ก.ล.ต.ลุยสอบโบรกมุ่งรับออเดอร์หุ้นปัน


ผู้จัดการรายวัน(18 กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ก.ล.ต.ลุยสอบโบรกเกอร์ที่รับออเดอร์หุ้นปั่นแล้วสัปดาห์นี้ หลังได้ข้อมูลที่บ่งชี้อาจมีสิ่งผิดปกติ ขณะที่สมาคมโบรกเกอร์ รับลูก ห้ามลูกค้าเล่นเน็ตเซตเทิลเมนต์-มาร์จิ้น หุ้นที่เทิร์นโอเวอร์ 40% ขึ้นไป และค่า P/E เกิน 100 เท่า ที่เข้าข่ายปั่น หรือยังมีผลการดำเนิน งานขาดทุน หรือบริษัทหมวดรีแฮบโก ดีเดย์ 1 มี.ค. นี้ หลัง ก.ล.ต.ยื่นข้อเสนอหากยอมเป็นเด็กดี จะพิจารณายืดเสรีค่าคอมมิชชัน ที่เดิมจะมีผล ม.ค.ปี 48

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป ก.ล.ต.เริ่มส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบบริษัทหลักทรัพย์ที่รับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ ที่อยู่ในเทิร์น โอเวอร์ลิสต์ (Turnover List) ที่ ก.ล.ต.สั่งให้ทุกโบรกเกอร์ส่งรายชื่อหุ้นที่เข้าข่ายมีเทิร์น โอเวอร์ 40% ขึ้นไป และสัดส่วนราคาหุ้นต่อกำไร (พีอี) เกิน 100 เท่า หรือยังมีผลดำเนินงานขาดทุน แต่ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นตลอด

นายธีระชัยกล่าวว่า ขณะนี้ ก.ล.ต.ได้ข้อมูลส่วนนี้เพียงพอแล้ว และพบความผิดปกติของหุ้นในส่วนนี้อยู่บ้าง จึงเริ่มส่งเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.เข้าตรวจสอบสำนักงานบริษัทหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายผิดปกติเหล่านี้

ขณะที่แหล่งข่าวผู้บริหารโบรกเกอร์รายหนึ่ง เปิดเผยว่าสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) หารือร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. เกี่ยวกับมาตรการป้องกันความเสี่ยงโบรกเกอร์ และการควบคุมการเก็งกำไร โดยจะห้ามโบรกเกอร์ให้ลูกค้ายืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้น) และห้ามลูกค้าซื้อขายแบบหักกลบลบหนี้หุ้นเดียวกัน ภายในวันเดียวกัน (เน็ตเซตเทิลเมนต์) หุ้นที่สัดส่วนปริมาณซื้อขายเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นที่อยู่ในมือประชาชน (เทิร์นโอเวอร์ ลิสต์) สูงเกิน 40% และค่า P/E เกิน 100 เท่า หรือยังมีผลดำเนินงานขาดทุน หรือเป็นบริษัทที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ (รีแฮบโก)

โดยจะประกาศรายชื่อหุ้นดังกล่าวทุกวันศุกร์หลังปิดตลาดหุ้น เพื่อให้นักลงทุนทราบว่า วันจันทร์ มีหุ้นตัวใดบ้าง ที่ห้ามเล่นมาร์จิ้น และเน็ตเซตเทิลเมนต์ คาดว่าจะเริ่มใช้มาตรการดังกล่าววันที่ 1 มี.ค.นี้

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ยื่นข้อเสนอสมาคมฯ ว่าหากสมาคมฯ ร่วมมือป้องกันความเสี่ยง และควบคุมการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ที่ไร้เหตุผล ก.ล.ต. จะพิจารณา ยืดใช้ค่าคอมมิชชันแบบเสรี ตามที่สมาคมฯ เสนอ จากเดิม กำหนดให้เปิดเสรี ม.ค. 2548

