แบงก์ชาติแจงแผนยกระดับเป็น แบงก์พาณิชย์ของฟินันซ่ากับบีฟิทล่ม เหตุทำผิดกฎ
ขายหุ้นก่อนเกณฑ์ตั้งแบงก์พาณิชย์ โดยรมต.คลังลงนามวันที่ 23 ม.ค. ด้านรองผู้ว่าฯเผยมีสถาบันการเงิน
1 แห่งขอยกระดับอย่างเป็นทางการแล้ว ด้านเอบีเอ็น แอมโร เข้าพบ รมต.คลังวันนี้
ยืนยันถอนการลงทุน ในแบงก์เอเชีย "สุชาติ เชาว์วิศิษฐ" แย้มปีนี้มีสถาบันการเงินควบรวมไม่ต่ำกว่า
2 ดีล
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัทเงินทุน
กรุงเทพธนาทรแสดงความจำนงในการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ โดยการควบรวมกิจการกับบริษัทเงิน
ทุนฟินันซ่า โฮลดิ้ง แต่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ ในเวลาต่อมา ซึ่งไชน่าดีเวลลอปเม้นท์
อินดัสเตรียล จำกัด ขายหุ้นของบง.กรุงเทพธนาทรให้กับผู้ถือหุ้นรายอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
ว่า ถือว่าไม่มีสิทธิ์ที่จะขอยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากกระทำ ผิดกฎเกณฑ์การยกระดับ
โดยเกณฑ์ดังกล่าวระบุว่าการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ของสถาบัน การเงินที่ต้องการยกระดับจะต้องทำก่อนเกณฑ์การตั้งธนาคารพาณิชย์
นับวันลงนามของรมว. คลังคือวันที่ 23 ม.ค. แต่กรุงเทพธนาทรดำเนินการขายหุ้นหลังจากนั้น
"ธปท.หารือกับ บีฟิท และบง.ฟินันซ่า แล้ว ซึ่งเขาก็รับทราบว่าไม่สามารถดำเนินการในรูปแบบเดิมที่ได้เสนอมา
แต่เขาจะดำเนินการอย่างไร ต่อไปนั้นยังไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับทั้ง 2 แห่งที่จะหารือกัน"
ผู้ว่าการธปท.กล่าว
ทางด้านนางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีสถาบันการเงิน
1 กลุ่มยื่นเรื่องเพื่อขอยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์อย่างเป็นทางการมาให้ ธปท. พิจารณาแล้ว
แต่ทาง ธปท. ยังอยู่ในระหว่างการนำแผนทั้งหมดของสถาบันการเงินแห่งนี้มาพิจารณาในเบื้องต้น
"ธปท.กำลังดูว่าแผนที่ยื่นมาเป็นไปตามเกณฑ์ที่จะตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์หรือไม่
ซึ่งยังบอกชื่อสถาบันการเงินที่ขอยื่นยกระดับไม่ได้ว่าเป็นบริษัทเงินทุน หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามสิ่งสำคัญอยู่ที่ความเข้มแข็งมากกว่า" นางธาริษา
กล่าว
เอบีเอ็น แอมโร พบคลังขอถอนเงินจากแบงก์เอเซีย
ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้
ผู้แทนจากธนาคารเอบีเอ็น แอมโร ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนของธนาคารเอบีเอ็น แอมโร เอเซีย
จำกัด (มหาชน) จะเดินทางเข้าหารือกับตนในเรื่องการถอนเงินลงทุนจากธนาคาร ซึ่งถือเป็นธรรมเนียม
มารยาทตามปกติในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หรือ ถอนเงินลงทุนออกไป แต่ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคงไม่ทำหน้าที่ในการเจรจาหาผู้ร่วมทุนใหม่
