วิถีสู่ธรรมชาติ


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

หากเอ่ยนามนักเขียน มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ บางคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นชื่อ แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ชื่อนี้เป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะหนังสือ The One Straw Revolution และรสนา โตสิตระกูล ได้นำมาแปลชื่อปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว

ส่วน The Road Back to Nature เป็นหนังสือที่ทำให้มาซาโนบุได้รับการยกย่องว่า เป็นปราชญ์ทางเกษตรธรรมชาติของญี่ปุ่น และนวลคำ จันภา ได้นำมาแปลเป็นภาษาไทยใช้ชื่อ "วิถีสู่ธรรมชาติ" มีทั้งหมด 3 เล่มด้วยกัน

สามปีหลังจากที่ The One Straw Revolution ถูกแปลจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษในปี 2522 มาซาโนบุได้รับเชิญให้ไปเยือนอเมริกา นับเป็นครั้งแรกที่เขาจากบ้านเกิดเมืองนอน

หลังจากนั้นเขาก็ได้รับเชิญไปเยือนในอีกหลายประเทศ และในปี 2531 ประสบการณ์และความคิดเห็นที่เขาได้จากการเดินทางดังกล่าว มาซาโนบุได้เขียนออกมาเป็นหนังสือ The Road Back to Nature

บางคนกล่าวว่า ธรรมชาติที่ถูกมนุษย์ย่ำยีก็เป็นธรรมชาติเหมือนกัน และบอกว่าถึงเป็นผืนทะเลทรายกว้าง ที่เหลือเป็นอนุสรณ์แห่งกำเนิดอารยธรรมมนุษย์ นั่นก็เป็นธรรมชาติเหมือนกัน

แต่ไม่ว่ามนุษย์จะท่องเที่ยวไปตามทุ่งนาป่าเขาเพียงใด ไม่ว่ามนุษย์จะแยกตัวไปอยู่ตามหุบเขาที่มีลำธารไหลระเรื่อยผ่านนานสักเท่าใด คงมองเห็นแต่เปลือกนอกของธรรมชาติ มนุษย์ไม่มีวันเข้าถึงหัวใจและดวงวิญญาณภายในที่แท้จริงของธรรมชาติได้เลย

แม้ว่ามาซาโนบุจะพูดถึงสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ภาพของดินแดนทั้งสองที่เขาถ่ายทอดให้เห็นนั้น กลับแตกต่างจากที่หลายคนเข้าใจกันโดยทั่วไป "โลกใหม่" อันเป็นสมญานามของอเมริกาเมื่อศตวรรษที่แล้ว และดูเหมือนว่ายังคงความยิ่งใหญ่และรุ่งโรจน์จนถึงปัจจุบัน

ในสายตาของมาซาโนบุกลับเป็นประเทศซึ่งเสื่อมทรุดและง่อนแง่นอย่างมาก โดยเฉพาะทางเกษตรกรรม โภชนาการและนิเวศวิทยา

ทั้งนี้เป็นผลจากระบบเกษตรกรรมแผนใหม่ ซึ่งมุ่งผลิตพืชพรรณและปศุสัตว์อย่างมโหฬาร โดยอาศัยเครื่องจักร น้ำมัน สารเคมี ไม่ต่างจากการทำเหมืองขนาดใหญ่ อันเป็นการตักตวงแร่ธาตุ และความอุดมสมบูรณ์ไปจากผืนดินอย่างยากที่จะกลับคืนมาได้

ผลคือผืนดินและธรรมชาติกำลังตายซาก และผิดเพี้ยนผันแปร ชาวนาชาวไร่ล้มละลายมากขึ้น ส่วนยุโรปเองก็หาได้มีชะตากรรมต่างจากนี้ไม่

ตึกสูงใหญ่ แต่แท้จริงกลับง่อนแง่นเพราะรากฐานไม่มั่นคงฉันใด อารยธรรมที่ดูยิ่งใหญ่ มั่งคั่งด้วยวัตถุและโภคทรัพย์ หากจะถึงแก่ความหายนะก็เพราะทัศนคติพื้นฐานฉันนั้น

ท่ามกลางความมืดมน ประกายแห่งความหวังได้ปรากฏขึ้นด้วยในสองทวีปนั้น ขบวนการอย่างใหม่ได้ขยายตัวขึ้นในหลายรูปลักษณ์และหลายวงการ รวมทั้งขบวนการเกษตรกรรมธรรมชาติ ซึ่งกำลังหยั่งรากลึกขึ้น รอวันเวลาผลิดอกออกผล โดยที่จิตสำนึกใหม่ในแนวนิเวศวิทยากำลังแพร่ไปในหลายประเทศ อันสะท้อนถึงความลุ่มลึกและละเอียดอ่อนต่อภูมิปัญญาที่แสดงตัวอยู่ในธรรมชาติ

นี่คือจุดเปลี่ยนในโลกตะวันตก ขณะที่โลกตะวันออก เช่น ญี่ปุ่นเองกำลังถลำลึกไปตามเส้นทางสายเก่าของตะวันออกยิ่งขึ้นทุกที

นักพันธุกรรมศาสตร์พากันเชื่อว่าตนกำลังสำรวจที่มาของชีวิต และทำการดึงเอาหน่วยพันธุกรรมของเซลล์สิ่งมีชีวิตมาสังเคราะห์ แต่ดวงวิญญาณของธรรมชาติมิได้มีสติอยู่ในสายดีเอ็นเอ หรือในโปรตีนเบื้องต้นที่เป็นองค์ประกอบของเซลล์สิ่งมีชีวิต

เมื่อไม่นานมานี้ นักฟิสิกส์อ้างว่าทัศนคติด้านจิตใจในแนวคิดตะวันออกที่ว่าด้วยความว่างเปล่า (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า มุ) นั้น ใกล้เคียงกับแนวคิดในทฤษฎีควอนตัม

อีกทั้งนักบินอวกาศที่ลอยตัวอยู่ในอวกาศในสภาพไร้น้ำหนัก สามารถสัมผัสตัวตนของธรรมชาติได้ แต่ธรรมชาติดำรงอยู่ไกลเหนือขอบเขตความรู้ของมนุษย์ ไม่ว่าจะพยายามแยกผ่าธรรมชาติมาศึกษาสักเท่าไร

ไม่ว่ามนุษย์จะปฏิเสธภูมิความรู้ทุกอย่างที่ตนมีและเรียกทุกสิ่งทุกอย่างว่า "ความว่างเปล่า" มนุษย์ก็ยังไม่สามารถเห็นสภาพที่แท้จริงของธรรมชาติได้ มนุษย์ได้แต่ถอยห่างออกไปจากธรรมชาติมากขึ้นทุกที

หนังสือชุดนี้หาได้อุดมไปด้วยข้อมูล ตัวเลข สถิติ ไม่ จะมีแต่ถ้อยคำอันสะท้อนถึงสามัญสำนึกของชาวนาชราญี่ปุ่นผู้หนึ่ง ซึ่งยังมีชีวิตแนบแน่นกับธรรมชาติ และยังไม่ถูกปรุงแต่งให้หันเหียนผิดเพี้ยน ออกจากวิถีธรรมชาติอย่างที่ยุคสมัยไฮเทคคาดหวังให้เป็น

ในแง่หนึ่งมาซาโนบุได้บันทึกการปะทะสังสรรค์ระหว่างวัฒนธรรมสองกระแส ระหว่างตะวันออกกับตะวันตก และระหว่างสามัญสำนึกกับเชาวน์ปัญญาอันซับซ้อน ทั้งนี้มิจำต้องหมายความว่าเชาวน์ปัญญาจะหมายถึงภูมิปัญญาเสมอไป ความจริงอาจตรงข้าม ดังกวีผู้หนึ่งกล่าวว่า ภูมิปัญญาแท้ที่จริงก็คือสามัญสำนึกที่มากเกินสามัญนั่นเอง

การเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วทุกมุมโลกของมาซาโนบุ ช่วยให้เขาได้เห็นกระแสแนวโน้มของอารยธรรมโลกชัดเจนขึ้น ตอกย้ำทัศนะของเขาว่า วัฒนธรรมที่ติดยึดในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยกรอบความคิดแบบแยกส่วนนั้น ใกล้ถึงจุดตีบตันเข้าไปทุกที

ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หรือนิเวศวิทยา มีแต่วัฒนธรรมที่อิงธรรมชาติโดยมองโลกอย่างเป็นองค์รวมเท่านั้น ที่จะเป็นทางออกของมนุษยชาติ พื้นพิภพและระบบนิเวศน์ทั้งมวลได้

เมื่อมาซาโนบุเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว เขาก็ย้อนกลับมาดูสภาพการณ์ของเกษตรกรรมในญี่ปุ่นที่ดูจะไม่เหลือความหวัง เพราะมุ่งหน้าไล่ตามตะวันตกโดยไม่สนใจภูมิปัญญาของตนเองเลย จนกำลังล้ำหน้าตะวันตก

ขณะที่ตะวันตกเองเริ่มหันกลับมามองตะวันออก และดูเป็นความหวังและทางออกของโลกอยู่นั้น มาซาโนบุกลับมองว่า ความหวังของระบบนิเวศน์ในระดับโลก รวมทั้งความหวังของเกษตรกรรมธรรมชาติ กลับอยู่ที่ตะวันตกมากกว่า

มนุษย์ก่อกำเนิดและเติบโตจากธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อมนุษย์พลัดหลงออกจากธรรมชาติและมีชีวิตอย่างระหกระเหินในโลกแห่งวัตถุนิยม อันหยาบกระด้างและแห้งแล้ง หนทางเดียวที่มนุษย์จะกลับมามีชีวิตอย่างผาสุกและเต็มเปี่ยม คือ การคืนสู่ธรรมชาติ

วิถีสู่ธรรมชาติ อาจเริ่มต้นด้วยการมีชีวิตแวดล้อมของธรรมชาติแต่เพียงเท่านั้นหาพอไม่ แม้กระทั่งวิถีแห่งการผลิตและการได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพ โดยเฉพาะอาหาร ก็ควรเป็นไปโดยนัยแห่งธรรมชาติด้วย มิใช่ด้วยการบงการธรรมชาติ

หากแต่ให้วิถีแห่งธรรมชาตินั้นเองเป็นพลังหล่อเลี้ยง มาซาโนบุได้เสนอเกษตรกรรมธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นทางเลือกใหม่ของมนุษยชาติ ทั้งนี้มิใช่เพื่อให้ไปพ้นจากวิกฤติการณ์ทางนิเวศวิทยาและทางสังคมการเมือง ที่กำลังรุมเร้าอยู่ทุกวันนี้เท่านั้น

หากยังเพื่อฟื้นฟูสรวงสวรรค์บนพื้นโลกที่เคยสูญไปให้กลับคืนมา ดังที่เขาได้ตั้งชื่อรองของหนังสือเล่มนี้ในเวอร์ชั่นอังกฤษว่า "Regaining the Paradise Lost"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.