม 32%
ความน่าเกรงขามของแปซิฟิก อินเทอร์เน็ต อยู่ที่การมีฐานเงินทุนขนาดใหญ่
และเครือข่ายธุรกิจในระดับภูมิภาค ก่อนหน้าจะมาเมืองไทยแปซิฟิก อินเทอร์เน็ต
ลงทุนใน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย อินเดีย
การลงทุนตั้งสาขาในไทย เป็นการนำประสบการณ์ และแบบจำลองมาจากแปซิฟิก อินเทอร์เน็ต
ที่ใช้ได้ผลมาแล้ว ซึ่งโครงร่างเหมือนกันหมดในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นห้องคอมพิวเตอร์
เทคโนโลยี การติดตั้ง
ทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้ง่ายกว่า คือ ถ้ามีปัญหา 1 ชั่วโมงให้หลังนั่งเครื่องบินมา
ปรีธยุตม์ บอก นอกเหนือไปจากต้นทุนของการซื้ออุปกรณ์ที่ถูกลงจากเครือข่ายระดับภูมิภาคของแปซิฟิก
อินเทอร์เน็ต
นอกจากฐานจากบริษัทแม่อย่างเทมาแซก บริษัทแปซิฟิก อินเทอร์เน็ต ยังเป็นไอเอสพีรายเดียวในภูมิภาคที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นแนสแดค
และเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นยังบูมอยู่มาก
แปซิฟิก อินเทอร์เน็ตนั้นเคยได้ชื่อว่า ใช้กลยุทธ์ ราคา มาใช้สร้างฐานลูกค้า
ในสิงคโปร์ จนเป็นที่ฮือฮามาแล้วในช่วงของการเข้าตลาดหุ้นแนสแดค
แต่ปรากฏว่าหลังจากเปิดตัวบริการในไทยขึ้นในเดือนกันยายน 2543 ถึงแม้จะสร้างสีสันในวันเปิดตัว
จุดประทัดแห่สิงโต เพื่อกลิ่นอายของความเป็นสิงคโปร์แล้ว แปซิฟิก อินเทอร์เน็ต
ไม่ได้หอบเอากลยุทธ์การตลาดราคามาใช้ตามที่คาดหมายกันไว้ หรือแม้แต่การใช้การตลาดในเชิงรุก
ความต้องการของแปซิฟิกอินเทอร์เน็ตในเวลานั้น ต้องการสร้างชื่อสินค้าให้เป็นที่รู้จัก
และการใช้ประโยชน์จาก เว็บไซต์ pacfution ซึ่งเป็นเว็บไซต์ ที่แปซิฟิกอินเทอร์เน็ต
ในสิงคโปร์สร้างขึ้นมาเป็นส่วนเสริมในการสร้างกิจกรรมเพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการ
access
แปซิฟิก อินเทอร์เน็ต ถูกประเมินว่าไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการขยายฐานลูกค้าเท่าที่ควร
เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงใช้ ราคามาเป็นตัวตัดสิน ถึงแม้ว่าแปซิฟิก อินเทอร์เน็ต
จะประกาศนโยบายไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า จะไม่ลงมาแข่งในเรื่องราคา เพื่อต้องการมุ่งไปที่ลูกค้าที่ใช้บริการรายเดือนและลูกค้าองค์กร
แต่ก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนักในตลาดที่มี ISP เจ้าเดิมยึดครองฐานลูกค้า และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารชุดเดิมต้องยกทีมลาออก
หลังจากได้ ปรีธยุตม์ นิวาศะบุตร อดีตผู้จัดการภาคพื้นประเทศไทย บริษัทมาสเตอร์การ์ด
มานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แปซิฟิก อินเทอร์เน็ต ก็เปิดตัวออกสู่ตลาดอีกครั้ง
แปซิฟิก ไม่ต้องการรวยที่สุด แต่ต้องการเป็นไอเอสพีดีที่สุด คือคำประกาศตัวของเอ็มดีคนใหม่
ประเด็นสำคัญของการเปิดตัวในครั้งนี้ ยังคงให้น้ำหนักไปที่กลุ่มลูกค้าประเภทองค์กร
และสมาชิกรายเดือน มากกว่าจะเน้นการขายบริการรายชั่วโมง (kits) ที่มีไว้สำหรับเป็นการแนะนำบริการมากกว่าจะทำรายได้
ไม่คุ้ม เหตุผล ของปรีธยุตม์ ที่ขยายความได้ว่า ต้นทุนของการทำธุรกิจไอเอสพียังสูงอยู่มาก
โดยเฉพาะอัตราค่าวงจรต่างประเทศที่แพงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ในขณะที่ธุรกิจอินเทอร์เน็ต เป็นธุรกิจที่ต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วงจรเช่าระหว่างประเทศ และคู่สายโทรศัพท์ ยิ่งลูกค้ามากขึ้นเท่าไรหมายถึงต้นทุนต้องเพิ่มตามไปด้วย
การเลือกกลุ่มเป้าหมายจึงเชื่อมโยงกับโครงสร้างต้นทุนอย่างแยกไม่ออก
ลูกค้ารายชั่วโมง หรือ kits จะเป็นตลาดใหญ่ของเมืองไทย แต่ข้อเสียของลูกค้ากลุ่มนี้คือ
ระยะเวลาการใช้ที่สั้นกว่า ของลูกค้าที่ใช้รายชั่วโมง หรือ kits และการเปลี่ยนแปลงสูงมาก
เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้ จะยึด ราคา เป็นหลัก
สู้เอามาลงทุนในกลุ่มพวกคนทำงาน หรือที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ตจริงจัง พวกนี้จะทำรายได้ต่อเนื่อง
แต่คุณภาพของเราก็ต้องดีด้วย
มาตรฐานของที่ถูกวางไว้ คือ การเตรียมวงจรระหว่างประเทศ รองรับลูกค้าให้ใช้งานไม่เกิน
