EMC เทรดหมวดอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง 19 กุมภาพันธ์นี้ ผู้บริหารมั่นใจได้รับความสนใจจากนักลงทุน
เพราะปรับโครงสร้างหนี้เสร็จและฟื้นกิจการได้ดี ขณะที่เดินหน้าประมูลงาน เผยปัจจุบันมีงานในมือถึง
1,900 ล้านบาท โดยงานของการบินไทยแล้วเสร็จปีนี้ ขณะที่พยายามสร้าง Backlog ให้ได้
3,000 ล้านบาท เพื่อรักษาระดับของรายได้
นายโกมล วงศ์พรเพ็ญภาพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) หรือ
EMC เปิดเผยว่า หุ้นของบริษัทฯ จะกลับเข้ามา ซื้อขายในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในวันที่
19 ก.พ. นี้ เชื่อว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุน ซึ่งการเทรดวันสุดท้ายเมื่อปี 42
ที่ราคา 40 สตางค์ ผู้บริหารเชื่อว่าหุ้นจะได้รับความสนใจ จากนักลงทุน เพราะอย่างน้อยการที่มีทีมบริหาร
ที่มีความชำนาญ และมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจด้านนี้น่าจะดึงความสนใจจากนักลงทุนได้
หลังการเข้ามาบริหารงานใน EMC และสร้างกำไรให้ คาดว่าบอร์ดจะเห็นชอบในการออกวอร์แรนต์ใหม่
50 ล้านหน่วยให้กับทีมบริหาร โดยจะออกแบบ esop เพื่อมอบให้กับพนักงาน โดยไม่รวมกับวอร์แรนต์ที่ออกให้กับธนาคารกรุงเทพฯ
ก่อนหน้านี้ ที่มีการแปลงสภาพทุก 6 เดือน
นายโกมลกล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัทมีโครงการในมือที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน และจะรับรู้รายได้
ในช่วงปี 2547-2548 ประมาณ 1,900 ล้านบาท คือ โครงการครัวการบินไทย มูลค่า 830
ล้านบาท โครงการกิจกรรมไปรณียภัณฑ์ มูลค่า 507 ล้านบาท plus 49 condominium 90
ล้านบาท และ pan biophile institute 97 ล้านบาท
โดยในส่วนของงานวางระบบของสนามบินสุวรรณภูมินั้น จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
พร้อมกับตั้งเป้าปีนี้ว่าจะพยายาม สร้าง Backlog ให้ได้ 3,000 ล้านบาท เพื่อจะรักษาระดับรายได้ในปีต่อๆ
ไป
นอกจากนี้ยังมี Backlog ที่กำลังจะยื่นประมูลงานวางระบบมูลค่า 2,000 ล้านบาท
ในเดือนเมษายนนี้ จะยังมีการเปิดซองประมูลอีก 1,000 ล้านบาท ซึ่ง EMC ยังเน้นที่งานในประเทศ
เป็นหลัก ขณะที่งานต่างประเทศยังค่อนข้างมั่นใจ ว่าการเข้าไปลงทุนจะมีความเสี่ยง
แต่ก็พร้อมที่จะเข้าไปประมูลงานในต่างประเทศตลอดจนจับมือร่วมกับพาร์ตเนอร์ หากงานนั้นเป็นลักษณะงานแบบ
turn key หรือเป็นงานหน่วยงานของรัฐต่อรัฐ เพราะจะมีรายได้ที่แน่นอน ซึ่งยอมรับ
ว่าขณะนี้มีการเจรจากันกับบางราย พร้อมยืนยัน ว่า EMC จะไม่ลงทุนที่เสี่ยงต่อการขาดทุนเด็ดขาด
เพราะบริษัทมีประสบการณ์ที่ผ่านมาแบบน่าจดจำ
โดยรายได้หลักของ EMC มาจากงานวางระบบประมาณ 60% ที่เหลืออีก 40% เป็นงานก่อสร้างทั่วไป
