บสท. ดีเดย์สิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ สิ้นสุดภารกิจการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมดที่รับโอนมากกว่า
7.8 แสนล้านบาท ก่อนจะเดินหน้าขายทอดตลาด ทรัพย์สินเอ็นพีเอ และพัฒนาคุณภาพทรัพย์สินเพื่อ
สร้างมูลค่าเพิ่ม คาดปีนี้รายได้บริหารหนี้เพิ่มกว่า 2 หมื่นล้านบาท พร้อมตีโอนเอ็นพีเอรายย่อยรวม
1 แสนล้านบาท ขณะที่ 2 ปีที่ผ่านมาผลงานดีเยี่ยม สามารถไถ่ถอนตั๋วสัญญาก่อนกำหนด
5 พันล้านบาท และมีเงินสดเหลือกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท
จากการชำระหนี้คืนก่อนกำหนด ทำให้บสท. สามารถประหยัดดอกเบี้ยได้จำนวนหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญกว่า
คือ การลดภาระหนี้สาธารณะของประเทศ ขณะที่รายได้อีกส่วนหนึ่งได้ทำการเปิดบัญชีกับธนาคารเพื่อให้ออกดอกผลที่แน่นอนในอนาคต
ด้วยหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ เงินต้นไม่กระทบ และมีสภาพคล่องสูง สามารถเบิกถอนได้ง่าย
"ขณะนี้ บสท. มีเงินสดในมือแล้ว 26,000 ล้านบาท ไถ่ถอนตั๋วสัญญาก่อนกำหนดไปแล้วประมาณ
5,000 กว่าล้านบาท ซึ่งช่วยลดภาระหนี้ของเรา เท่ากับลดภาระหนี้สาธารณะด้วย และช่วยลดภาระดอกเบี้ยลงตามสัดส่วน
เมื่อกันไว้เป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 ล้านบาท จะเหลือ 15,000 ล้านบาทที่จะสามารถไถ่ถอนตั๋วสัญญาก่อนกำหนดก่อนต่อไปได้"
หลังจากที่เศรษฐกิจของประเทศไทย ได้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และกำลังจะก้าวสู่จังหวะของการฟื้นตัว
ภาคธุรกิจขนาดเล็ก กลางและใหญ่ ต่างต้องการเดินไปข้างหน้า สถาบันการเงินต้องการปล่อยสินเชื่อเพื่อหารายได้เข้าองค์กร
"บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย หรือบสท." ในฐานะ หน่วยงานหลักที่ภาครัฐตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่แก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
ของสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว อันจะทำให้ลูกหนี้ และระบบสถาบันการเงิน
อยู่ในสถานะที่สามารถดำเนินกิจการร่วมกันต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย หรือ บสท.
ให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการรายวัน ว่า ภารกิจหลักของบสท. ในปี 2547 คือ การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ในส่วนที่
บสท.บริหารเอง ซึ่งเหลืออยู่เพียงประมาณ 3% ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
และภารกิจสำคัญต่อจากนี้ คือ การทยอยประมูลขายทอดตลาดทรัพย์สินด้อยคุณภาพ (เอ็นพีเอ)
และการพัฒนาทรัพย์สินเพื่อเพิ่มมูลค่าก่อนจำหน่าย
โดยประมาณช่วงกลางปีนี้ จะได้เห็นมูลค่ามหาศาล ที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานปรับโครงสร้างหนี้ในปีที่ผ่านมา
และคาดว่าจะได้เห็นตัวเลขรายได้จากการบริหารหนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณกว่า 20,000
ล้านบาท และการตีโอนเอ็นพีเอ รายย่อยประมาณ 100,000 ล้านบาท ขณะที่ตั้งเป้าขายทอดตลาดเอ็นพีเอที่เป็นโครงการประมาณ
5,000 - 8,000 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากการก่อตั้งบสท. นั้น นายสมเจตน์
กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อตั้ง บสท. ได้รับการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาจากสถาบันการเงิน
และบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐและเอกชน จำนวน 781,005 ล้านบาท จาก 17,151 บัญชี
แยกเป็นกลุ่มลูกหนี้รายย่อยที่มียอดหนี้ต่ำกว่า 20 ล้านบาทลงมา ประมาณ 24,025 ล้านบาท
จำนวน 11,630 ราย ซึ่งได้มอบหมายให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์
บริหารแทน
ทั้งนี้ ลูกหนี้รายย่อยดังกล่าว คาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างได้เสร็จสิ้นไปได้ประมาณไตรมาส
2 ของปีนี้ ซึ่งทางธนาคารกรุงไทย และบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ได้ส่งรายชื่อลูกหนี้
จำนวน 3,000 ราย ที่ได้ข้อยุติแล้วมาให้ บสท. โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาขออนุมัติ
ส่วนกลุ่มลูกหนี้รายกลาง และรายใหญ่ อีกจำนวน 756,980 ล้านบาท จาก 5,521 ราย
ที่ บสท. บริหารเอง ล่าสุด ณ สิ้นธันวาคม 2546 คณะกรรมการบริหารได้อนุมัติแผนปรับโครงสร้างหนี้
มีข้อยุติแล้วจำนวน 4,888 ราย คิดเป็นมูลหนี้ทางบัญชี 732,332 ล้านบาท คิดเป็น
97% ของหนี้ที่บสท.บริหารเอง และคิดเป็น 94% ของหนี้ที่ได้รับโอนมาทั้งหมด สำหรับส่วนที่ค้างอยู่
คิดเป็นมูลค่าทางบัญชี 25,072 ล้านบาทนั้น ตั้งเป้าจัดการให้แล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี
2547
"ผมได้ประกาศเป้าจัดการกับหนี้ที่ยังค้างอยู่อย่างเป็นทางการให้เสร็จในไตรมาสแรก
แต่ในใจผมตั้งใจว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 นี้ ก็สามารถจัดการได้หมดแล้ว"
นายสมเจตน์ กล่าวว่า ในจำนวนลูกหนี้ที่มีข้อยุติแล้วดังกล่าว หมายถึง เจรจาประนอมหนี้ได้
โดยการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้าง กิจการ หรือฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลาง
59% ของมูลค่าทางบัญชี ซึ่งในส่วนนี้มีการปรับตัวของมูลค่าดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เจรจาประนอมหนี้ไม่ได้
และคณะกรรมการบริหารได้พิจารณาให้มีการบังคับหลักประกัน คิดเป็น 41% ของมูลค่าทางบัญชี
โดยจำนวนลูกหนี้ที่เจรจาไม่ได้นี้ เป็นกลุ่มที่ไม่ยอมมาเจรจาประมาณ 20% เท่านั้น
ขณะที่อีก 80% มาเจรจาแล้ว แต่ขอเงื่อนไขในปรับโครงสร้างหนี้ที่คณะกรรมการไม่สามารถอนุมัติได้
ดังนั้น เพื่อสะท้อนนโยบายที่ว่า ต้องประนอมหนี้ให้ได้ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ
จึงเปิดโอกาสให้ลูกหนี้เหล่านี้เข้ามาเจรจารอบ 2 โดยตั้งใจจะให้เสร็จในไตรมาส 2
เช่นกัน
นายสมเจตน์ กล่าวถึงความสำเร็จในการปรับโครงสร้างหนี้กรณีของ บริษัท สหโมเสค
อุตสาหกรรม (ยูเอ็มไอ) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ว่า เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ เนื่องจากบริษัทนี้เป็นลูกค้าที่ดีมาก มีการชำระหนี้สม่ำเสมอ
จนกระทั่งในปี 2544 ไม่มีกำลังความสามารถ ที่จะชำระหนี้ต่อไปได้ แต่ยังพอมีเงินต้นชำระคืน
ทาง บสท. ได้พิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ โดยลดเงินต้นจำนวน 25% ซึ่งทางบริษัทต้องจ่ายคืนเงินต้น
