NPCทุ่ม1.6หมื่นล.ผุดLLDPE-ฟีนอล


ผู้จัดการรายวัน(25 กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"NPC" รุกธุรกิจ ปิโตรเคมีต่อเนื่อง เตรียมทุ่ม 400 ล้านดอลลาร์หรือ 1.6 หมื่นล้านบาท ผุดโครงการผลิตเม็ดพลาสติก LDPE/LLDPE และฟีนอล หวังให้เสร็จทันช่วงวัฏจักรปิโตรเคมีขาขึ้น คาดดำเนินการก่อสร้างแล้ว เสร็จปลายปี 49 พร้อมตั้งเป้ารายได้ปีนี้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20%

วานนี้ (24 ก.พ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) ลงนามบันทึกความเข้าใจในการซื้อขายก๊าซอีเทนเพิ่มเติมกับบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NPC) โดยปตท.จะศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 2 และ 3 ทำให้มีอีเทน เพิ่มขึ้นอีก 3.9-5 แสนตันต่อปี ป้อนให้กับ NPC ในการผลิตโครงการปิโตรเคมีต่อเนื่อง

นายวิโรจน์ มาวิจักขณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯมีแผนการลงทุนในโครงการปิโตรเคมีต่อเนื่องคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยแหล่งเงินทุนมาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน เพราะปัจจุบันอัตราหนี้สินต่อทุนของบริษัทอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ ทำให้มีความสามารถในการกู้ยืมอีกมาก

ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิตเอทิลีน ขนาด 4 แสนตันและโครงการผลิตโพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE/LLDPE) 4 แสนตัน ซึ่งเป็นโครงการปิโตรเคมีขั้นปลาย ใช้เงินลงทุนรวม 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะดำเนินการ ก่อสร้างภายในปีนี้ และแล้วเสร็จในไตรมาส 4/2549 สอดรับกับโครงการปรับปรุงโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 2 และ 3 แล้วเสร็จ

โครงการดังกล่าวจะเป็นการร่วมทุนระหว่าง NPC กับปตท. ซึ่งเป็นบริษัทแม่คาดว่าจะได้ผลสรุปการศึกษาอีก 4 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หากปตท.ตัดสินใจไม่ร่วมทุน ทาง NPC ยืนยันที่จะดำเนินการต่อไปเพราะโครงการดังกล่าวเป็น การเพิ่มมูลค่าเอทิลีน รวมทั้งในช่วงเวลาดังกล่าว อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในจังหวะราคาขาขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทฯยังเตรียมลงทุนในโครงการผลิตฟีนอล ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทในเครือปตท. โดยบริษัทฯจะใช้เงินลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 50 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการศึกษา คาดได้ข้อสรุปอย่างช้ากลางปีนี้

นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า จากการขยายโครงการปิโตรเคมีขั้นต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น บริษัทฯจึงร่วมทุนกับปตท.ตั้งบริษัทร่วมทุนผลิตไฟฟ้าขึ้น โดยเบื้องต้นจะผลิตไฟฟ้าประมาณ 35 เมกะวัตต์ หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 70 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท และมีความเป็นไปได้ที่ธุรกิจไฟฟ้าของ NPC จะเข้าไปอยู่ในบริษัทร่วมทุนดังกล่าวด้วย

ซึ่งปัจจุบันโรงไฟฟ้าของ NPCมีกำลังการผลิต 170 เมกะวัตต์ โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้า บริษัทจะใช้เองประมาณ 9% ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้ในบริษัทต่างๆในเครือ ปตท.

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2547 คาดว่าจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 20% เมื่อเทียบจากปี 2546 เนื่องจากราคาโอเลฟินส์ในปีนี้อยู่ในเกณฑ์ ที่สูงกว่าปีที่แล้ว หรือเฉลี่ยตันละ 600 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ปี 2546 ราคาโอเลฟินส์อยู่ที่ 512 เหรียญสหรัฐ เป็นผลมาจากความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากจีนมีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม และราคาแนฟธา ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ บริษัทฯจะรับรู้รายได้จากโครงการผลิตโพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ ซึ่งขณะนี้ราคาเม็ดพลาสติกPE อยู่ที่ตันละ 900 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าปีก่อนที่อยู่ระดับ 700 เหรียญสหรัฐต่อตัน

เครือปตท.จับมือผุดคิวมีน/ฟีนอล

นายไพบูลย์ ปัญญวุฒิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ATC) กล่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯอนุมัติให้บริษัทฯขยายธุรกิจในอุตสาหกรรมขั้นต่อเนื่องโดยการเข้าร่วมทุนโครงการ ผลิตสาร Cumene/Phenol กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน)โดยมี ปตท. เป็นแกนนำ โดยถือหุ้นใหญ่ 40% ที่เหลือถือหุ้นรายละ 20%

โครงการดังกล่าวจะผลิต Phenol 200,000 ตันต่อปี และ Acetone 125,000 ตันต่อปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแหล่งเงินลงทุนเฉพาะบริษัทฯจะมาจากกระแสเงินสดภายใน ATC เอง

สำหรับผลตอบแทนการลงทุนโครงการฯ ประมาณ 18% และมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5 ปี และเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ประมาณไตรมาสที่ 2 ปี 2550 โครงการฯนี้จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ Benzene ของบริษัทฯ โดยการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต Cumene/Phenol ดังกล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.