ทัศพล แบเลเว็ลด์ เมื่อต้องคิดนอกกรอบ

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

นอกจากการที่ต้องแข่งขันในตลาดที่เป็น mass แล้ว รูปแบบการทำธุรกิจสายการบินที่ต้นทุนต่ำ Low cost Airlines จำเป็นต้องคิดต่างไปจากสายการบินรูปแบบเดิม การคัดเลือกซีอีโอก็ต้องสอดคล้องกับทิศทางธุรกิจที่ว่านี้

ประสบการณ์ต่อเนื่องมากกว่า 10 ปีในธุรกิจ consumer product และค่ายเทปเพลงที่เป็นตลาด ทำให้ทัศพลถูกเลือกสำหรับงานนี้

ทัศพล ในวัย 37 ปี เป็นลูกครึ่งไทย-ฮอลแลนด์ พ่อเป็นชาวฮอลแลนด์ย้ายครอบครัวมาอยู่เมืองไทย มีน้องชายอีก 2 คน ปัจจุบันแต่งงานและมีลูกสาว 1 คน

เรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการตลาด จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระหว่างเรียนสมัครทำงานเป็นพนักงานขายคอมพิวเตอร์ จนต้องย้ายมาเรียนภาคค่ำแทน

หลังจบการศึกษาทัศพลเริ่มงานแรกที่บริษัทอดัมส์ (ประเทศไทย) ดูแลสินค้าลูกอมฮอลล์ ทำได้ 4 ปี ถูกชวนมาบุกเบิกสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับบริษัทมอนซานโต้ (ประเทศไทย) ในตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงที่ทำให้เขาเรียนรู้การบริหารที่กว้างขึ้น ทั้งคนและองค์กร

"คงเป็นเพราะความคิดอ่านไม่เหมือนกับชาวบ้าน เพราะไม่ชอบทำอะไรตามแบบแผน ไม่ใช่อวดเก่ง หรือ ท้าทาย เพียงแต่ว่า ผมต้องต่อสู้กับความคิดจนถึงที่สุด" ทัศพลสะท้อนบุคลิกตัวเองที่สามารถเติบโตในอาชีพการงาน

ทำงานที่มอนซานโต้ 4 ปีครึ่ง เมื่อบริษัทแม่ของมอนซานโต้ขายทิ้งธุรกิจ consumer product ทัศพลย้ายมาทำงานที่บริษัทวอร์เนอร์ มิวสิค ประเทศไทย ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นช่วงที่ค่ายเพลงข้ามชาติแห่งนี้ เจอกับวิกฤติขาดทุนอย่างหนัก

ธุรกิจค่ายเพลงของวอร์เนอร์ มิวสิคเน้นหนักไปที่เพลงฝรั่ง ทำรายได้อยู่ถึง 60% ในขณะที่ตลาดเพลงไทยยังสู้ค่ายเพลงท้องถิ่นอย่างแกรมมี่ และอาร์เอส ไม่ได้จึงใช้ทางลัดเข้าซื้อกิจการค่ายเพลงเล็กๆ ที่ชื่อมูเซอร์ หนึ่งในศิลปินที่เข้ามาในค่ายของวอร์เนอร์ มิวสิคก็คือคาราบาว

การทำงานในวอร์เนอร์ มิวสิค ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนในการบริหารศิลปิน สำหรับทัศพลแล้ว ที่นี่เป็นใบเบิกทางชั้นดีที่จะก้าวไปสู่การทำงานในรูปแบบอื่นๆ ที่มีความสลับซับซ้อนไม่แตกต่างกัน

"ถ้าลอง deal กับศิลปินให้เขาทำงานที่คุณอยากให้เขาทำได้ ต่อไปจะต้องไปเจอคนประเภทไหน คุณจะไม่ต้องกลัวเลย เพราะการ deal กับศิลปิน ยากที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือต่างชาติ เหมือนกันหมด"

บริหารได้ 5 ปี จากกิจการที่เคยขาดทุน จนมียอดขายเพิ่มขึ้น 20% ก็มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อถูกชักชวนจาก Tony Fernandes ซีอีโอชาวมาเลเซียของ Air Asia ที่เคยร่วมงานกันสมัยทำค่ายเพลงวอร์เนอร์ มิวสิค ดึงตัวเข้ามาในตำแหน่งซีอีโอ ไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้

"ขณะที่ทำอัลบัมเพลงนี้อยู่ ก็ต้องเริ่มคิด Project ใหม่ แต่ละเดือนจะมี 3-4 Project ธุรกิจสายการบินก็เหมือนกัน เราออกโปรโมชั่นเดือนมกราคม เราต้องคิดไปถึงเดือนมีนาคม เมษายนแล้ว"

นอกจากแคมเปญการตลาดที่มีอย่างต่อเนื่องแล้ว เป้าหมายของเขา ก็คือ การทำให้ Air Asia เป็นองค์กรที่ Yong and Dynamic สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เปิดกว้าง และคิดนอกกรอบ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันอันเชี่ยวกรากที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.