80% หากลูกค้าเพิ่มเกิน 80% จึงจะเพิ่มวงจรต่างประเทศ จะทำให้บริษัทไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก
การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ที่ไม่จำเป็นต้องอัดฉีดงบจำนวนมาก นอกไปจากการสร้างกิจกรรมเพื่อเจาะไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าองค์กร
และลูกค้าประเภทสมาชิกรายเดือน เช่น การสะสมไมล์สำหรับเป็นส่วนลดร้านค้าในการใช้บริการ
หรือซื้อสินค้า
การมุ่งไปที่ลูกค้าประเภท องค์กร ยังมีนัยที่สำคัญมากไปกว่านั้น แปซิฟิก
อินเทอร์เน็ต ก็เหมือนกับไอเอสพีของไทยอีกหลายราย จากสภาพการแข่งขันของธุรกิจ
ISP ที่เป็นอยู่โดยเฉพาะในเรื่องของราคา บวกกับความเข้มแข็งของผู้ประกอบการที่ครองตลาดอยู่เดิม
การหวังพึ่งเพียงรายได้จากค่า access อย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องหารายได้จากส่วนอื่นเข้ามาเสริม
เป้าหมายของแปซิฟิกอินเทอร์เน็ต คือ การขยายไปสู่การบริการ solution provider
เช่น บริการติดตั้งระบบ แลน บริการรับฝากเว็บไซต์ แม้กระทั่งบริการติดตั้งและบำรุงรักษา
ซึ่งเป็นส่วนเสริมจากบริการเดิมที่มีอยู่แล้ว การมุ่งจับลูกค้าประเภทองค์กร
ก็เพื่อตอบสนองทิศทางของการเป็น solution provider
ธุรกิจ ไอเอสพี มันเป็น curv แรกเท่านั้น ก้าวต่อไปเราก็ต้องพัฒนาไปสู่บริการ
IDC และ ASP แต่ราต้องทำก้าวแรกให้มั่นคงก่อน
เครือข่ายของแปซิฟิก อินเทอร์เน็ตในสิงคโปร์ เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ IDC
ที่มีการลงทุนโครงข่าย VPN ที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายสาขาของแปซิฟิก อินเทอร์เน็ต
ทั้ง 6 ประเทศ
แต่การลงทุนในแต่ละประเทศ จะมียุทธศาสตร์ที่เป็นของตัวเอง แปซิฟิก ประเทศไทย
ไม่จำเป็นต้องลงทุนทำธุรกิจ IDC เวลานี้ หากสามารถใช้ประโยชน์จากพันธมิตร
เช่น การจับมือกับ istt-เนชั่น ผู้ให้บริการ IDC และการร่วมมือกับสยามทูยู.คอม
แทนที่จะต้องลงทุนสร้างเว็บไซต์ แพคฟิวชั่น.คอม ขึ้นใช้งานในไทย
ผมไม่เห็นความจำเป็นต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ถ้าเราทำทุกอย่างร่วมกันได้
การร่วมมือกันของทั้ง 2 เป็นผลประโยชน์ร่วมกันแบบ win-win แปซิฟิก อินเทอร์เน็ต
จะเรียนรู้ธุรกิจ IDC ได้จากการเป็นไอเอสพีให้กับ istt-เนชั่น ในขณะที่ istt-เนชั่น
จะมีบริการ access ให้กับลูกค้าได้เลือก ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นของธุรกิจประเภทนี้
ลึกลงไปกว่านั้น แปซิฟิก อินเทอร์เน็ต และ istt ต่างก็เป็นเครือข่ายกลุ่มทุนอินเทอร์เน็ตจากสิงคโปร์
ที่มี่ผู้ถือหุ้นเดียวกัน การร่วมมือของทั้งสองจึงเป็นการผนึกกำลังข้ามประเทศ
โมเดลการร่วมมือเหล่านี้ก็เกิดขึ้นมาแล้ว และไทยเป็นผลพวงที่เกิดขึ้น
n e t w o r k s t r a t e g y
แ ค พ เ พ ล ผ นึ ก เ อ อ า ร์ ก รุ๊ ป
แคพเพล เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ ทรานสปอร์ตเทชั่น (capel t&t) เป็นกลุ่มทุนธุรกิจขนาดใหญ่จากสิงคโปร์
ที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจอินเทอร์เน็ตในไทย ผ่านกลุ่มเออาร์กรุ๊ป ที่มีทั้งธุรกิจสิ่งพิมพ์
และธุรกิจบริการข้อมูลออนไลน์ ที่กลุ่มนี้ได้วางรากฐานไว้ตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว
ในสิงคโปร์ แคพเพล ทีแอนด์ที เป็นธุรกิจในเครือข่ายของ แคพเพลกรุ๊ป เจ้าของเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่
ซึ่งมี TEMASEK ของรัฐบาลสิงคโปร์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ธุรกิจหลักของแคปเพลทีแอนด์ที
มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจทรานสปอร์ตเทชั่นและโทรคมนาคม เป็นเจ้าของท่าเรือ เครือข่ายธุรกิจโทรศัพท์มือถือ
m-one และสื่อสารอื่นๆ ในช่วงหลังเริ่มขยายเข้าสู่อินเทอร์เน็ต จัดตั้งบริษัทดาต้าวัน
ผู้ให้บริการ Internet data center (IDC)
การเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของสิงคโปร์รายนี้เกิดขึ้นในช่วงไทยกำลังเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจ
การลงทุนของแคพเพลในช่วงแรก ไม่ได้เข้าซื้อหุ้นจากเออาร์กรุ๊ปโดยตรง แต่เป็นการซื้อหุ้น