"ตอนแรก ก.ล.ต.จะห้ามเล่นมาร์จิ้น และเน็ตเซตเทิลเมนต์ในหุ้นทั้ง 50 ตัวที่อยู่ในเทิร์นโอเวอร์ ลิสต์ แต่สมาคมฯ เห็นว่าจะเป็นการเหวี่ยง แหเกินไป และจะกระทบต่อตลาดฯ โดยรวมได้ ดังนั้นคณะทำงานจึงเสนอให้ห้ามเฉพาะหุ้นที่มีเทิร์นโอเวอร์เกินกว่า 40% และมี P/E เกิน 100 เท่า หรือมีผลการดำเนินงานขาดทุน หรืออยู่ในรีแฮบโกก็พอ" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า มาตรการดังกล่าว ถือ เป็นเรื่องต่อเนื่องจากการที่สำนักงาน ก.ล.ต.ให้โบรกเกอร์รายงานมูลค่าซื้อหลักทรัพย์ลูกค้าบุคคลธรรมดา ซึ่งซื้อหุ้นใน Turnover List เฉพาะหุ้นที่สัดส่วน P/E เกิน 100 เท่า หรือหุ้นบริษัทที่ผลดำเนินงานขาดทุน หรือหุ้นหมวด REHABCO โดยไม่ต้องระบุชื่อลูกค้าแต่ละราย และส่งให้สำนักงาน ก.ล.ต.เป็นรายสัปดาห์ภายใน 7 วัน แต่สิ้นสุดสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ข้อมูลสัปดาห์แรก ก.พ. เป็นต้นไป แต่ยังไม่สามารถลดความร้อนแรงของการเก็งกำไรหุ้นดังกล่าวได้

ด้านนายรพี สุจริตกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต.ไม่ได้มีมติเรื่องดังกล่าว แต่เป็นเรื่องที่สมาคมโบรกเกอร์หารือกันในหมู่สมาชิก เพื่อหาแนวทางป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการซื้อขายหุ้นของลูกค้าเฉพาะบางหุ้นเท่านั้น หลังจากสำนักงาน ก.ล.ต.ฝากเป็นการบ้านให้โบรกเกอร์หาวิธีป้องกันความเสี่ยง ในการประชุมร่วมกันเมื่อ วันที่ 22 ม.ค. ซึ่งสมาคมฯต้องนำเรื่องดังกล่าวหารือกับ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ต่อไป โดยอำนาจหน้าที่การออกประกาศเพื่อบังคับใช้ เป็นของตลาดหลักทรัพย์

ส่วนประเด็นการเปิดเสรีค่าคอมมิชชัน สำนักงาน ก.ล.ต.กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาข้อ เสนอสมาคมโบรกเกอร์ ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาเสร็จก่อน มี.ค.นี้ เขายืนยันว่าไม่ได้ยื่นข้อเสนอใดๆ กับสมาคมโบรกเกอร์ทั้งสิ้น

สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งรายชื่อหลักทรัพย์ที่เทิร์นโอเวอร์ ลิสต์ เกิน 40% และค่า P/E เกิน 100 เท่า หรือผลดำเนินงานขาดทุน หรืออยู่ใน รีแฮบโก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่12 ก.พ. ทั้งสิ้น 6 หลักทรัพย์ ประกอบด้วย บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) เทิร์นโอเวอร์ 379.03% และผลดำเนินงานขาดทุน บริษัท แกรนด์ แอสเสท ดีเวลลอป เม้นท์ (GRAND) เทิร์นโอเวอร์ 195.02% และผลดำเนินงานขาดทุน

บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (GENCO) เทิร์นโอเวอร์ 124.75% และผลดำเนินงานขาดทุน บริษัท สามารถเทลคอม (SAMTEL) เทิร์นโอเวอร์ 79.94% และผลดำเนินงานขาดทุน บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น (TA) เทิร์นโอเวอร์ 55.42% และผลดำเนินงานขาดทุน และบริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา (TNITY) เทิร์นโอเวอร์ 40.62% และ P/E 106.39 เท่า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.