หรือ ชักชวนให้ลงทุนต่อ เพราะถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของภาคเอกชนที่จะต้องตัดสินใจและดำเนินการด้วยตัวเอง
"ทางเอบีเอ็นแอมโรเขานัดหมายมาว่าจะมาพบ เขาคงมาบอกว่าจะไปแล้วนะ ซึ่งเราก็คงไม่ว่าอะไรเพราะเป็นเรื่องของเอกชนสนใจ
แต่ผมเชื่อว่าถ้าเขาขายมีคนซื้อแน่นอน แต่ไม่ใช่เราแน่ เพราะลำพังธนาคารพาณิชย์ของรัฐที่มีอยู่ก็มากอยู่แล้ว"
ร.อ.สุชาติ กล่าวว่า หากให้มองแนวโน้มของ ธนาคารพาณิชย์ลูกครึ่งทั้งหลายก็คงต้องขยับขยาย
เพราะการที่แบงก์อื่นๆ รวมทั้ง บริษัทเงินทุน เริ่มรวมตัวกันเป็นธนาคารพาณิยช์ที่ใหญ่ขึ้น
การแข่งขันก็ลำบากขึ้น แต่การจะตัดสินใจควบรวมกับแห่งใดนั้นเป็นเรื่องของเอกชน
รัฐคงไม่เข้าไปยุ่ง
"อย่างที่ผมเคยบอกไปแล้วว่าในปีนี้จะได้เห็นการควบรวมกันของสถาบันการเงินไม่ต่ำกว่า
2 ดิว ซึ่งเราก็ได้ดำเนินการเรื่องธนาคารทหารไทย ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแต่ใครจะเป็นรายต่อไป็คงต้องดูกันไป
เท่าที่ผมตอบได้คือทางยูโอบีเขาสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในธนาคารไทย แต่จะรวมกับที่ไหนคงตอบไม่ได้มันขึ้นอยู่กับการเจรจา"
ธปท.เร่งฟ้องผู้บริหารรายใหญ่ก่อน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กล่าวถึงกรณีที่ ธปท.ได้ส่งหนังสือเวียนเพื่อขอให้สถาบันการเงินทุกแห่งดำเนินการอายัดทรัพย์อดีตผู้บริหารธนาคารมหานครที่ถูกกล่าวหาว่าทำให้ธนาคารเกิดความเสียหายว่า
กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ(สศก.) ได้ร้องขอมาก ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น ส่วนคดีการฟ้องร้องผู้บริหารสถาบันการเงินที่เหลือ
"ขณะนี้ทางธปท.กำลังเร่งให้ดำเนินการเพิ่มเติมอยู่ ซึ่งเห็นว่ายังเหลือคดีอีกไม่มาก
แต่ธปท.ก็ติดตามผลอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นขอดำเนินการกับรายใหญ่ก่อน" ผู้ว่าการธปท.
กล่าว
ธาริษาชี้ผู้ว่าแบงก์ชาติถือหุ้นบ.เอกชนได้
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (
ธปท.) เปิดเผยว่า การที่มีข่าวว่าผู้ว่าการ ธปท. มีหุ้นในบริษัทเอกชนนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ผิดเนื่องจากทาง
ธปท.ไม่ได้มีข้อห้ามให้ผู้บริหารไปถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆในการลงทุน แต่ ธปท.มีกฎว่าให้ผู้บริหารต้องรายงานให้กับทางคณะกรรมการของ
ธปท.ทราบ ถึงรายการสินทรัพย์ที่มีอยู่ และการมีสินทรัพย์ดังกล่าวของผู้บริหารไม่ควรมีเพื่อการซื้อขายเก็งกำไร
หากไม่มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือเป็นผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้มีบทบาท ในการบริหารงานก็ไม่น่าจะมีปัญหา
อย่างใด ทั้งนี้ ตามกฎของ ธปท. แล้ว ถ้าซื้อแล้ว เก็บไว้เพื่อการลงทุนก็ไม่มีปัญหา
แต่ถ้าซื้อๆขายๆ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง