แบงก์ชาติไฟเขียวบง.เกียรตินาคิน (KK) เข้าทำเนียบแบงก์ หลังควบกิจการกับบง.รัตนทุนเข้ากรอบมาสเตอร์แพลน
ระบุสถาบันการเงินเริ่ม ทยอยส่งแผน เชื่อทุกแห่งสามารถระบุฐานะได้ในระยะเวลา 6
เดือนตามที่กำหนด พร้อมเล่นบทโหดกดดันแบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ ดันมาตรการกันสำรองเอ็นพีแอลประกาศใช้ครึ่งปีหลังแน่
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผย ว่า ขณะนี้ได้มีบริษัทเงินทุนเกียรตินาคินเข้ามาหารือกับ
ธปท.เพื่อขอยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ โดยก่อนหน้านี้ บง.เกียรตินาคินได้ควบรวมกิจการกับ
บง.รัตนทุน และถือหุ้นในบง.รัตนทุน ทั้งหมด 100% ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของธปท.
(มาสเตอร์แพลน)
"บริษัทเงินทุนส่วนใหญ่เริ่มทยอยเข้ามาหารือกับธปท. แล้ว แต่ยังไม่มีใครแบไต๋ออกมาว่าจะเลือกยกระดับในสถานะใด
และใครจะเลือกแต่งงานกับใคร" รองผู้ว่าการธปท.กล่าว
อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ให้เวลาบง. 6 เดือนในการตัดสินใจ และประเมินสิน ทรัพย์ ประเมินหนี้สิน
รวมทั้งต้องมีความ ชัดเจนว่าจะเลือกสถานะใด ซึ่งมองว่า การกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไม่น่าจะสั้นเกินไป
เนื่องจากจะให้เวลาในการดำเนินการเพื่อควบรวมกิจการให้แล้วเสร็จอีก 1 ปี หลังจากทำดิวดีรีเจนท์เสร็จ
สำหรับกรณีของธนาคารยูโอบี รัตนสินที่ต้องการเข้าซื้อหุ้นของธนาคารเอเชียหลังจากที่ธนาคารเอบีเอ็น
แอมโร ต้องการขายหุ้นถืออยู่ 80.7% ออกไป เพื่อคงสถานะการเป็นสาขาธนาคาร ต่างประเทศไว้เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นธนาคารยูโอบี
และธนาคารเอเชียที่จะหารือกันเองเนื่องจากเป็นการเข้าไปซื้อหุ้นในเชิงธุรกิจธปท.ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง
ด้านบริษัทเงินทุนบุคคลัภย์ และสินอุตสาหกรรม คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า ในขณะนี้ธนาคารกำลังทำความเข้าใจกับกฎเกณฑ์ของทางการ
เพื่อให้ทางออกที่ดีที่สุดให้กับบริษัทในเครือทั้ง 2 แห่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นการขายออกให้กับบุคคลอื่น
หรือการนำเข้ามารวมกับธนาคารก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะปัจจุบันบริษัททั้ง 2 แห่ง
สามารถทำกำไรได้ด้วยตนเอง โดยในปีที่ผ่านมา บง.บุคคลัภย์มีกำไรประมาณ 200 ล้านบาท
และบง.สินอุตสาหกรรมมีกำไรประมาณ 500 ล้านบาท
"ในที่สุดแล้วธนาคารจะทำอย่างไรกับบง.ทั้ง 2 แห่ง เป็นสิ่งที่เราจะต้องระมัดระวัง
เพราะทั้ง 2แห่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น มีผู้ถือหุ้นรายอื่นอยู่ด้วย
ธนาคารคงจะเลือกทางที่สร้างคุณค่ามากที่สุด แต่หากจะนำมารวมกับธนาคารเองก็ไม่มีปัญหาเพราะทำให้สินทรัพย์ของธนาคารเพิ่มประมาณ
20,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับการทำธุรกิจของธนาคารประมาณ 1 ปี"
เตรียมใช้มาตรการกันสำรองหนี้ของเอ็นพีแอลครึ่งปีหลัง 2547
นางธาริษา เปิดเผยถึงเกณฑ์ในการกันสำรอง หนี้ใหม่ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
(เอ็นพีแอล) ว่า ขณะนี้ ธปท.กำลังศึกษาข้อมูลอยู่ อาจจะใช้วิธีลดราคาหลักทรัพย์ที่ให้หักออกก่อนการกันสำรอง
หนี้ไม่ให้หักได้ 100% เหมือนแต่ก่อนหากธนาคารมีการทิ้งหนี้เอ็นพีแอลจำนวนนั้นไว้นาน
โดยไม่มีการเร่งรัดปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะพิจารณาจากอายุของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ธนาคารพาณิชย์
ยังไม่ดำเนินการแก้ไขหากทิ้งไว้นานจนถึงเวลาหนึ่ง ที่ ธปท.คิดว่านานเกินไป อาจจะมีการสั่งให้กันสำรองหนี้ในส่วนนั้นเพิ่มขึ้น
จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ว่าก่อนที่จะกันสำรอง หนี้เอ็นพีแอล ธปท.อนุญาตให้นำราคาหลักทรัพย์
ที่มีอยู่มาหักออกจากมูลหนี้รวมได้ 100% ส่วนที่เหลือจึงเป็นวงเงินสำหรับกันสำรองหนี้
ตามฐานะของหนี้นั้นว่าจะต้องกันสำรองเป็นอัตราเท่าไรของเงินที่หักหลักประกันไว้
100% แล้ว
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะนำออกมาใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2547 เพื่อเร่งรัดการปรับโครงสร้าง
หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ยังค้างอยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ให้เร็วขึ้น
ซึ่งตัวเลขเอ็นพีแอลล่าสุด ณ สิ้นปี 2546 อยู่ที่ระดับ 12% ของสินเชื่อรวม ซึ่งทาง
ธปท.เคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าเอ็นพีแอลต้องลดต่ำอยู่ที่ระดับ 5% ในปี 2549 ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีนโยบายที่จะปรับเป้าใหม่
"หากมีการออกมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยให้แบงก์พาณิชย์เร่งปรับโครงสร้างหนี้เน่าที่มีอายุนานมากขึ้นและทำให้หนี้เอ็นพีแอลที่มีอยู่ลดลงได้"
นางธาริษา กล่าว
สำหรับการเร่งลดสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ)
ของธนาคารพาณิชย์นั้น ถึงแม้ว่าในขณะนี้กฎหมายแก้ไขให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน
(บบส.) ของรัฐ และเอกชน สามารถซื้อเอ็นพีเอได้ แต่ในขณะนี้ได้มีการเจรจานอกรอบระหว่าง
บบส. กับธนาคารพาณิชย์ แล้วคาดว่าเมื่อกฎหมายแก้ไข ออกมาจะสามารถดำเนินการซื้อขายได้ทันที