อดีตบจ.ยื่นอุทธรณ์เข้าตลท.


ผู้จัดการรายวัน(18 กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาวะหุ้นขาขึ้น 3 บจ.อสังหาริมทรัพย์กับอีก 1 บจ.วัสดุก่อสร้าง กลับลำยื่นอุทธรณ์ ต่อตลาดหลักทรัพย์ขอเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนรอบใหม่ หลังถูกเพิกถอนเมื่อปลายปี 46 เหตุรายงาน ความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ไม่ทัน ด้าน "โสภาวดี" คาดใช้เวลาพิจารณาไม่เกินเดือน ก.พ.

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย ประธานศูนย์ระดมทุนและตลาดหลักทรัพย์ใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ไทยได้มีคำสั่งให้สิ้นสภาพจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท คันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (CNTRY) บริษัท เพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) (PP) บริษัท รัตนการเคหะ จำกัด (มหาชน) (RR) บริษัท ศรีวรา เรียลเอสเตท กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (S-VARA) ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของตลาดหลัก- ทรัพย์ เพื่อขอกลับเข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนอีกครั้ง โดยตลาดหลักทรัพย์คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน เดือน ก.พ. 2547 นี้

การยื่นอุทธรณ์ของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวถือว่าเพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งสาเหตุที่บริษัทเหล่านี้ไม่ต้องการออกจากตลาดหลักทรัพย์ อาจมีสาเหตุหนึ่งมาจากภาวะตลาดที่อยู่ในช่วงขาขึ้นทำให้บริษัทจดทะเบียนต้องการอยู่ในตลาดต่อไป สำหรับ 4 บริษัทดังกล่าวในจำนวน นี้เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3 ราย คือ CNTRY ,RR, S-VARA, และเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง 1 ราย คือ PP

แหล่งข่าวจากบริษัท รัตนการเคหะ จำกัด (มหาชน) (RR) เปิดเผยว่า สาเหตุที่บริษัทฯยื่นอุทธรณ์ต่อตลาดหลักทรัพย์เพื่อเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่าบริษัทฯยังคงมีคุณสมบัติที่จะเป็นบริษัทจดทะเบียนต่อไปได้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันส่วนผู้ถือหุ้นยังคงติดลบ แต่จากความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ จะทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นพลิกเป็น บวกได้ภายในต้นปี 2547 นี้

สำหรับข้อมูลที่ต้องยื่นเพิ่มเติมต่อตลาดหลักทรัพย์ฯส่วนใหญ่จะเป็นรายละเอียดและขั้นตอนของแผนฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งเหตุผลที่จะขอกลับเข้ามาจดทะเบียนในตลาดอีกครั้ง

"ที่จริงแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของเราใกล้สำเร็จอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ทันการพิจารณาของตลาดหลักทรัพย์ที่มีมติให้เพิกถอนบริษัทฯออกจากตลาด ดังนั้น เราจึงยื่นอุทธรณ์ต่อตลาดหลักทรัพย์เพื่อกลับเข้ามาในตลาดหุ้นอีกครั้ง" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2546 ให้เพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO หรือกลุ่มที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีคุณสมบัติเข้าข่ายถูกเพิกถอนและไม่สามารถดำเนินการแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนได้ จำนวน 5 บริษัท คือ บริษัท คันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)(CNTRY) บริษัท เพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน)(PP) บริษัท รัตนการเคหะ จำกัด (มหาชน) (RR) บริษัท ศรีวรา เรียล เอสเตท กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)(S-VARA) และ บริษัท วงศ์ไพฑูรย์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (WFC)

โดยกำหนดให้หลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าว สิ้นสภาพจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2546 เป็นต้น ซึ่งการพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นไปตาม ข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเพิถอนหลักทรัพย์จดทะเบียนและแนวทางการดำเนินการเพิกถอนบริษัทในหมวด REHABCO ที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์กำหนด กล่าวคือ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณาสั่งเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทที่อยู่ในหมวด REHABCO ครบ 2 ปีและมีลักษณะเข้าเหตุใดเหตุหนึ่ง

ดังต่อไปนี้

บริษัทไม่มีทรัพย์สินหลักในการประกอบธุรกิจต่อไปหรือธุรกิจหลักที่มีอยู่ไม่สามารถแสดง ได้ว่าจะทำให้บริษัทดำรงอยู่ได้ต่อไป, แผนการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทไม่คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือลดมูลค่าหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมเหลือศูนย์, ผู้บริหารหรือเจ้าหนี้ของบริษัทไม่มีความตั้งใจในการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้, บริษัทไม่มีความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ ที่เหมาะสมและชัดเจน, มีภาระหนี้และภาระผูกพันภายหลังการปรับโครงสร้างหนี้คงเหลือจำนวนมากจนทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้

ทั้งนี้ แนวทางข้างต้นมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2546 และได้กำหนดให้ตลาด หลักทรัพย์ติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของบริษัทในหมวด REHABCO โดยให้บริษัทจัดทำรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขคุณสมบัติทุก 6 เดือนและเสนอคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอนบริษัทที่ไม่มีความคืบหน้า

ตลาดหลักทรัพย์ได้พิจารณารายงานความคืบหน้าของบริษัทในหมวด REHABCO ทุกบริษัทแล้ว พบว่า CNTRY, PP, RR, S-VARA และ WFC มีลักษณะเข้าข่ายให้เพิกถอน ตามแนวทางที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์กำหนดและไม่อาจดำเนินการแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนได้ โดยบริษัทดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า ในการปรับโครงสร้างหนี้หรือมีการปรับโครงสร้าง หนี้ที่ทำให้ไม่สามารถพิจารณาได้ว่าบริษัทจะดำเนินธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้ ในขณะที่บางแห่งไม่มีสินทรัพย์หลักและไม่มีรายได้ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งในบางกรณีมีแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ที่ไม่คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวเข้าข่ายต้องฟื้นฟูกิจการและย้ายเข้าหมวด REHABCO มาเกินกว่า 3 ปีแล้ว

อนึ่ง ในระยะที่ผ่านมาบริษัทในหมวด REHABCO สามารถแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ และย้ายกลับหมวดปกติในปี 2546 เป็นจำนวน 8 บริษัท และบริษัทที่ยังคงอยู่ในหมวด REHABCO และไม่ได้ถูกเพิกถอนในคราวนี้อยู่ระหว่างเร่งแก้ไขฐานะการเงินและผลการดำเนินงานให้ดีขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.