3 หน่วยงาน คลัง-ก.ล.ต.-กบข. ประสานเสียงคาลเปอร์สไม่กลับเข้าลงทุน ไม่มีผลกระทบ
เพราะก่อนหน้านี้ไทยไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่คาลเปอร์สเข้าลงทุนอยู่แล้ว ด้านบิ๊กกบข.
"วิสิฐ" เผยเตรียมตุนเงินไว้ลงทุนหุ้นรัฐวิสาหกิจ ชี้ถ้าเม็ดเงินไม่พอพร้อมที่จะขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพื่อนำเงินมาลงทุน
ขณะที่สมาคมบล.เข้าชี้แจงกรรมาธิการฯ ระบุไม่พร้อมเปิดเสรีค่าคอมฯ
วานนี้ (18 กุมภาพันธ์) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือ
คาลเปอร์ส เปิดเผยว่า ได้ตัดสินใจถอนประเทศ ไทยและอินเดียออกจากบัญชีรายชื่อประเทศตลาดเกิดใหม่ที่คาลเปอร์สสามารถเข้าไปลงทุนได้
ส่วนการลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ คาลเปอร์สจะเลื่อนการตัดสินใจออกไปเป็นเวลา 30
วัน โดยคาลเปอร์สระบุว่า ทั้ง 3 ประเทศมีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ต่ำสุดที่คาลเปอร์สตั้งไว้ในการประเมิน
ประสิทธิภาพของตลาดหุ้น, การดำเนินงานด้านบรรษัทภิบาล, ความมีเสถียรภาพทางการเมืองและการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้ ประเทศไทยและอินเดียได้คะแนน 1.99 จากคะแนนเต็ม 3.00 ซึ่งสูงกว่าคะแนนในปีก่อนๆ
แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่า 2.00 ซึ่งเป็นเกณฑ์การลงทุนของคาลเปอร์ส ส่วนฟิลิปปินส์ได้คะแนน
1.87 คาลเปอร์สไม่กระทบไทย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ชี้แจงกรณีที่คาลเปอร์สประกาศเพิกถอนไทยออกจากรายชื่อประเทศที่จะลงทุนไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้อยู่ในรายชื่อตลาดเกิดใหม่ที่คาลเปอร์สจะสามารถเข้าไปลงทุนได้อยู่แล้ว
สำหรับผลกระทบต่อภาพลักษณ์ตลาดทุน ไทยในสายตาผู้ลงทุนต่างประเทศคาดว่าจะมีเพียงเล็กน้อย
เนื่องจากผู้ลงทุนแต่ละรายมีเกณฑ์ ในการตัดสินใจการลงทุนที่แตกต่างกัน และปัจจัยที่คาลเปอร์สใช้ประกอบการพิจารณารายชื่อประเทศที่จะสามารถลงทุนได้ยังมีปัจจัยอื่น
ๆ ด้านแรงงานเป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่นอกเหนือจากปัจจัยทั่วไปที่ผู้ลงทุนต่างประเทศใช้ในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน
อย่างไรก็ดี คะแนนที่ประเทศไทยได้รับจากคาลเปอร์สในปีนี้สูงกว่าปีก่อนๆ ซึ่งนับได้ว่า
ประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดีในเรื่องบรรษัทภิบาล
นอกจากนี้ แม้ว่าจะไม่มีข่าวดังกล่าวสำนักงาน ก.ล.ต.ได้ให้ความสำคัญและมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการยกระดับบรรษัทภิบาลที่ดีในตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังได้มีการเตรียมความพร้อมของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าสู่การประเมินตามโครงการ
Report On The Obsorvance หรือ ROSCs ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศกับธนาคารโลก
ในหัวข้อบรรษัทภิบาลและมาตรฐานการกำกับเพื่อให้มีองค์กรกลางเข้ามาประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล
ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยเสริม สร้างความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึง กรณีที่คาลเปอร์ส
หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีแผนจะกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและได้ทำการตัดสินใจที่จะไม่กลับเข้ามาลงทุนว่า
เรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่า เป็นห่วงอะไร เพราะหากคาลเปอร์สเข้ามาลงทุนจริงก็จะมีสัดส่วนการลงทุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า สำหรับกรณีที่คาลเปอร์สลดน้ำหนักการลงทุนในไทย
คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อตลาดหลัก ทรัพย์มากนัก เพราะยังมีกองทุนต่างประเทศขนาดใหญ่ๆ
ในสหรัฐ ซึ่งมีจำนวนเงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทก็สนใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยหลายกองทุนเช่นกัน
สำหรับการลงทุนของ กบข.ขณะนี้นั้น กบข.มีเงินที่เตรียมที่จะนำไปลงทุนในหุ้นรัฐวิสาหกิจ
ที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน ปีนี้แล้วจำนวนมาก ซึ่งถ้าเงินที่เตรียมไว้ไม่พอก็อาจจะขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่กบข.ถืออยู่เพื่อที่จะนำเงินไปลงทุนในหุ้นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับ
การจัดสรร ซึ่งขณะนี้มีหุ้นรัฐวิสาหกิจที่เตรียมจะเสนอขายหุ้นจำนวน 2 บริษัทคือการท่าอากาศยานไทย
(ทอท) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องมีการปรับพอร์ตการลงทุนแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กำหนดแนวทางการกระจายหุ้นที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป
(IPO) นายวิสิฐกล่าวว่า นับเป็นสิ่งที่ดี เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส นักลงทุน ที่ซื้อขายด้วยมูลค่ามากก็ควรที่จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับการจัดสรร
ทางด้านนายจงรัก ระรวยทรง กรรมการอำนวยการ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวภายหลังการเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ
การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ว่าคณะกรรมาธิการฯ ได้เรียกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์
ตลาดหลักทรัพย์และสำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
เข้าชี้แจงในประเด็นเกี่ยวกับการ เปิดเสรีค่าคอมมิชชัน ที่มีกำหนดเปิดเสรีในเดือน
ม.ค. 2548 โดยคณะกรรมาธิการฯได้แสดงความ เป็นห่วงว่า หากเปิดเสรีแล้วจะกระทบต่อภาวะตลาดที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น
และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโบรกเกอร์
เนื่องจากเห็นว่าในช่วงปี 2543 ที่ผ่านมาที่มีการเปิดเสรีค่าคอมมิชชัน ปรากฏว่าทำให้ตลาดหุ้นซบเซาและดัชนีตลาดปรับตัวลดลง
รวมทั้งในส่วนของโบรกเกอร์ที่หันมาแข่งขันในเรื่องราคา ทำให้ระบบไม่แข็งแรง ส่งผลกระทบถึงผู้ลงทุนที่ไม่ได้รับการบริการที่มีคุณภาพ
และหาข้อมูลตัดสินใจลงทุนได้ยาก
ทั้งนี้ หลังจากที่คณะกรรมาธิการฯ ได้รับฟังคำชี้แจงแล้วก็จะมีการสรุปความเห็น
เพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกระทรวงการคลัง ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการ สำนักงาน
ก.ล.ต. เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
นายจงรักกล่าวว่า ในส่วนของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ได้ชี้แจงว่า ผลกระทบในช่วงที่เปิดเสรีค่าคอมมิชชันจากการสำรวจพบว่าโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ปรับตัวมาเป็น
ดิสเคาต์โบรกเกอร์ โดยใช้กลยุทธ์ด้านราคาเป็นหลัก ตัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานวิจัยลง
หลายแห่งใช้วิธีปิดฝ่ายวิจัย หรือลดเหลือแต่งานวิจัยด้านเทคนิค ไม่วิเคราะห์ด้านปัจจัยพื้นฐาน
บางแห่งลดเหลือวิเคราะห์หลักทรัพย์เหลือ 20 ตัว บางแห่งลดงาน วิจัยให้นานๆ ออกครั้ง
นอกจากนี้โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ยังปิดสาขา และลดจำนวนพนักงานลง โดยจะเห็นว่าผลการดำเนินงานในรอบปี
2544 จะพบว่าขาดทุน เนื่องจากตลาดหุ้นไทยเรายังไม่กว้างและลึกพอสำหรับการเปิดเสรี
สมาคมบริษัทหลักทรัพย์มีความเห็นว่ายังไม่พร้อม โดยดูจากปัจจัยด้านต่าง ๆ ได้แก่
เสถียรภาพตลาด ปัจจุบันตลาดมีความผันผวนมาก และฐานนักลงทุนก็ยังแคบ โดยที่ผ่านมาตัวเลขการเปิดบัญชีมี
3 แสนบัญชี หากนำปัจจัยเหล่านี้ไปเปรียบเทียบกับตลาดอื่นแล้วตลาดหลักทรัพย์ของไทยยังห่างมาก
จึงมีความ เห็นว่ายังไม่พร้อมที่จะเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นในขณะนี้