20% ในส่วนของ คอสเพอร์โก้ venture capital (vc) จากสวิตเซอร์แลนด์ ที่เข้ามาลงทุนในบริษัทเอนิว
ตั้งแต่ปี 2542
ถึงแม้ว่า คอสเพอร์โก้จะเป็นแหล่งเงินทุนชั้นดี เพราะมีทั้งธุรกิจธนาคาร
และไฟแนนซ์อยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่เมื่อเทียบกับแคพเพลแล้ว รากฐานธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่สามารถเกื้อกูลกับกลุ่มเออาร์ได้มากกว่า
หุ้น 40% ที่คอสเพอร์โก้ถืออยู่ใน เอนิวส์ จึงถูกขายให้กับแคพเพล
่ช่วงหลังเราค่อยๆ ดึงเอาแคปเพลเข้าทยอยซื้อหุ้นจาก 20% จนครบ 40% ที่คอสเพอร์โก้ถือหุ้นอยู่
พัชรา เกียรตินันทวิมล กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอดวานซ์ รีเสิร์ช กรุ๊ป บอกกับ
ผู้จัดการ
หลังจากเข้ามาถือหุ้น 40% ในบริษัทเอนิวส์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มเออาร์
ที่ทำธุรกิจออนไลน์ มีธุรกิจไอเอสพี และธุรกิจให้บริการข้อมูล หรือ bol ปีที่แล้วแคพเพลยังเข้าไปถือหุ้น
ในเออาร์กรุ๊ปโดยตรงอีก 45%
เขามาลงตรงออนไลน์ก่อน พอเขามาลงแล้ว รู้ว่าแนวโน้มธุรกิจไม่ได้อยู่ตรงนี้เท่านั้น
แต่ธุรกิจเชื่อมโยงกันหมด มันเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน แคพเพลจึงตัดสินใจมาลงที่บริษัทแม่
แจ๊ค มินทร์ อิงค์ธเนศ ร่วมกับนักวิชาการคอมพิวเตอร์ในยุคนั้น ก่อตั้งขึ้นมาในปี
2531 เริ่มต้นธุรกิจมาจากการทำข้อมูล เน้นหนักไปในเรื่องของ การทำนิตยสารทางด้านไอที
และคอมพิวเตอร์ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และงานวิจัยในเชิงวิชาการ ข้อมูลด้านบัญชี
ต่อมาได้เริ่มขยายธุรกิจทางอินเทอร์เน็ต เปิดเว็บไซต์ ไทยเมล.คอม ให้บริการอีเมลฟรีให้ลูกค้า
แต่ธุรกิจของเออาร์ก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม
จนกระทั่งในปี 2538 กลุ่มเออาร์ได้เริ่มขยายเข้าสู่ธุรกิจบริการข้อมูลธุรกิจ
ออนไลน์ และได้จัดตั้งกลุ่มเอนิวส์ขึ้นมาเพื่อรองรับกับธุรกิจนี้ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญในเวลาต่อมา
บิสซิเนส ออนไลน์ หรือ บีโอแอล เป็นบริษัทในกลุ่มเอนิวส์ รวมทุนกับธนาคารกรุงเทพ
และกสิกรไทย (ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทย ถอนหุ้นออกไปแล้วเหลือแต่เพียงธนาคารกรุงเทพ
ที่ยังถือหุ้นอยู่ 8%) เพื่อรับสัมปทานให้บริการข้อมูลการค้าออนไลน์ จากกรมทะเบียนการค้า
กระทรวงพาณิชย์ เป็นการนำข้อมูลของบริษัทที่จดทะเบียนจากกรมการเงินมาคีย์เข้าคอมพิวเตอร์
และนำไปขายผ่านบริการออนไลน์ให้ลูกค้า และธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี)
อยู่ภายใต้บริษัทเอเน็ท ซึ่งเอนิวส์ถือหุ้นอยู่ 100%
การถือกำเนิดของบีโอแอลในช่วงแรก ไม่ราบรื่นนัก เพราะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก
ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนถึง 3 ครั้ง และยังต้องอาศัยระยะเวลา และคนจำนวนมากในการคีย์ข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์
เราต้องจ้างคนมาเก็บข้อมูล จาก 50 จอ เป็น 100 จอ ต้องใช้เวลานาน กว่าจะเก็บข้อมูลเสร็จ
ข้อมูลก็ล้าสมัยแล้ว แต่เราก็ยังสู้ทำมาตลอด
จนกระทั่งเมื่อการเก็บข้อมูลเริ่มสมบูรณ์ ช่องทางการให้บริการข้อมูลสะดวกขึ้น
โดยการขายผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านบริษัทเอเน็ท เป็นบริษัทในกลุ่มเอนิวส์ ซึ่งได้รับสัมปทานเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
ไอเอสพีจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย
เรากัดฟันขาดทุนมา 4 ปี แถมลูกค้าไม่ได้เติบโตหวือหวา แต่ถ้าใช้แล้วจะอยู่ตลอด
เราก็ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เพื่อป้อนลูกค้า และขยายฐานลูกค้าไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าบีโอแอลจะไม่ทำรายได้หวือหวา
แต่บีโอแอลกลับเป็นตัวที่สร้างมูลค่าธุรกิจ ที่จะใช้ต่อยอดขยายไปยังธุรกิจในด้านอื่นๆ
ในเวลาต่อมา
บริษัทดัน แอนด์ บัสสตรีท บริษัทขายข้อมูลออนไลน์ข้ามชาติ ที่มีเครือข่ายการลงทุนอยู่ทั่วโลกเข้ามาลงทุนร่วมก็ด้วยเหตุผลนี้
และทั้งสองยังได้ร่วมกันเข้าทำสัญญาบริการข้อมูลเครดิตบุคคล ร่วมกับ 13 ธนาคารพาณิชย์ของไทย
ซึ่งเป็นโครงการที่แบงก์ชาติริเริ่มขึ้นมา