จำนวน 200 ล้านบาท อีก 700 ล้านบาทให้ผ่อนชำระ 10 ปี อีก ขณะที่อีกจำนวน 100 กว่าล้านบาทให้ตีโอนหุ้นกู้แปลงสภาพชำระหนี้
หลังจากแผนปรับโครงสร้างหนี้ของยูเอ็มไอเริ่มชัดเจน บริษัทได้ขอขยายกำลังการผลิตโดยนำหลักประกันที่ค้างอยู่ไปขอรับสินเชื่อใหม่
ทำให้สามารถเพิ่มทุนได้ 1,400 ล้านบาท มีเงินชำระคืนก่อนกำหนดทั้งหมด กรณีนี้ถือว่าใช้เครื่องมือในตลาดทุนครบทุกถ้วน
เป็นตัวอย่างที่ทุกฝ่ายต่างประสบความสำเร็จจากการปรับโครงสร้างหนี้
"เราต้องการให้ลูกหนี้ทุกรายมาเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ต้องการยึดหลักประกัน
เพราะวัตถุประสงค์การจัดตั้งของเรา คือ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว
และเพื่อให้ลูกหนี้ที่สุจริตอยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้และสามารถดำเนินกิจการเดิม
หรือกิจการใหม่ได้ต่อไป ซึ่งหลักการที่เรายึดอยู่เสมอ คือ การบริหารที่ทุกฝ่ายต่างได้รับประโยชน์
ดังนั้น เราจึงต้องการให้ลูกหนี้ที่ยังไม่เคยมาเจรจากับ บสท.เลย เดินเข้ามาเจรจาเพื่อประโยชน์ของตัวเขาเอง
และประเทศชาติ"
สำหรับรายได้ที่ได้รับจากลูกหนี้ที่มีข้อยุติแล้ว เป็นเงินสดทั้งสิ้นจำนวน 26,000
ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปี 2544 ที่มีอยู่เพียง 80 ล้านบาท และจากสิ้นปี 2545 ที่มีอยู่เพียง
5,000 ล้านบาท ทำให้ในปี 2546 ที่ผ่านมา บสท. มีรายได้เพิ่ม 20,000 กว่าล้านบาท
จากที่ตั้งเป้าไว้ 9,000 ล้านบาท ทำให้ บสท. สามารถชำระหนี้คืนธนาคารพาณิชย์ก่อนกำหนดไปแล้วจำนวน
5,000 ล้านบาท
จากการชำระคืนหนี้คืนก่อนกำหนด ทำให้บสท. สามารถประหยัดดอกเบี้ยได้จำนวนหนึ่ง
แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การลดภาระหนี้สาธารณะของประเทศ ขณะที่รายได้อีกส่วนหนึ่งได้ทำการเปิดบัญชีกับธนาคารเพื่อให้ออกดอกผลที่แน่นอนในอนาคต
ด้วยหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ เงินต้นไม่กระทบ และมีสภาพคล่องสูง สามารถเบิกถอนได้ง่าย
"ขณะนี้ บสท. มีเงินสดในมือแล้ว 26,000 ล้านบาท ไถ่ถอนตั๋วสัญญาก่อนกำหนดไปแล้วประมาณ
5,000 กว่าล้านบาท ซึ่งช่วยลดภาระหนี้ของเรา เท่ากับลดภาระหนี้สาธารณะด้วย และช่วยลดภาระดอกเบี้ยลงตามสัดส่วน
เมื่อกันไว้เป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 ล้านบาท จะเหลือ 15,000 ล้านบาทที่จะสามารถไถ่ถอนตั๋วสัญญาก่อนกำหนดก้อนต่อไปได้"
สำหรับรูปแบบการบริหารเอ็นพีเอ ในปี 2547 นั้น นายสมเจตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน
กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปและกรอบการดำเนินการที่ชัดเจนในอีกประมาณ
3 เดือนข้างหน้า ซึ่งในส่วนของเอ็นพีเอรายย่อยประมาณ 100,000 ล้านบาท ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์
แนวทางเบื้องต้น คือ ประกาศประมูลขาย และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายต่างๆ อาทิ จ้างสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์
โดยให้ค่าธรรมเนียม 2 -3% ของยอดขาย การจัดมหกรรมขายทอดตลาดร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์
