แผนบินไทยซื้อเครื่องใหม่ไม่เกิน7ลำ


ผู้จัดการรายวัน(25 กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"กนก" เผยอีก 5 สัปดาห์ สรุปแผนซื้อเครื่องบินใหม่ ยันความต้องการไม่ถึง 7 ลำ แต่ยังเน้นเครื่องขนาดใหญ่ พิสัยไกล ความจุที่นั่งสูงกว่า 300 ที่นั่ง พร้อมปรับภาพลักษณ์ใหม่ จ้างอินเตอร์แบรนด์ เป็นที่ปรึกษา เปลี่ยนโลโก้ใหม่รับสนามบินสุวรรณภูมิ และปรับคุณภาพบริการทุกด้าน เผยงบ 10,000 ล้านบาทสำหรับดำเนินการ

นายกนก อภิรดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้แผนจัดซื้อเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ 5 ปีนั้น มีความชัดเจนแล้วว่าบริษัทฯ มีความจำเป็นที่จะซื้อหรือเช่าเครื่องบินใหม่น้อยกว่า 7 ลำแน่นอน แต่จะเป็นจำนวนเท่าใด นั้น จะต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาก่อน คาดว่าไม่เกิน 5 สัปดาห์ จากนี้จะทราบรายละเอียดที่ชัดเจน โดยยืนยันว่า บริษัทฯต้องการเครื่องบินขนาดใหญ่ พิสัยไกล มีความจุที่นั่งสูงกว่า 300 ที่นั่งขึ้นไป โดยเครื่องบินเดิมที่ระบุไว้ตามแผนคือ เครื่องบินแบบโบอิ้ง 747-400

ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา การบินไทยได้ประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) กับทุก ฝ่ายแล้ว และหลังจากที่ได้ปรับเปลี่ยนตารางบิน ความถี่ในการบินและจุดบินใหม่แล้ว ทำให้ความจำเป็นในการใช้เครื่องบินมีน้อยกว่าที่เคย ศึกษาไว้เดิมเมื่อปีที่ผ่านมา คือไม่ถึง 7 ลำแน่นอน ดังนั้น ในเร็วๆ นี้

คณะกรรมการคงจะตัด สินได้ว่า การบินไทยจำเป็นต้องเพิ่มเครื่องบินหรือไม่ แผนการตลาดเป็นอย่างไร คุ้มหรือไม่คุ้มกับการลงทุน และหากต้องเพิ่มก็ต้องสรุปว่าด้วยวิธีการใด ซึ่งจากนั้นการบินไทยก็จะจัดทำบันทึกข้อตกลง(ทีโออาร์) เพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดหาเครื่องบินต่อไป

จ้างที่ปรึกษาสร้างอิมเมจใหม่

โดยวานนี้ (24 ก.พ.) การบินไทยได้ลงนามกับบริษัท อินเตอร์แบรนด์ เพื่อว่าจ้างให้เป็นบริษัทที่ปรึกษา และพัฒนาเอกลักษณ์ของการบินไทย ในวงเงิน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นไปตามแผนกลยุทธ์การพัฒนาเอกลักษณ์ และบริการสู่ความเป็นหนึ่ง โดยบริษัทดังกล่าวจะเป็นผู้ออกแบบเอกลักษณ์ใหม่การบินไทย ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์อำนวยความสะดวกบนเครื่องบิน เครื่องใช้บนเครื่องบิน สำนักงาน ห้องรับรองพิเศษ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงรูปลักษณ์ โลโก้บนเครื่องบินใหม่ ซึ่งการออกแบบดังกล่าวจะใช้งบประมาณดำเนินการกว่า 10,000 ล้านบาท

และจะเริ่มศึกษา ออกแบบรูปลักษณ์ใหม่ และปรับปรุงด้านต่าง ๆ ทั้งบริการภาคพื้นและบริการบนเครื่องบิน ไปจนกว่าจะเปิดตัวภาพลักษณ์ใหม่ประมาณเดือนสิงหาคม -กรกฎาคม 2548 นี้ และภายในเดือนธันวาคม 2548 จะมีการเปลี่ยนโลโก้บนเครื่องบินใหม่ ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในเดือนกันยายน 2548

ทั้งนี้ เป้าหมายหลักในการพัฒนากลยุทธ์ดังกล่าวนี้ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์กับยุทธศาสตร์ของประเทศ และเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และบริษัทอินเตอร์ แบรนด์นี้ จะนำแนวความคิดจาก 3 มิติ คือ ความไว้วางใจสูง ความเป็นสากล และความเป็นไทย มาพัฒนาสู่ความเป็นสากลในรูปแบบที่ทันสมัยแบบไทยประยุกต์ ไม่ว่าจะเป็น สัญลักษณ์ของการบินไทย การออกแบบตกแต่ง เครื่องบินทั้งภายในและภายนอก บรรยากาศในเครื่องบิน ตกแต่งจุดให้บริการการบินไทยที่สนามบิน เช่น เคาน์เตอร์เช็กอิน ห้องรับรองพิเศษ เป็นต้น รวมไปถึงเครื่องแบบพนักงาน สิ่งพิมพ์ที่ใช้ในการให้บริการต่าง ๆ

"ปัจจุบันธุรกิจการบินทั่วโลกแข่งขันรุนแรง ขณะที่การบินไทยมีนโยบายที่จะก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในเอเชีย ดังนั้นต้องทำงานในเชิงรุก คิดอย่างสร้างสรรค์ โดยจุดหมายที่สำคัญคือให้ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การบินไทยจะเปิดตัวเอกลักษณ์ใหม่นี้ (รีลอนช์) แบบครั้งเดียวไปเลย หรือจะค่อยๆ ทยอยเปิดตัวไปทีละด้าน ยังตอบไม่ได้ ต้องให้คณะกรรมการบริษัทตัดสิน แต่ขณะนี้ก็ได้ริเริ่มให้บริการรูปแบบใหม่ ๆ ไปบ้างแล้ว เช่น มีบริการอินเทอร์เน็ต ห้องอาบน้ำ สปา เก้าอี้นวดไฟฟ้าที่ห้องรับรองพิเศษสำหรับผู้โดยสารชั้น 1 และชั้นธุรกิจ ที่ตกแต่งในเอกลักษณ์ไทย ปรับปรุงเก้าอี้เอนได้ 180 องศาในชั้น 1 และ 170 องศาในชั้นธุรกิจ ซึ่งจะแล้วเสร็จสิ้นปีนี้ นำศิลปินบริการวาดภาพเหมือนให้ผู้โดยสาร ชั้น 1 และชั้นธุรกิจในเที่ยวบินกลางวันเส้นทาง กทม.-ลอนดอน,กทม.-ปารีส และกทม.-แฟรงก์- เฟิร์ต เป็นต้น" นายกนกกล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.