และในอนาคตบริษัทจะพยายามทำให้สัดส่วนรายได้ระหว่างธุรกิจวางระบบ และธุรกิจก่อสร้างเป็นอย่างละ
50% ซึ่งหลังจากนี้อาจ เน้นธุรกิจก่อสร้างทั่วไปมากขึ้น เนื่องจากมูลค่าตลาดของธุรกิจก่อสร้างขยายตัวมากขึ้น
โดยคาดว่าภายใน 2 ปี โครงสร้างรายได้ของธุรกิจก่อสร้างจะมากกว่ารายได้จากธุรกิจวางระบบ
นายสุทธิศักดิ์ โล่ห์สวัสดิ์ ประธานกรรมการ EMC กล่าวว่า งานของบริษัทที่ทำธุรกิจเหมือน
EMC การดำเนินงานไตรมาสแรกจะขาดทุนและ ไตรมาส 2 เริ่มรับรู้กำไรเข้ามาบ้างเล็กน้อย
ส่วนไตรมาส 3 และ 4 รายได้และกำไรจะเติบโตสูงขึ้นตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่าปีนี้และปี 48 จะเป็นปีของผู้รับเหมาที่มีงานเข้ามาและถือเป็นโอกาสที่บริษัทจะทำให้รายได้เข้าสู่บริษัทในยามที่การปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ
และเป็นช่วงที่ต้องกอบโกยรายได้เข้ามาตลอดจนทำกำไรเพื่อล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ให้ได้ตามเป้าหมาย
ปัจจุบัน EMC มีขาดทุนสะสมประมาณ 600 ล้านบาท โดยคาดว่าล้างขาดทุนสะสมได้ใน 3 ปี
พร้อมกันนี้ EMC แจ้งผลประกอบการงวดปี 2546 โดยมีผลประกอบการกำไรสุทธิ 109 ล้านบาท
ในขณะที่ในปี 2545 กำไรสุทธิ 97 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ ได้ขายเงินลงทุนในบริษัท
ย่อย 3 บริษัท จึงโอนกลับรายการสำรองเผื่อผลขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทย่อยและกำไรจากการขายเงินลงทุน
ดังกล่าวจำนวน 68.15 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีการโอนกลับรายการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและสำรองอื่น
เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท 3 บริษัทฯ มีกำไรจากการปรับโครงสร้าง หนี้เพิ่มขึ้น 20.4
ล้านบาท
EMC ถูกเพิกถอนและย้ายไปอยู่ในหมวด รีแฮปโก้เมื่อเดือนมีนาคม 42 โดยราคาสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่องหมายห้ามซื้อขาย
อยู่ที่ 40 สตางค์ พาร์ 10 บาท ปัจจุบันบริษัทได้ลดพาร์จาก 10 บาท เป็น 1 บาท เพื่อนำเงินมาล้างขาดทุนสะสม
โดยจำนวนหุ้นหมุนเวียนที่ซื้อขายในตลาดจะมีประมาณ 100 ล้านหุ้น ในช่วงไตรมาส 2
จะมีหุ้นแปลงสภาพของพนักงานเข้ามาซื้อขายในกระดานประมาณ 50 ล้านหุ้น ส่วนที่แปลงหนี้เป็นทุนให้ธนาคารกรุงเทพ
จำนวน 50 ล้านหุ้น จะแปลงสภาพได้ทุก 6 เดือน โดยเดือนมิถุนายน นี้ จะเป็นการใช้สิทธิครั้งแรก
ซึ่งหากธนาคารกรุงเทพฯ แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทอยู่ที่
3 ต่อ 1 เท่า แต่หากมีการกู้เงินหรือธนาคารกรุงเทพฯ ไม่ใช้สิทธิแปลงสภาพวอแรนต์ดังกล่าว
จะทำให้สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มเป็น 4 ต่อ 1 เท่า