(ธอส.) ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารกรุงไทย เป็นต้น
ส่วนเอ็นพีเอโครงการที่ยังพัฒนาไม่แล้วเสร็จ ซึ่งตั้งเป้าจำหน่ายประมาณ 5,000-8,000
ล้านบาท นั้น เป็นสิ่งที่คณะกรรมการบริหาร บสท. กำลังพิจารณาร่วมกันว่าจะใช้วิธีการใด
ทำอย่างไรจึงจะขายทั้งก้อนได้ โดยกรอบแนวทางที่ออกมานั้น จะต้องได้ประโยชน์ร่วมกันในสัดส่วนที่เหมาะสม
กรณีการตีโอนหุ้นของลูกหนี้ที่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีอยู่ทั้งสิ้นจำนวน
27 บริษัท ขณะนี้ได้เจรจามีข้อยุติแล้วจำนวน 26 บริษัท เหลืออีก 1 บริษัท อยู่ระหว่างการเจรจาในหลักการใหญ่
ถือว่าไม่เป็นปัญหา และ บสท.ได้เปลี่ยนวิธีรับโอนหุ้นโดยตรง เป็นการเปิดบัญชี ให้ลูกหนี้ขายหุ้นแล้วหักเม็ดเงินเข้าบัญชีแทน
นายสมเจตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภารกิจหรือขั้นตอนการดำเนินการที่เหลือของบสท.
คือ การปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ การเจรจา ปรับโครงสร้างหนี้
การทำสัญญา และการขายทอด สินทรัพย์ตลาด ซึ่งขั้นแรกสำเร็จแล้ว 97% ขั้นที่สองดำเนินการแล้วประมาณ
80% สิ่งที่ต้องจับตาในปีนี้ คือ การจัดการจำหน่ายทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยยึดหลักการที่สำคัญ คือ จะต้อง เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการปรับโครงสร้าง หนี้ของบสท. จะอยู่บนพื้นฐานความยุติธรรม
และโปร่งใส โดยมีผู้บริหารที่มีความรู้ความชำนาญในการจัดการกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
และผู้บริหาร ทุกคนล้วนตระหนักดีถึงภารกิจที่สำคัญ คือ การจัดการสินทรัพย์เหล่านี้ให้เร็วที่สุด
หากภารกิจของ บสท.เสร็จสิ้น เท่ากับต้องยุบเลิกไปตามพระราชกำหนดจัดตั้ง (พ.ร.ก.บสท.)
แต่นั่นหมายถึงความสำเร็จของประเทศชาติ
ล่าสุด คณะกรรมการบสท. ได้อนุมัติให้นำหลักบรรษัทภิบาลของกลุ่มประเทศ OECD หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของตลาดหลักทรัพย์ฯ
และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอดจนหลักเกณฑ์และแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจของสำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของ
รัฐ กระทรวงการคลังมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดหลักบรรษัทภิบาลของบสท. ควบคู่กับการกำหนดกลยุทธ์การดำเนินการ
โดยมีหลักปฏิบัติงานรวม 5 ประการ
พร้อมกันนี้ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด เพื่อจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบสท.
ให้มีความถูกต้อง ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการตรวจสอบ ว่าจ้างบริษัท ไพร้ซ วอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์
ริสค์แมเนจเม้นท์ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้ตรวจสอบภายใน 2. คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินงานของบสท.
3. ผู้ตรวจสอบจากธปท. ทำหน้าที่ตรวจสอบผลการดำเนินงาน และ 4. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
ทำหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินและฐานะการเงินทุก 6 เดือน