"ทักษิณ" ประกาศใช้เอฟทีเอเป็นกลยุทธ์เปิดเกมรุก เศรษฐกิจไทย เปิดตลาดให้ภาคเอกชน
ระบุ WTO อุ้ยอ้าย เชื่องช้าไม่ ทันใจ ชี้ต้องคำนึงถึงผลทางการเมืองของคู่เจรจา
อย่าขอลูกเดียว ต้องพร้อมจะให้ด้วย ยอมรับมีผลกระทบเอกชนแน่ เตือนให้เตรียมตัวรับมือ
รมว.พาณิชย์ ไม่ห่วงจีนตีตลาดผลไม้ช่วงนี้ ระบุเป็นเรื่องฤดูกาล หน้าร้อน เมื่อไร
ทุเรียน ลำไย มังคุด ส้มโอ มะม่วง ถล่มตลาดจีนเอาคืนได้แน่ แต่ภาคเอกชนร้องจีนงัดขั้นตอนการนำเข้ามากีดกัน
วานนี้ (18 ก.พ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดสัมมนาเรื่อง "การเปิด
การค้าเสรี : โอกาสทางธุรกิจ!" ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก
โดยมี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในเรื่อง "วิสัยทัศน์การทำเอฟทีเอ:ประโยชน์ที่
ประเทศไทยจะได้รับ"
ปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีมีสาระสำคัญว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจน จะใช้การเจรจาเอฟทีเอ
(เขตการค้าเสรี) เป็นตัวนำในด้านการค้าการลงทุนระหว่าง ประเทศ และจะใช้เป็นนโยบายเชิงรุก
มุ่งเจรจากับประเทศต่างๆ โดยยึดหลักในการเจรจาว่า จะต้องชนะทั้ง 2 ฝ่าย เพราะคู่เจรจาของไทยก็มาจากฝ่ายการ
เมือง สิ่งที่ทำแล้วเกิดผลกระ ทบทางการเมือง เขาจะไม่ทำ และประเทศไทยไม่ควรดึงดันที่จะเรียกร้อง
ในเรื่องที่อาจทำให้เขาเกิดความเสียหายด้านการเมือง
พ.ต.ท. ทักษิณ ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีนโยบายคุ้มครองเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในประเทศ
เนื่องจากเป็นฐานคะแนนเสียงที่สำคัญ
"การเจรจาจะต้องชนะทั้งการเมืองและธุรกิจ ดังนั้นเราจึงต้องทั้งให้และทั้งรับ
เราจะไม่เป็นผู้ขอ แต่เป็นเพื่อน และไม่ใช่ลูกน้อง เช่น การเจรจา กับญี่ปุ่น เราไม่ได้เรื่องข้าว
ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเสียเปรียบ เพราะข้าวไทยส่งออกไปที่อื่นได้ปีละ 7-8 ล้านตัน
ญี่ปุ่นจึงไม่ใช่ปัญหา" พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเจรจาการค้าเสรี ภายใต้กรอบกติกาขององค์การการค้าโลก
(WTO)ว่า องค์การค้าโลกเป็นการรวมตัวกันของประเทศต่างๆ และมีกรอบชัดเจนว่าในแต่ละปีต้องทำอะไรบ้าง
แต่ด้วยความเป็นกลุ่มใหญ่ จึงทำอะไรได้ช้า
"วันนี้ใหญ่อย่างเดียวไม่พอ จะต้องรวดเร็วด้วย ซึ่งนโยบายของรัฐบาลจะไม่รอให้คนอื่นมากำหนดกติกาให้ไทย
และมาเปลี่ยนแปลงให้ไทย แต่ไทยจะเปลี่ยนแปลงเอง ไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนา จะเลิกตั้งรับ
และเป็นฝ่ายรุกบ้าง เพราะถ้าตั้งรับเพียงอย่างเดียว อย่างเก่งก็แค่เสมอตัว"
พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ในปี 2547 นี้ เป็นปีที่ สำคัญปีหนึ่งของ การเจรจาเอฟทีเอ
เพราะการเจรจา บางคู่จะมีผลบังคับใช้ บางคู่อยู่ระหว่างเจรจา แต่ในปี 2548 จะเริ่มเปิดเอฟทีเอ
หลายๆ คู่เจรจา
เขตการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้แล้ว มีเพียงเขต การค้าเสรีระหว่างไทยกับจีนเท่านั้น
โดยมีการเปิด เสรีการนำเข้า-ส่งออกผัก ผลไม้ตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2546 เป็นต้นมา
ส่วนเขตการค้าเสรีที่จะเริ่มได้ในปีนี้คือ เขตการค้าเสรี ไทย-อินเดีย ซึ่งครอบคลุมสินค้า
84 รายการ และเขตการค้าเสรีไทย-บาห์เรน ครอบ คลุมสินค้า 626 รายการ จะเริ่มในวันที่
1 มีนาคม นี้ เขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย จะลงนามในเดือน พฤษภาคมปีนี้ สำหรับที่อยู่ระหว่างการเจรจากับ
ไทย-เปรู ไทย-ญี่ปุ่น และไทย-สหรัฐฯซึ่งจะเริ่มเจรจาในเดือนมิถุนายนปีนี้
ในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดกับภาคเอกชน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากนี้ไปเอกชนมีเวลาอีกปีกว่าที่จะปรับตัว
ซึ่งจะต้องเริ่มวางแผนการผลิต ทำวิจัยตลาด และปรับปรุงคุณภาพสินค้าเพราะเอฟทีเอ
เป็นช่องทางของเอกชน ขณะที่รัฐบาลจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อเปิดโอกาสให้กับเอกชน
โดยจะเป็นผู้ลงทุนให้ก่อน แล้วให้เอกชนเดินตาม
"โดยตัวของเอฟทีเอ เองสร้างโอกาสให้มาก แต่ก็มีภัยคุกคามเช่นกัน ดังนั้น
วิธีที่ดีที่สุดก็คือต้อง ปรับตัวเองให้เข้มแข็ง วันนี้ ในเรื่องของเอฟทีเอ ต้องบอกว่า
no choice คือ ไม่มีทางเลือก เอกชนต้องฮึกเหิม ต้องช่วยตัวเอง แต่รัฐบาลจะเบิกทางให้แน่
นอน" พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว
ในการทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ รัฐบาลจะ ให้ความสำคัญในเรื่องของกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า
เพราะเรื่องนี้สำคัญ ซึ่งเมื่อก่อนก็ไม่รู้ อย่างเช่น สินค้าสิ่งทอ ชัดเจน ถ้าเราซื้อผ้าผืนในประเทศต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
(VAT) 7% ถ้านำเข้ามาผลิตแล้ว ส่งออกไม่เสียภาษี แต่เมื่อผลิตแล้วไม่ได้แหล่งกำเนิดสินค้าส่งออกก็ไม่ได้ลดภาษี
ดังนั้น อยากจะบอกว่าการทำเอฟทีเอ ต้องคำนึงถึงเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าให้มาก และเอกชนต้องรู้ให้ทัน
นอกจากนี้ รัฐบาลจะให้ความสำคัญในเรื่องของการเจรจาให้ประเทศที่ไทยได้ทำเอฟทีเอ
ด้วยเลิกการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการ ด้านภาษี เพราะเอฟทีเอจะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา
ตรงนี้ด้วย แต่ถ้าใครยังทำกับไทย ก็จะไม่ยอมและจะใช้มาตรการเดียวกันนี้ตอบโต้
ชี้มีทั้งคนได้คนเสียแต่ชาติได้ประโยชน์
นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงพาณิชย์จะมุ่งการเจรจาเอฟทีเอ
เพราะเป็นเรื่องระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งทำได้ง่ายและเร็ว แต่ก็อยากจะขอทำ ความเข้าใจว่า
อย่าไปคิดว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบจากการทำเอฟทีเอ แน่นอนว่าต้องมีคนได้คนเสีย
แต่สุดท้ายแล้วในภาพรวมไทยได้ประโยชน์ก็น่าจะคุ้ม
"การเจรจาเอฟทีเอ ไม่ใช่ว่าเมื่อลดภาษีเหลือ 0% แล้วบอกว่าดี แต่ปัญหาข้อกีดกันทางการค้าต่างๆ
จะต้องหมดไปด้วย เพราะถ้าภาษี 0% แต่ส่งสินค้าเข้าไปต้องผ่านอีก 8 หน่วยงาน ไม่ได้ประโยชน์
แต่ถ้าภาษียังสูง ส่งสินค้าเข้าไปผ่านแค่หน่วยงานเดียว อันนี้น่าจะดีกว่า ซึ่งตอนนี้กระทรวงพาณิชย์
พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ถ้าใครเห็นว่าเมื่อเปิดเสรีแล้ว ยังมีปัญหาอุปสรรคอะไรอีก
ก็ขอให้มาบอก แล้วจะไปเจรจาแก้ไขให้"นายวัฒนากล่าว
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในวันที่
25 ก.พ.นี้ จะมีการประชุมร่วมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์เอฟทีเอของไทย
ทำเอฟทีเอไทยได้มากกว่าเสีย
นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอจะมีผลดีกับไทย
เพราะจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมขยายกำลังการผลิตได้ดีขึ้น เพิ่มปริมาณ การค้าและการลงทุน
แต่ก็มีผลเสียที่จะทำให้อุปสรรคทางการค้าเปลี่ยนไปในลักษณะอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ในการเจรจาเอฟทีเอ
ส่วนเอฟทีเอที่ภาคเอกชนต้องการให้มุ่งดำเนิน การ เช่น จีนและอินเดีย เพราะเป็นตลาดใหญ่
บาห์เรนและเปรู ที่จะเป็นประตูการค้า ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดเก่าของไทย
ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรจะมีการเตรียมความพร้อมให้กับภาคเอกชนด้วย
อินเดีย-บาห์เรนเบี้ยวไทย
อย่างไรก็ตาม เขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย และไทย-บาห์เรน ซึ่งกำหนดจะมีผลในวันที่
1 มีนาคมนี้ จะต้องชะลอออกไปก่อน นายชนะ คณะรัตนดิลก นักวิชาการพาณิชย์ 9 กล่าวว่า
อินเดียตกลงที่จะเปิด เสรีนำร่องสินค้า 84 รายการตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.นี้เป็น
ต้นไป แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถตกลงกันในเรื่อง ของแหล่งกำเนิดสินค้าได้ ทำให้ต้องมีการร่นระยะเวลาการเปิดเสรีออกไปจนถึงวันที่
1 ก.ค.2547 แทน
ขณะที่บาห์เรน แม้จะลงนามเปิดเสรีกันตั้งแต่เดือน ธ.ค.2545 และจะเริ่มเปิดเสรีตั้งแต่วันที่
1 ม.ค.2547 โดยลดภาษีเหลือ 0% จำนวน 419 รายการ และ 3% อีก 207 รายการ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังทำไม่ได้
เพราะกฎหมายภายในของบาห์เรนยังทำไม่เสร็จ แต่คาดว่าในเร็วๆ นี้ คงจะดำเนินการได้
เพราะได้รับแจ้งจากทางบาห์เรนว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการแล้ว
เปิดเสรีไทย-สหรัฐฯกระทบเกษตร-บริการ
นายนิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานคณะทำงานพิจารณาข้อตกลงเปิดเสรีไทย-สหรัฐฯ กล่าวว่า
ในเดือนมิ.ย.นี้จะเริ่มเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งที่สหรัฐฯ สนใจในด้านเกษตร อาหารแปรรูป
เครื่องหนัง บริการ ก่อสร้าง โทรคมนาคม การเงิน การศึกษา ขณะที่ไทยจะได้ประโยชน์ในสินค้าอัญมณี
เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ซึ่งโดยภาพรวมไทยต้องลดภาษีมากกว่าสหรัฐฯเพราะภาษีสูงกว่า
แต่ไทยจะได้ประโยชน์โดย ได้รับการลดภาษีเร็วกว่าหลายประเทศในหลายสินค้า เช่น ออสเตรเลียได้ลดภาษี
0% ในสินค้าอะลูมิเนียม ทูน่ากระป๋อง รถยนต์ไปแล้ว หากไทยช้าจะเสียตลาด ให้ออสเตรเลียได้
วัฒนาปลอบธุรกิจผลไม้ถึงหน้าร้อนแล้วจะดีเอง
ในวันเดียวกันนี้ สภาธุรกิจไทย-จีนได้จัดสัมมนาเรื่องเจาะลึกการส่งออก นำเข้าผักและผลไม้ไทย-จีนที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติเช่นเดียวกัน
โดยนายวัฒนาได้เดินทางมากล่าวเปิดงานด้วย และกล่าวในตอนหนึ่งว่า การเปิดเสรีนำร่องสินค้าผักและผลไม้กับจีนตั้งแต่เดือน
ต.ค.2546 ที่ผ่านมา แม้ว่าสถิติในช่วง 3 เดือนหลังจากเปิดเสรี (ต.ค.-ธ.ค.2546)
จีนจะส่งเข้ามาไทยได้มากกว่า แต่ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผลไม้เมืองหนาวของจีนออกมาแล้ว
แต่ของไทยเป็นผลไม้เมืองร้อนและผลผลิตยังไม่ออกมา จีนจึงส่งมาไทยได้มากกว่า ซึ่งถือเป็นการดีเสียอีกที่ไทยจะได้ใช้โอกาสในช่วงเริ่มต้นดูปัญหาและอุปสรรค
เพื่อที่จะแก้ไขได้ทัน เพราะตั้งแต่เดือนมี.ค.นี้เป็นต้นไป ผลไม้เมืองร้อนของไทยจะออกมา
และมั่นใจว่าจะส่งออกไปยังจีนได้มากขึ้น
"ผมเพิ่งรู้เหมือนกันว่านายกรัฐมนตรีคิดถูกที่เรายอมเปิดเสรีกับจีนในช่วงที่จีนมีผลไม้มาก
เพราะเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ และพอเมื่อถึงเวลาที่ผลไม้ของเราออก
เราก็จะส่งไปจีนได้โดยไม่มีปัญหา" นายวัฒนากล่าว
นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรเครือเจริญโภคภัณฑ์
กล่าวในการสัมมนาเรื่องเดียวกันนี้ว่าตั้งแต่เดือนมี.ค.-พ.ค.นี้ ผลไม้ฤดูร้อนของไทยจะออกสู่ตลาดมาก
โดยเฉพาะ ทุเรียน ลำไย มังคุด ส้มโอ และมะม่วง หากผู้ส่งออก ไทยเตรียมพร้อมได้
ก็จะสามารถส่งผลไม้ดังกล่าวเข้าสู่ตลาดจีนได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผลไม้ไทยจะออกสู่ตลาด ผู้ส่งออกต้องการให้รัฐบาลไทยเร่งเจรจาลดอุปสรรค
ทางการค้ากับจีนอย่างจริงจัง เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องขั้นตอนและระเบียบการนำเข้าซ้ำซ้อนมาก
เช่น การตรวจรับสินค้า และตัวสารพิษตกค้าง หากผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายไทยแล้ว น่าจะใช้ผลรับรองยืน
ยันกับฝ่ายจีนได้เช่นกันโดยไม่ต้องผ่านการตรวจซ้ำอีก เพื่อไม่ให้สินค้าเกิดการเน่าเสียเพราะรอตรวจหลายรอบ
หรือกรณีที่จีนไม่มั่นใจก็แนะว่าให้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบมาประจำที่ไทย และทำงานร่วมกับฝ่ายไทย
จะได้เกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
นาย Wang Yi Yu ตัวแทนหน่วยกักกันโรคของจีน กล่าวว่า สาเหตุที่จีนตรวจสอบผลไม้จากไทย
อย่างเข้มงวด เพราะก่อนหน้านี้ผลไม้ไทยมีปัญหาถูก ตรวจพบโรคและสารตกค้างหลายชนิด
ทั้งกำมะถัน ตะกั่ว และสารหนู ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลไทยควบคุมการใช้สารต้องห้ามกับผู้ปลูกด้วย
รวมถึงต้องการให้ภาครัฐของสองฝ่าย มีการประสานงานกันให้มากขึ้น เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะได้แก้ไขทันต่อเหตุการณ์
และเห็นด้วยกับข้อเสนอ ที่จะให้ส่งเจ้าหน้าที่ของจีนมาประจำในไทย