RCI เตรียมจ่ายปันผลหากบอร์ดอนุมัติ รอผลการประชุมที่จะมีขึ้น 26 กุมภาพันธ์นี้
หลังเจ้าหนี้ไฟเขียว เผยนโยบายการจ่ายปันผลอาจเปลี่ยนแปลงหลังปรับโครงสร้างหนี้
ขณะที่ผลดำเนินงานปีนี้ตั้งเป้าโต 25% เน้นการนำเข้าเพื่อจำหน่าย เพราะมาร์จิ้นสูงกว่าผลิตเอง
ขณะที่ต้นทุนการผลิตไม่ต่างกับนำเข้า เชื่อการทำ FTA กับต่างประเทศของรัฐ จะส่งผลดีต่อการนำเข้าของบริษัท
นายเอนก วาสนาสมปอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม
จำกัด (มหาชน) (RCI) กล่าวว่าหลังจากที่บริษัทสามารถผ่าน แผนฟื้นฟูกิจการและกลับเข้ามาเทรดในตลาดหลักทรัพย์หมวดปกติได้เมื่อปี46
ซึ่งบริษัท มีผลกำไรจากการดำเนินงาน 3 ไตรมาสติดต่อกัน เมื่อมองถึงการจ่ายเงินปันผลนั้น
ทางเจ้าหนี้ของบริษัทได้อนุมัติที่จะให้บริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทได้
แต่ต้องขออนุมัติจากการประชุมคณะกรรมการที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อพิจารณาว่าจะให้บริษัทจ่ายเงินปันผลได้หรือไม่
ซึ่งนโยบายการจ่ายเงินปันผล ยังไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากบริษัทเพิ่งผ่านการฟื้นฟูกิจการ
เพราะผู้บริหารจะต้องพิจารณาเรื่องนโยบายจ่ายเงินปันผลใหม่ ซึ่งตามเงื่อนไข เดิม
RCI ไม่สามารถจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้หากยังไม่ชำระคืนเงินต้นทั้งหมด
โดยปีที่ผ่านมา RCI ได้ชำระหนี้ไป 60 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่ทำไว้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ
ที่กำหนดให้จ่ายที่ 30 ล้านบาท และหลังจากการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูฯ บริษัทมีหนี้ที่จะต้องชำระอีกเป็นระยะเวลา
7 ปี โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 46 บริษัทเหลือหนี้ที่จะต้องชำระทั้งสิ้น 610 ล้านบาท
และมีภาระดอกเบี้ยจ่ายปีละ 35 ล้านบาท เฉลี่ยประมาณเดือนละ 3 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหนี้รายใหญ่คือ
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีภาระหนี้อยู่ 600 ล้านบาท โดยมีดอกเบี้ยจ่ายที่ระดับ
MLR
สำหรับการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะ 2 ปีนี้ จะไม่มีการกู้เงินเพื่อลงทุน เพราะบริษัทต้องการให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E
RATIO) อยู่ที่ระดับ 1 ต่อ 1 เท่า และจะรักษากระแสเงินสดไม่ต่ำกว่าปีละ 200 ล้านบาท
พร้อมตั้งเป้าจะชำระหนี้คืนให้ได้สูงกว่าปี 46 ซึ่งอยู่ที่ 70 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะให้กำไรขั้นต้นมีไม่ต่ำกว่า
30% สูงจากปีก่อนที่มีประมาณ 28%
โดยกลยุทธ์หลังฟื้นฟูกิจการแล้ว บริษัทจะเน้นการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ที่คุณภาพ
อยู่ในระดับเดียวกัน เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิต ที่ผลิตเอง ซึ่งการนำเข้ากระเบื้องจากต่างประเทศ
มาจำหน่าย ทำให้มีมาร์จิ้นสูง ส่งผลต่อการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กำลังการผลิตของตลาดรวมปี 47 คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 160 ล้านตารางเมตรต่อปี
เพิ่มจากปี 46 ที่มีอยู่ 140 ล้านตารางเมตร ขณะที่ RCI มีกำลังการผลิต 4.8 ล้านตารางเมตรต่อปี
คิดเป็นส่วนแบ่งมูลค่า 4-5% ของตลาดรวมที่ มีอยู่ 17,000 ล้านบาท ขณะที่มีส่วนแบ่งตลาด
7%
อย่างไรก็ตาม หากความต้องการในประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ บริษัทก็ต้องมาพิจารณาว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตหรือไม่
ซึ่งหากต้องลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท จึงจะคุ้มกับการผลิต ที่มีกำลังถึง
3 แสนตารางเมตรต่อเดือน
นายสัญญา นองสุวรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายการตลาด RCI กล่าวว่า ผลกำไรเบื้องต้นของบริษัทในปี
46 จะอยู่ที่สัดส่วน 25% หรือประมาณกว่า 100 ล้านบาทจากยอดขายที่มี ประมาณ 1,200
ล้านบาท พร้อมกับพยายามรักษาระดับการเติบโตให้ได้ที่ 20-25% ต่อปี โดยเน้นการนำเข้าจากจีนและอินโดนีเซียเป็นหลัก
80% ของการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนการนำเข้า 25% ขณะที่ผลิตขายเอง 75% เนื่องจากโรงงานผลิตรันเต็มกำลังการผลิตแล้ว
บวกกับเชื่อว่าเมื่อรัฐบาลได้ลดภาษีการนำเข้ากระเบื้อง และการทำ FTA กับต่างประเทศ
จะทำให้ต้นทุนในการนำเข้าลดลง ดังนั้น ปีนี้ RCI จึงจะนำเข้าเพิ่มขึ้น 100% จากปีก่อนที่นำเข้ามูลค่า
15 ล้านบาท ปีนี้จะเพิ่มเป็น 30 ล้าน เพราะบริษัทมั่นใจว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างในปี
47 อุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐบาลที่มีแนวโน้มขยายตัวจากการที่รัฐบาล
ขยายงบประมาณการลงทุน ทำให้อสังหาริมทรัพย์ ประเภทพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมมีการขยายตัวตามทิศทางของเศรษฐกิจ