ถึงแม้ว่าบริการข้อมูลเริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้น อีกทั้งความพร้อมของเออาร์กรุ๊ปเพิ่มขึ้นตามลำดับ
มีธุรกิจหลากหลายขึ้น แต่การขยายตัวของเออาร์กรุ๊ปในเวลานั้นก็ยังทำได้ในขีดจำกัด
เพราะขาดแหล่งเงินทุน ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย
การเข้ามาลงทุนของแคปเพล ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจของไทยที่ทำให้หลายธุรกิจต้องล้มระเนระนาดลง
จึงเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของเออาร์กรุ๊ป ที่จะอาศัยทั้งเงินทุน และ khowhow
ของกลุ่มนี้ ขยายธุรกิจออกไปทั้งในแนวกว้าง และแนวลึก
การขยายธุรกิจในครั้งนี้ นอกเหนือจากกลุ่มสิ่งพิมพ์ที่มีการขยายธุรกิจในแนวลึกแล้ว
เออาร์กรุ๊ปยังมุ่งไปธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอินเทอร์เน็ตแทบทั้งสิ้น
บริษัท ACERTS จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว เพื่อทำธุรกิจ CA (Certificate
of Authority) บริการในลักษณะนี้จึงเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐาน ในเรื่องของความปลอดภัย
รองรับกับธุรกิจ e-commerce โดยเฉพาะ
ธุรกิจการเป็น CA คือการเป็นตัวกลางที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบ และรองรับความปลอดภัยในการส่งผ่านข้อมูล
และการซื้อขายสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต ว่าเป็นผู้ซื้อและผู้ขายมีอยู่จริง
นอกเหนือจากการใช้ประโยชน์ภายในแล้ว ยังให้บริการแก่องค์กรทั่วไป ในลักษณะของตัวกลางที่จะทำหน้าที่รับประกันการค้าขายในโลกออนไลน์
ธุรกิจนี้จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูงในการวางระบบ ซึ่งพัชราคาดว่าจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า
100 ล้านบาท จะมีพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศมาร่วมทุนด้วย ธุรกิจนี้ต้องมีการลงทุน
ซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ต้องมีการร่วมทุนทั้งต่างชาติ และบริษัทในประเทศ
บริษัท ASYS ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อนำเข้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่อพ่วงที่จะใช้เสริมให้กับธุรกิจ
ISP และบริการของบีโอแอล
บริษัท Consumer & Commercial Credit Bureau Opertoar (CCIS) หรือบริการให้เครดิตบูโร
ที่ได้สัญญาจากสมาคมธนาคาร มาตั้งแต่ 2542 และเซ็นสัญญาร่วมทุนไปเมื่อปี
2543 และอยู่ระหว่างดำเนินการ
การขยายสาขาร้าน AR4U ร้านค้านี้ไม่เพียงแต่จะเป็นช่องทางในการขายหนังสือในโลกการค้าที่เป็นจริง
ที่จะรองรับกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ของเออาร์กรุ๊ปเท่านั้น แต่ยังรองรับกับธุรกิจอินเทอร์เน็ต
ในส่วนที่เป็นบริการออนไลน์ ซึ่งจะเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า
100 ล้านบาท
พัชราให้คำจำกัดความศูนย์ของความรู้ ที่จะให้ทุกคนมาหาความรู้ และบันเทิงด้วย
คอมพิวเตอร์ไว้ให้บริการค้นหาข้อมูล
ผลจากการขยายตัวของเออาร์กรุ๊ปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทแห่งนี้ต้องมีการจัดกล่มธุรกิจใหม่ออกเป็น
4 กลุ่ม คือ กลุ่มบริการข้อมูลธุรกิจออนไลน์ กลุ่มธุรกิจช่องทางจัดจำหน่าย
กลุ่มบริการให้คำปรึกษา ซึ่งจะครอบคลุมธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฝึกอบรม
และบริการ call center กลุ่มธุรกิจการศึกษาและสิ่งพิมพ์ ทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจนี้จะมีการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากธุรกิจร่วมกัน
การรุกขยายธุรกิจทั้งหมดที่ว่า นอกจากจะมีผลต่อทิศทางที่มีผลต่อเออาร์กรุ๊ปในอนาคต
ยังหมายถึงก้าวย่างของแคปเพล ที่จะใช้ประโยชน์จากฐานของเออาร์กรุ๊ป เป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งในการบุกขยายสู่ธุรกิจอินเทอร์เน็ต
ในอีกด้านหนึ่ง แคปเพลงก็ได้รุกเข้าส่ธุรกิจศูนย์ข้อมูลดาต้าเซ็นเตอร์ หรือ
Internet data center (IDC) ซึ่งเป็นการลงทุนโดยตรงจากบริษัทดาต้าวันเอเชีย
บริษัทลูกของแคพเพล ทีแอนด์ที โดยตรง จุดมุ่งหมายของดาวันเอเชีย ประเทศไทย
ไม่ต่างไปจาก IDC รายอื่นๆ นั่นก็คือ การสร้างเครือข่ายการให้บริการไปทั่วภูมิภาค
