Start small, finish Big


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อตอนที่เฟรด เดอลูกาอายุเพียง 17 ปี เขาขอยืมเงิน 1,000 ดอลลาร์จากเพื่อนคนหนึ่ง แล้วเริ่มทำธุรกิจเชนขายแซนด์วิช "SUBWAY" จนปัจจุบันมีร้านสาขา 14,000 แห่งใน 70 ประเทศและยังอ้างว่ามีรายได้ถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี ขณะนี้เดอลูกากำลังจะช่วยเหลือบรรดาผู้ประกอบการรายเล็กอื่นๆ ซึ่งต้องการสร้างธุรกิจด้วยเงินไม่ถึง 1,000 ดอลลาร์ โดยผู้สนใจสามารถหาอ่านได้จาก Start Small, Finish Big

เดอลูกาได้เสนอบทเรียน 15 ประการในการสร้างและบริหารธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จโดยเริ่มต้นจากเงินทุนเพียงเล็กน้อย บทเรียนต่างๆ นำเสนออย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ การสร้างกำไรให้ได้แม้จะเล็กน้อย การหาลูกค้าให้ได้ทุกวัน ไปจนถึงการสร้างชื่อยี่ห้อ

นอกจากคำแนะนำที่ชัดเจนหนักแน่นแล้ว เดอลูกายังนำเสนอตัวอย่างสนับสนุนกรณีศึกษาต่างๆ ของผู้ประกอบการรายเล็กอีก 22 รายไม่ว่าจะเป็นเอียน ลีโอโปลด์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยเงินเพียง 96 ดอลลาร์สหรัฐ จนปัจจุบันมีธุรกิจสิ่งพิมพ์มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ หรือแฟรงค์ อาร์เจนไบรท์ ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจ AHL Services ด้วยเงิน 500 ดอลลาร์สหรัฐ จนกระทั่งเป็นกิจการมูลค่านับพันล้านดอลลาร์

- แรงบันดาลใจจากบังกลาเทศ

Start Small, Finish Big เป็นยิ่งกว่าตำนานแห่งความสำเร็จและคู่มีอประเภทฮาว-ทูที่สอนวิธีรวย เดอลูกาเล่าว่าครั้งหนึ่งเขาได้ชมรายการ 60 Minutes และรู้สึกนิยมในตัวมูฮัมมัด ยูนัส ชาวบังกลาเทศ ผู้ริเริ่มการให้กู้ยืมเงินรายย่อยแก่คนยากจนให้ทำธุรกิจเล็กๆ ของตนเองได้

"ตอนผมดูรายการเล่าถึง ดร.ยูนัสว่าเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนชาวบังกลาเทศอย่างไร ผมก็เข้าใจทันทีว่าเงินจำนวนเล็กน้อยนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนเราไปได้ตลอดกาลเลยทีเดียว" เขาบอก "และตอนนั้นเองที่ผมตัดสินใจว่าจะช่วยเผยแพร่แนวคิดเรื่องผู้ประกอบการรายเล็ก เพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นได้เพิ่มขึ้น"

นอกจากการสนับสนุนโครงการ Grameen-Subway Micro-Credit Initiative แล้ว เดอลูกายังให้ทุนก่อตั้งกับกิจการประเภทไม่มุ่งกำไรที่ชื่อ "Micro Investment Lending Enterprise หรือ MILE ด้วย โดย MILE จะปล่อยกู้แก่บุคคลที่ไม่มีเครดิตพอที่จะได้สินเชื่อจากสถาบันการเงินอื่น แต่ต้องการริเริ่มธุรกิจของตนเอง เดอลูกายังบอกด้วยว่า หนังสือเล่มนี้จะเน้นไปที่การผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการรายเล็กซึ่งต้องการทำธุรกิจ แต่ไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมหาศาล

"คำว่า žBIGž ที่เป็นชื่อหนังสือจึงอาจจะหมายถึงการทำธุรกิจพาร์ตไทม์ ธุรกิจที่ทำอยู่กับบ้าน แผงขายของตามห้างสรรพสินค้า" เดอลูกาอธิบาย "หรืออาจจะหมายถึงเชนห้างสรรพสินค้าไปจนถึงบริษัทระหว่างประเทศก็ได้ แล้วแต่ว่าคุณจะกำหนดนิยามเรื่องเล็กหรือใหญ่ยังไง"

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นคู่มือที่มีคุณค่าสำหรับผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จในระยะยาว แถมท้ายด้วยภาคผนวกโครงการสินเชื่อขนาดย่อมในสหรัฐฯ หากคุณเห็นด้วยกับแนวคิดของเดอลูกาก็สามารถเข้าร่วมโครงการกับเขาได้ แต่ที่แน่นอนก็คือเงินรายได้จากการขายหนังสือเล่มนี้ก็นำเข้าสู่โครงการ MILE แน่นอน

ล้อมกรอบ บทเรียน 15 ประการของเดอลูกาสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก (microentrepreneurs)
บทเรียนที่ 1 เริ่มจากกิจการขนาดเล็ก
บทเรียนที่ 2 ทำกำไรแบบเก็บเล็กผสมน้อย
บทเรียนที่ 3 เริ่มต้นจากความคิดดีๆ สักอย่าง
บทเรียนที่ 4 คิดแบบมีวิสัยทัศน์
บทเรียนที่ 5 เชื่อมั่นและศรัทธา
บทเรียนที่ 6 เตรียมพร้อม ยิงให้ตรงเป้า
บทเรียนที่ 7 ถ้าไม่กำไรก็เจ๊งไปเลย
บทเรียนที่ 8 มองแต่ในแง่ดีไว้
บทเรียนที่ 9 ปรับปรุงธุรกิจไปอย่างต่อเนื่อง
บทเรียนที่ 10 เชื่อมั่นในคนของคุณ
บทเรียนที่ 11 อย่าให้เงินขาดมือ
บทเรียนที่ 12 หาลูกค้าใหม่ให้ได้ทุกวัน
บทเรียนที่ 13 มุ่งมั่นอดทน อย่ายอมแพ้ง่าย ๆ
บทเรียนที่ 14 สร้างชื่อยี่ห้อสักชื่อขึ้นมา
บทเรียนที่ 15 โอกาสไม่เคยรอใคร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.