โบรกฯติงเกณฑ์หุ้นจองอ้างทำรายเล็กต้นทุนสูง


ผู้จัดการรายวัน(17 กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ก.ล.ต.ออกกฎคุมเข้มการจัดสรรหุ้นจองสั่งเปิดรายชื่อคนได้หุ้นจอง โบรกเกอร์เห็นด้วยแนวทางดี แต่แนวทางการ กระจายหุ้นวงกว้างถ้าผ่านแบงก์พาณิชย์ทำได้เฉพาะบริษัทใหญ่มูลค่าระดมทุน 1 หมื่นล้านบาทขึ้น ทั้งยังส่งผลร้ายให้อันเดอร์ไรท์เตอร์เสี่ยง ต้องแบกรับหุ้นจองไว้เองหากประชาชนไม่สนใจจอง

นายชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลัก ทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบแนว ทางการจัดสรรหุ้นที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและสร้างกลไกสนับ สนุนให้มีการกระจายหุ้นไปยังผู้ลงทุนในวงกว้าง โดยให้เปิดเผยวิธีการจัดสรรและรายงานการจัด สรรให้ชัดเจน แต่ยังคงเปิดโอกาส ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์และผู้จัด จำหน่ายหลักทรัพย์สามารถกำหนด สัดส่วนการจัดสรรหุ้นให้ผู้ลงทุนกลุ่มต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เนื่องจากแต่ละบริษัทอาจมีกลุ่มผู้ลงทุนเป้าหมายแตกต่างกัน และเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงแก่ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์โดยไม่จำเป็น

แนวทางดังกล่าวมีดังนี้คือก่อนการจัดสรร ต้องเปิดเผยข้อมูล ดังต่อไปนี้ให้ชัดเจนในหนังสือชี้ชวน ได้แก่ กลุ่มผู้มีสิทธิได้รับการจัดสรร เช่น ผู้ลงทุนรายย่อย ผู้มีอุปการ-คุณของผู้ออกหลักทรัพย์ โดยระบุ ลักษณะของการมีอุปการคุณให้ชัดเจนว่าเป็นลูกค้าที่ซื้อสินค้า ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ พนักงานบริษัทในเครือผู้ที่จะเข้ามาร่วมทุน (strategic partners) เป็นต้น หากจะไม่จัดสรรหุ้น ให้ผู้ลงทุนรายย่อย ให้ระบุเหตุผลของการไม่จัดสรร และหากจะจัดสรร หุ้นให้ผู้ลงทุนรายย่อย สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ขอให้บริษัทหลักทรัพย์พิจารณาใช้วิธีที่จะจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้จองซื้อทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน

นายชาลี กล่าวต่อไปว่า ส่วนภายหลังการจัดสรร ต้องจัดทำรายงานดังต่อไปนี้ คือ รายชื่อ ผู้ได้รับจัดสรรหุ้นสูงสุด 20 อันดับแรกเพื่อเปิดเผยต่อประชาชนโดยไม่นับรวมผู้ลงทุนสถาบัน และ ESOP พร้อมทั้งระบุด้วยว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับการจัดสรรกลุ่มใดและเป็นผู้มีอุปการคุณ ลักษณะใดตามที่ระบุในหนังสือชี้ชวน ทั้งนี้ หากมีการกันส่วนไว้ให้ผู้มีอุปการคุณ ผู้ออกหลักทรัพย์ต้องส่งรายชื่อผู้ได้รับจัดสรรหุ้นสูงสุด 200 รายแรกให้แก่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. พร้อมเหตุผลการจัดสรรให้แต่

ละราย และต้องจัดทำและจัดเก็บรายละเอียดการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้ได้รับการจัดสรรทุกรายที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป โดยเก็บไว้เป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถตรวจสอบได้

นอกจากนี้ ยังต้องจัดทำรายชื่อผู้มีอุปการคุณทั้งหมดที่ได้รับจัดสรรหุ้นมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป แยกตามลักษณะการมีอุปการคุณ และเสนอให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบ ได้แก่ ในการจัดสรรหุ้นให้ผู้ลงทุนรายย่อย หากบริษัทหลักทรัพย์แห่งใดจะจัดสรรตามดุลยพินิจของบริษัทหลักทรัพย์เอง ต้องส่งรายงานรายชื่อผู้ได้รับจัดสรรหุ้นสูงสุด 100 รายแรกให้แก่สำนักงาน คณะกรรมการ ก.ล.ต. พร้อมเหตุผลการจัดสรร ให้แต่ละราย และต้องจัดทำและจัดเก็บรายละเอียดการจัดสรรหุ้น ให้แก่ผู้ได้รับการจัดสรรทุกรายที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป โดยเก็บไว้เป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตรวจสอบ

นายบุญชัย ศรีปรัชญาอนันต์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร กล่าวว่า แนวทางการจัดสรรหุ้นที่เสนอขายต่อประชาชนในครั้งแรก (IPO) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดให้ต้องมีการเปิดเผยรายชื่อ เพื่อความโปร่งใส เป็นแนวทางที่ และเห็นด้วยกับแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่อย่างไรก็ดี ควรมีการประชุม พิจารณากันในรายละเอียดก่อน เนื่องจากยังมีข้อจำกัดมากมายในการดำเนินการตามมาตรการ ดังกล่าว เพราะจะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงในการกระจายหุ้น

ยกตัวอย่างเช่น กรณีหุ้นขนาดเล็กการขาย ผ่านธนาคารมีค่าใช้จ่ายสูงไม่คุ้ม แต่ถ้าเป็นบริษัทขนาดใหญ่มูลค่า 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไปสามารถทำตามกฎก.ล.ต.ได้, บริษัทผู้ออกหุ้นมีความเสี่ยงจากการที่ประชาชนให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน หากประชาชนไม่สนใจจองหุ้นดังกล่าว ก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ไม่ดีกับหุ้นตัวนั้นไป ในขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ก็ต้องสูญเสียลูกค้ารายใหญ่ที่อยากได้หุ้นอยู่แล้ว และบริษัทหลักทรัพย์ยังมีความเสี่ยงต้องรับซื้อหุ้นไว้ อาจได้รับความเสียหาย

นายพงศกร เที่ยงธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิกโก้ แอดไวเซอร์รี่ จำกัด เปิดเผยเกี่ยวกับมาตรการจัดสรรหุ้น IPO ว่า เป็นแนวทาง ที่อาจทำให้การดำเนินงานยุ่งยากมากขึ้นตลอดจน บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและบริษัทรับประกัน การจัดจำหน่าย หรือ อันเดอร์ไรท์เตอร์ มีความเสี่ยงในการดำเนินงานมากเกินความจำเป็น เนื่องจากมาตรการนี้เหมาะกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีมูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาทขึ้น โดยปกติบริษัทใหญ่ที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีการดำเนินการกระจายหุ้นผ่านธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว และต้นทุนต่อหน่วยจะไม่สูงมาก ขณะที่บริษัทขนาดเล็ก ถ้าจะให้ทำแนวทางเดียวกัน จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่า และเป็นความเสี่ยงต่อบริษัทผู้รับประกันการจัดจำหน่ายอาจต้องรับซื้อหุ้นในกรณีที่มีการขายหุ้นไม่หมด มาตรการดังกล่าวมองว่า ไม่ค่อยเหมาะสมนักหากจะบังคับใช้กับทุกบริษัท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.