และไทยเป็นแห่งที่ 2 ของเครือข่าย IDC ของดาต้าวันเอเชีย ก่อนขยายไปที่มาเลเซีย
และฟิลิปปินส์
ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์แห่งนี้ มีเนื้อที่ 10,000 ตารางฟุต ตั้งขึ้นอยู่บนชั้น
27 และ 28 อาคารสหวิริยาโอเอ ริมถนนพระราม 3 ใช้เงินลงทุนเบื้อต้น 280 ล้าน
สิ่งที่พวกเขาต้องทำ ก็คือ การสร้างศูนย์ IDC ขึ้นตามมาตรฐานเดียวกับที่สิงคโปร์
คือ ระบบที่จะสามารถรับประกันการให้บริการแก่ลูกค้า องค์กรธุรกิจ หรือ รัฐบาลให้มาเช่าใช้บริการที่ศูนย์
IDC ได้โดยไม่ข้อบกพร่อง ซึ่งถือเป็นหัวใจของธุรกิจ IDC
การให้บริการไอดีซี จึงเท่ากับเป็นบริการโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนึ่ง ของธุรกิจอินเทอร์เน็ต
ในการจะให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้หลากหลาย และครอบคลุมมากที่สุด
ไอดีซ ไม่ต้องการ innovationมากในเรื่อง operation แต่ต้องใช้ innovation
ในการที่ต้องจัดสรรแอพพลิเคชั่นต่างๆ ให้ลูกค้าเลือกมากที่สุด นั่นหมายถึงการเปิดกว้างทุก
platform โสจิพรรณ นาคสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทดาต้าวันเอเชีย ประเทศไทย
บอกกับ ผู้จัดการ
่ IDC เป็นธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นในไทย และดาต้าวันเอเชีย ไม่ใช่รายเดียวในตลาด
แต่ยังมีบรรดาไอเอสพีท้องถิ่น ที่ต่อยอดธุรกิจไปให้บริการ IDC แล้ว ยังต้องแข่งขันกับธุรกิจ
IDC จากสิงคโปร์ด้วยกันเอง รวมถึง IDC จากฮ่องกง และญี่ปุ่น ที่กำลังทยอยเข้าสู่ตลาด
การบุกเบิกเข้ามาลงทุนในเออาร์กรุ๊ปของแคพเพลจะทำให้ดาต้าวันเอเชีย สามารถใช้ประโยชน์จาก
เครือข่ายธุรกิจของเออาร์กรุ๊ป ทั้งในเรื่องของ content และสื่อสิ่งพิมพ์
และออนไลน์ ธุรกิจไอเอสพี จะเอื้อประโยชนให้ธุรกิจ
แม้ว่าเวลานี้เออาร์กรุ๊ปยังไม่ได้เข้าไปถือหุ้นในดาต้าวันเอเชีย ประเทศไทย
พัชรา ให้เหตุผลว่า อยู่ระหว่างการเลือกว่าจะให้เออาร์กรุ๊ปถือโดยตรง หรือให้บริษัทลูกเข้ามาถือ
แต่ทีมงานบางส่วนของเออาร์กรุ๊ปได้ย้ายมานั่งทำงาน โสจิพรรณ นาคสกุล ลูกหม้อของเออาร์กรุ๊ป
ที่ดูแลธุรกิจบริการข้อมูลออนไลน์ บีโอแอล ย้ายมานั่งเก้าอี้ กรรมการผู้จัดการ
ดาต้าวันเอเชียประเทศไทย คู่ไปกับการดูแล บีโอแอล ก็ด้วยเหตุผลนี้ เพราะทั้งสองบริษัทจะมีฐานเดียวกัน
นั่นคือ ลูกค้าองค์กร
และนี่ก็คือ ส่วนหนึ่งของการสร้างเครือข่ายภูมิภาค คู่สายที่เชื่อมโยงที่สาขาของดาต้าวันเอเชีย
เพื่อส่งผ่านข้อมูลของลูกค้า จะเป็นหนึ่งในเครือข่ายที่จะถูกโยงใยไปทั่วภูมิภาคเอเชีย
อันเป็นหนึ่งในก้าวย่างของทุนสิงคโปร์ ที่ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น
สิ ง ค์ เ ท ล กั บ พ อ ย ต์ เ อ เ ชี ย
นอกเหนือจากมีไลคอสไว้เป็นเครื่องมือในการุกธุรกิจอินเทอร์เน็ต ระดับภูมิภาคแล้ว
ในอีกด้านหนึ่งสิงคโปร์เทเลคอม หรือสิงค์เทล ก็กำลังต่อ จิ๊กซอว์ธุรกิจอินเทอร์เน็ตในระดับท้องถิ่น
อย่างเช่น การลงทุนในพอยต์เอเชีย เอเชียดอทคอม ก็เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ จากธุรกิจอินเทอร์เน็ต
สิงคเทลไม่ใช่หน้าใหม่สำหรับเมืองไทย บริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์รายนี้
เข้ามาลงทุนในไทย 15-16 กว่าปีที่แล้ว ผ่านกลุ่มชินคอร์ป จนอาจพูดได้ว่า
ทั้งสองเติบโตขึ้นในไทยพร้อมๆ กัน ทุกวันนี้ไม่เพียงสิงค์เทลยังคงถือหุ้นและบริหารงานหลักในชินดาต้าคอม
ทำธุรกิจอินเทอร์เน็ต บริษัทโฟนลิ้งค์ สิงค์เทลยังเพิ่มบทบาทการลงทุนในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่มชินคอร์ป
นอกจากการมีหุ้นในเอไอเอสแล้ว ล่าสุดยังเข้าถือหุ้นในบริษัทดิจิตอลโฟน ผู้ให้บริการภายใต้ชื่อ
จีเอสเอ็ม 1800
แต่สำหรับอินเทอร์เน็ตแล้ว สิงค์เทลเลือกพอยต์เอเชีย ของกลุ่มล็อกซเล่ย์เป็นพันธมิตร
ล็อกซเล่ย์ เป็นองค์กรที่มาจากวัฒนธรรมธุรกิจเก่าแก่ของโลกธุรกิจใบเก่า
ที่ผันตัวเข้าสู่ธุรกิจอินเทอร์เน็ต อย่างต่อเนื่อง และเข้มข้น ที่สุดรายหนึ่งในไทย
การเติบโตมาจากองค์กรที่มีพื้นฐานของการทำธุรกิจ สำหรับลูกค้าประเภทองค์กรขนาดใหญ่
ธนาคาร หน่วยงานราชการ ทำให้การวางรากฐานธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตของล็อกซเล่ย์
ซึ่งเริ่มมาจากธุรกิจไอเอสพี ในชื่อของล็อกซอินโฟ จึงถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานเดียวกัน
ซึ่งตลาดขององค์กรธุรกิจ ไม่ใช่ตลาดระดับ mass
การสร้างรูปแบบบริการให้อยู่บนมาตรฐานความต้องการของลูกค้า ที่เป็นองค์กรธุรกิจ
ที่ต้องการคุณภาพของบริการที่ดี ไม่ใช่เรื่องของราคา ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ล็อกซอินโฟแตกต่างไปจากไอเอสพีรายอื่นๆ
และนี่เองที่ทำให้ธุรกิจอินเทอร์เน็ตของล็อกซเล่ย์ มีมูลค่าในสายตาของนักลงทุน
หลังจากได้เงินทุนจาก Zesiger Capital Group เวนเจอร์แคปปิตอลจากนิวยอร์ก
เข้ามาอัดฉีดเงินลงทุน 400 ล้านบาท ทำให้เป้าหมายของล็อกซเล่ย์ไม่ได้อยู่ที่ขยายธุรกิจเท่านั้น
แต่ยังหมายถึงการเข้าตลาดหุ้น
บริษัทพอยต์เอเชีย ก่อตั้งขึ้นเดือนธันวาคม ของปี 2543 เพื่อใช้เป็นเรือธงของธุรกิจอินเทอร์เน็ต
การทำธุรกิจของบริษัทจะครอบคลุมธุรกิจอินเทอร์เน็ตทุกๆ ด้าน ไม่เพียงแค่ไอเอสพี
ที่เป็นรายได้หลัก 80% แต่ต้องการแสวงหาโอกาสในธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวางระบบ
ทำเว็บไซต์ พัฒนา content ให้บริการ e-commerce ทั้งลูกค้าองค์กร และรายบุคคล
เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทแห่งนี้ให้มากที่สุด
ถึงแม้ว่า พอยต์เอเชียพยายามที่จะรุกเข้าไปธุรกิจอินเทอร์เน็ตในทุกๆ ด้านอย่างไร้ขอบเขตจำกัด
เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ จากธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ในอีกด้านหนึ่ง
วสันต์ จาติกวนิช ผู้บุกเบิกธุรกิจอินเทอร์เน็ต ของล็อกซเล่ย์ รู้ดีว่า มูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจนี้อยู่ที่การใช้ประโยชน์ในองค์กรธุรกิจ
ไม่ใช่รายได้จากโฆษณา
นอกเหนือจากการนำกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี ที่ทำเกี่ยวกับการวางระบบ คอมพิวเตอร์
และไอทีมาเป็นทัพหนุน เสริมให้ธุรกิจในพอยต์เอเชีย มีรายได้ที่มั่นคงขึ้น
ก็คือ การรุกไปยังลูกค้าองค์กร การให้บริการระหว่างองค์กรกับองค์กร
การได้ Citicorp capital Asia เข้ามาถือหุ้น 6.80% จึงไม่มีความหมายเท่ากับการได้สิงค์เทลเข้ามาถือหุ้น
ในพอยต์เอเชียถึง 31.07% หรือคิดเป็นมูลค่า การลงทุน 23 ล้านเหรียญสิงคโปร์
สิงค์เทลนั้นนอกจากธุรกิจโทรคมนาคม ที่เป็นหัวใจหลักแล้ว ในระยะหลังก็ได้แสวงหาโอกาสใหม่ๆ
ในธุรกิจอินเทอร์เน็ต ก่อนหน้าการลงทุนในพอยต์เอเชีย สิงค์เทลลงทุนในบริษัท
ฟรีไอ.เน็ต เอเชียแปซิฟิก ผู้ให้บริการฟรีอินเทอร์เน็ต ที่มีเครือข่ายธุรกิจ
ในสิงคโปร์ บรไูน มาเลเซีย อินโดนีเซีย จึงมีการคาดหมายกันว่า อาจเป็นไปได้ที่ว่า
สิงค์เทลจะนำบริการนี้เข้ามาในไทย และเป็นเหตุผลที่ทำให้สิงค์เทลเลือกพอยต์เอเชีย
ซึ่งเป็นผู้ให้บริการไอเอสพีรายใหญ่รายหนึ่งในไทย
นอกจากนี้ การลงทุนของสิงค์เทล จะทำให้พอยต์เอเชียได้ใช้ประโยชน์จากการลงทุนของสิงค์เทล
ขยายตลาดออกไปในส่วนภูมิภาค อินโดนีเซีย และเวียดนาม และประเทศอื่นๆ หลายคนเชื่อว่า
ประสบการณ์ และเครือข่ายเหล่านี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับพอยต์เอเชียไม่มากก็น้อย
แต่ดูหมือนว่า พอยต์เอเชียยังไม่ได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ของพันธมิตรข้ามชาติ
ให้กับพอยต์เอเชีย ตามที่คาดหมายกันไว้ นอกจาก เงินทุน และภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น
เราอยากให้เขามาช่วยในหลายๆ ด้าน แต่ไม่ได้ทำได้อัตโนมัติ เพราะเขาไม่มีคนมานั่งประจำทีนี่
คนเขามีจำกัด และสำหรับเขาก็อาจจะเป็นการลงทุนเล็กๆ เขาจึงต้องไปทำเรื่องที่ใหญ่กว่าก่อน
วสันต์ บอกกับ ผู้จัดการ นับเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการได้พันธมิตรระดับชาติเข้ามาลงทุน
แต่นั่นอาจเป็นเพราะโมเดลของธุรกิจที่ยังไม่สามารถเกื้อกูลกันอย่างชัดเจน
และการตกต่ำของธุรกิจดอทคอม ที่ต้องระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น
ยกเว้น บริการศูนย์ข้อมูล Internet data center ที่เวลานี้ยังเป็นการลงทุนพอยต์เอเชีย
100% ที่กำลังเป็นยุทธศาตร์ที่สำคัญของกลุ่มทุนสิงคโปร์ ซึ่งสิงค์เทลก็เป็นหนึ่งในนั้น
สิงค์เทล ก็เหมือนกับกลุ่มทุนสิงคโปร์เกือบทุกรายในเวลานี้ ที่มีการลงทุน
IDC อยู่ทั่วภูมิภาคเอเชีย การจัดตั้ง พอยต์เอเชีย ไอดีซี จึงเท่ากับเป็นหนึ่งในเครือข่ายของ
IDC ของสิงค์เทล ที่จะถูกใช้ประโยชน์ร่วมกัน
สิ่งที่พอยต์เอเชีย ไอดีซี จะได้รับจากสิงค์เทลในเบื้องต้น ก็คือ การสนับสนุนในเรื่องการตลาด
กรณีที่ลูกค้าต้องการเปิดสาขาในต่างประเทศ โดยใช้อินเทอร์เน็ต จะมาใช้เครือข่าย
IDC ตามประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชีย
เช่นเดียวกันเมื่อลูกค้าของสิงค์เทลในต่างประเทศเข้ามาเปิดสำนักงานในไทย
ก็จะใช้บริการของพอยต์เอเชียเช่นกัน
สิงค์เทล ส่งทีมงานเข้ามาช่วย และแสดงความสนใจ ที่จะเข้ามาถือหุ้นโดยตรงในบริษัทพอยต์เอเชีย
อินเทอร์เน็ต ดาต้าเซ็นเตอร์ด้วย แต่เวลานี้อยู่ในขั้นเจรจากันอยู่
และนี่คือ บริบทแรกของการเริ่มต้นที่กำลังเกิดขึ้นจากเครือข่ายข้ามชาติรายนี้
i - s t t เ น ชั่ น
แนวคิดของแคพเพล ไม่แตกต่างไปจากกลุ่ม สิงคโปร์ เทคโนโลยี เทเลมีเดีย (STT)
ที่เลือกลงทุนธุรกิจอินเทอร์เน็ตกับกลุ่มเนชั่น มาเป็นพันธมิตร
เนชั่น เติบโตมาจากธุรกิจสิ่งพิมพ์ และได้พยายามขยายบทบาทของตัวเองไปยังสื่อต่างๆ
ทั้งในวิทยุ และทีวี เคเบิลทีวี
ในช่วงที่วิกฤติเศรษฐกิจของไทยเริ่มต้น เนชั่น อาศัยความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับสิ่งพิมพ์ด้วยกัน
โดยวางตัวเองเป็น content provider ที่มีสื่อทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ ทีวี ที่เป็นทั้งภาษาไทย
และอังกฤษ มาสร้างความโดดเด่นในเรื่องของอินเทอร์เน็ต
เนชั่นไม่ได้มองอินเทอร์เน็ตเป็นแค่ สื่อ ใหม่ ที่จะเป็นช่องทางเผยแพร่content
เพิ่มขึ้นท่านั้น แต่ต้องการเป็นผู้เล่นคนสำคัญในธุรกิจนี้ แบบครบวงจร
บริษัทเนชั่น ดิจิตอล มีเดีย ที่ถือหุ้นโดย เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ถูกตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน
100 ล้านบาท
จิ๊กซอว์ตัวแรกของเนชั่น เว็บไซต์ thailand.com เป็นการลงทุนระหว่างกลุ่มเนชั่น
และผู้บริหารของ thailand.com เนชั่นตั้งความหวังไว้ว่าเว็บท่านี้จะเป็นตัวนำร่องไปสู่ธุรกิจ
e-commerce โดยมุ่งไปที่ธุรกิจส่งออก การท่องเที่ยว ที่จะมาใช้บริการของเว็บไซต์นี้เผยแพร่สินค้าและบริการไปทั่วโลก
แต่ดูเหมือนว่า เนชั่น ก็ยังต้องใช้เวลา การทุ่มเททั้งเงินทุน กำลังคน ในการผลักดัน
thailand.com ไปอีกพักใหญ่ โดยที่เนชั่นยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธุรกิจได้ในเร็ววัน
เวลานี้เนชั่นเองก็อยู่ระหว่างการหาแสวงพันธมิตรข้ามชาติ ที่จะมาอัดฉีดเงินทุน
สร้างประสบการณ์ และโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจอินเทอร์เน็ต
การร่วมทุนกับบริษัท สิงคโปร์ เทคโนโลยี แอนด์ เทเลมีเดีย หรือ เอสทีที
ในการทำธุรกิจศูนย์ข้อมูล Internet Data center หรือ IDC ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี
2543 ก็ด้วยเหตุผลเหล่านี้
บริษัทที่ทั้งสองจัดตั้งรวมกันในครั้งแรก ใช้ชื่อว่า เอสทีที-เนชั่นดอทคอม
โดยที่เอสทีทีจะเป็นถือหุ้นใหญ่ 60% กลุ่มเนชั่น 40% ซึ่งต่อมาได้ถูกเปลี่ยนมาใช้ชื่อ
i-stt เนชั่น แทน เนื่องจากเอสทีที ได้ให้บริษัทลูก คือ i-stt ที่ทำธุรกิจ
IDC โดยตรงเข้ามาดำเนินธุรกิจแทน
การจับมือกับ i-stt นับเป็นการรุกขยายธุรกิจอินเทอร์เน็ตในอีกรูปแบบหนึ่ง
ที่เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานของบริการอินเทอร์เน็ต และเป็นธุรกิจที่เนชั่น
จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ และ knowhow จากบริษัทข้ามชาติแห่งนี้ในการตั้งต้นธุรกิจ
ธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เนชั่น กรุ๊ป
มัลติมีเดีย มองว่า ศูนย์IDC นี้ จะเอื้อประโยชน์ต่อ thailand.com ในการที่จะให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรธุรกิจที่ต้องการใช้บริการของ
thailand.com ให้มาเช่าใช้บริการจากศูนย์ IDC โดยที่ไม่ต้องลงทุนสร้างระบบไอทีขึ้นเอง
สิงคโปร์ เทคโนโลยี เทเลมีเดีย หรือ เอสทีที เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นในปี
2537 เป็นหุ้นส่วนอยู่ใน starhub ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และแบบติดตั้ง
เป็นผู้ให้บริการ โมบายดาต้า วิทยุติดตามตัว เคเบิลทีวี มีธุรกิจเว็บท่า
และธุรกิจออนไลน์ ศูนย์ข้อมูล IDC
บริษัทแห่งนี้ยังเข้าไปลงทุนในประเทศจีน เป็นผู้วางระบบเครือข่าย จีเอสเอ็ม
ที่ครอบคลุมเมืองหลักๆ ในมณฑลเสฉวน ที่มีผู้ใช้บริการ 52,000 คน ร่วมลงทุนกับบริษัทไชน่า
ยูนิคอม เปิดให้บริการวิทยุติดตามตัวครอบคลุม 21 เมือง มีสมาชิกใช้บริการ
2 ล้านคน
ก่อนหน้านี้ STT ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนในไทย จนเมื่อมีการลงทุนธุรกิจศูนย์ข้อมูล
IDC ที่เป็นแรงขับดันให้ทุนสื่อสารจากสิงคโปร์รายนี้ ซึ่งมี TEMASEK ของรัฐบาลสิงคโปร์
เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชีย
และได้เลือกให้ไทยเป็นหนึ่งในเครือข่ายนี้
ในทุกประเทศที่ i-stt เข้าไปลงทุน จะใช้วิธีจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น
ที่จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่อยู่ระหว่างการจัดสร้างศูนย์ข้อมูล IDC ไปพร้อมๆ
กับไทย
IDC ที่เกิดจากการร่วมทุน ระหว่าง i-stt และเนชั่น ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 1,000
ตารางเมตร บนอาคารโรงพิมพ์ของกลุ่มเนชั่น ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 200 ล้านบาท
ในการปรับปรุงสถานที่ ให้เป็นศูนย์ IDC ที่จะต้องใช้มาตรฐานเดียวกับ i-stt
เหมือนกันทุกประเทศ
เราไม่ต้องการสร้าง IDC ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ต้องการไปทั้งเอเซีย ยุโรป
อเมริกา เราจะเชื่อมโยงเครือข่ายของเราเข้าไปที่ ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย
เป็นglobal network กนกดาว กาญจนภูษากิจ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท
i-stt เนชั่น บอกกับ ผู้จัดการ
ผลจากการมี blue print เดียวกัน ยังรวมไปถึงความสะดวกในการดูแลรักษาระบบ
ที่จะสามารถดูแลระบบทั้งหมดเหล่านี้ได้จาก บริษัทแม่ที่สิงคโปร์ได้ทันที
กรณีเกิดปัญหาขึ้น
สิ่งที่เราพบจากการไปสัมภาษณ์ในวันนั้น ก็คือ ศูนย์ข้อมูล IDC ที่ห้องขนาดใหญ่
บนอาคารโรงพิมพ์เนชั่น เจ้าหน้าที่ 3 คน กำลังตรวจสอบความเรียบร้อยของการทำงาน
จากจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ และบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมการทำงานของระบบไฟฟ้า
ระบบสื่อสาร และระบบอื่นๆ ที่จำเป็น
สิ่งที่พวกเขาต้องทำ ก็คือ การดูแลระบบคอมพิวเตอร์ของลูกค้า ที่บรรจุอยู่ภายในห้อง
ที่ต้องถูกควบคุมอุณหภูมิ ความเย็น แสงไฟในห้อง ตลอดจนระบบไฟสำรอง ที่จะต้องมั่นใจว่า
ระบบงานคอมพิวเตอร์ ของลูกค้า ซึ่งจะมีตั้งแต่การรับฝากเนื้อที่ของเว็บไซต์
ระบบบัญชี ไปจนถึงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ จะต้องไม่มีปัญหา
ตรงนี้คือ big deal เราต้องให้ บริการ 24 ชั่วโมง 365 วัน ดังนั้นทุกอย่างต้องพร้อม
ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ของ i-stt ในทุกประเทศ จะเหมือนกับ IDC อื่นๆ ที่จะถูกเชื่อมโยงถึงกันด้วยเครือข่ายความเร็วสูง
หรือ virtual private network หรือ VPN ที่เป็น ทางด่วนข้อมูล ที่จะให้ลูกค้าใช้บริการส่งข้อมูลระหว่างประเทศได้
โดยไม่ต้องเช่าใช้เครือข่ายจากผู้ให้บริการทั่วไป
กนกดาวเชื่อในประสบการณ์ ที่พิสูจน์แล้วในสิงคโปร์ เราไม่เพียงแต่ทำ IDC
เท่านั้น แต่เวลานี้เราเริ่มขายธุรกิจที่ปรึกษาในการทำดาต้าเซ็นเตอร์ให้กับที่อื่นแล้ว
การเลือกจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่น ก็เพื่อผลประโยชน์ทางการตลาด และนั่นก็คือ
การจะใช้ประโยชน์จาก content ของ thailand.com รวมทั้งสื่อที่อยู่ในมือของกลุ่มเนชั่น
ที่จะมาช่วยในเรื่องการทำตลาดให้กับลูกค้า
และนี่เป็นส่วนหนึ่งในก้าวแรกของ i-stt ที่กำลังเริ่มต้นขึ้น จากพัฒนาการของศูนย์
IDC ที่กำลังทอดยาวไปอีก
แต่ไม่ว่าจะเป็น i-stt แคพเพล สิงค์เทล ไลคอส แปซิฟิกอินเทอร์เน็ต อีไกด์
แคทชา จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสีสันของธุรกิจอินเทอร์เน็ตในไทย แต่ก็ไม่แน่ว่า
ยุทธศาสตร์ของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางเหล่านี้อาจจะได้ผล
หรืออยู่ได้ยาวนาน แต่ที่แน่ๆ พวกเขายังต้องใช้เวลาเรียนรู้อีกพักใหญ่