ธนาคารกรุงเทพ เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้เอ็นพีแอล หลังเจอหนี้เอ็นพีแอลย้อนกลับ และหนี้ก้อนใหญ่ของ
"ทีพีไอ" กว่า 2 หมื่นล้านยังไม่จบ ตั้งเป้าปีนี้ลดเอ็นพีแอลลงอีก 7 หมื่นล้านบาท
หรือคิดเป็น 15-16% ของสินเชื่อรวม พร้อมวางแผนขายเอ็นพีเออีก 6 พันล้านบาท รวมทั้งเตรียมเจรจาขายให้กับ
บบส.
นายสุวรรณ แทนสถิตย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยถึงแผนการบริหารหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
หรือเอ็นพีแอล ว่า ณ เดือนธันวาคม 2546 ธนาคารมีหนี้เอ็นพีแอลประมาณ 210,000 ล้านบาท
โดยมีเป้าหมายที่จะปรับลดเอ็นพีแอลอย่างต่อเนื่องสิ้นปี 2547 นี้ ให้เหลือ 1 ใน
3 ของเอ็นพีแอลทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท หรือคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเหลือประมาณ
15.16%
ทั้งนี้ สัดส่วนลูกหนี้เอ็นพีแอลของธนาคาร ที่มีมูลหนี้ตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไปจะมีมากถึง
50% ของเอ็นพีแอลทั้งหมด โดยเฉพาะหนี้ของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด
(มหาชน) หรือทีพีไอ ที่ธนาคารได้จัดอยู่ในประเภทเอ็นพีแอล ซึ่งมีมูลหนี้เงินต้นประมาณ
20,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของเอ็นพีแอลทั้งหมด และนับรวมหนี้ทั้งกลุ่มของทีพีไอแล้วจะมีมูลหนี้เงินต้นประมาณ
27,000 ล้านบาท
"หนี้เอ็นพีแอลของกลุ่มทีพีไอ เป็นตัวเลขที่สูงมาก ธนาคารต้องการที่จะเร่งแก้ไขให้เสร็จโดยเร็ว
มองในเชิงธุรกิจแล้ว ทีพีไอถือว่าเป็นบริษัทที่มีการดำเนินงานที่ดี ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ในอนาคต
และยังไม่ถือว่าเป็นปัญหามากนัก เพียงแต่ต้องเร่งจัดการแผนฟื้นฟูและบริหารให้เรียบร้อย"
นายสุวรรณ กล่าวว่า ขณะนี้ทีพีไอได้มีการจ่าย ดอกเบี้ยให้กับธนาคารทุกๆ เดือน
โดยเริ่มชำระมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2546 และชำระย้อนหลังตั้งแต่ที่หยุดชำระไปเมื่อเดือนเมษายน
2546 มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีศักยภาพเพียงพอต่อการชำระหนี้
เพราะมีการจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ เดือนในอัตรา เอ็มแอลอาร์ลบ 1 ที่เหลือยังคงจะต้องมีการตกลงกันว่าจะชำระเงินต้นอย่างไร
ในหลักการปรับโครงสร้างหนี้จะทำ 3 เกณฑ์ใหญ่ๆ คือ 1. ทุนเป็นอย่างไรจะลดหรือไม่
2. มีการลงทุนใหม่หรือไม่ และ 3. จะมีการลดหนี้ให้หรือไม่ ซึ่งในส่วนของทีพีไอ
ได้มีคณะกรรมการเจ้าหนี้ที่เป็นฝ่ายเจรจา เดิมคาดว่าจะเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
ซึ่งอาจจะไม่เสร็จทันตามเป้าหมาย เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงแผนอยู่ตลอดเวลา
สำหรับตัวเลขเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นใหม่นั้น ธนาคารมีตัวเลขน้อยมาก เนื่องจากช่วงที่เกิดวิกฤตส่งผลให้มีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งภาพรวมของเศรษฐกิจมีการเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเปาหมายจึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับหนี้เสีย
คาดว่าจะมีตัวเลขเอ็นพีแอลเฉลี่ยไม่ถึง 10% ส่วนใหญ่จะเป็นเอ็นพีแอลย้อนกลับ
"ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์จะมีเอ็นพีแอลย้อนกลับมาก เพราะมีการปรับโครงสร้างหนี้แล้วไม่เป็นตามแผนหรือคำนวณตัวเลขผิดพลาด
ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่แค่มีการปรับตัวเลขเล็กน้อยเท่านั้น"
รองผู้จัดการใหญ่ กล่าวต่อไปว่า ทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ตัวเลขเอ็นพีเอ)
ของธนาคารประมาณ 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการเช่า ดำเนินคดี
ประมาณ 10,000 ล้านบาท ที่เหลือ 20,000 ล้านบาทสามารถขายได้ ซึ่งธนาคารตั้งเป้าในปีนี้จะขายเอ็นพีเอประมาณ
6,000 ล้านบาท แต่จะรอดูผลการประมูลขายทรัพย์สินในครั้งนี้ก่อนหากประสบความสำเร็จ
เป้าหมายขายเอ็นพีเอปีนี้อาจจะเพิ่มขึ้นอีก
ส่วนมาตรการของทางการที่จะออกมากระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปรับโครงสร้างหนี้
โดยการลดมูลค่าหลักทรัพย์ในการหักสำรองและมาตรการรับซื้อเอ็นพีเอออกจากระบบธนาคารพาณิชย์
นั้น ถือว่าเป็นมาตรการที่ดี โดยธนาคารกรุงเทพให้ความสนใจที่จะขายเอ็นพีเอ ขณะนี้ได้จัดแบ่งเอ็นพีเอออกเป็น
3-4 กอง มูลค่ากองละ 1,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมพร้อมในการเจรจาขายให้กับบบส.ต่อไป
"การเจรจาตกลงซื้อขาย จะต้องเป็นความตกลง ของทั้ง 2 ฝ่ายอย่างพอใจ ซึ่งจะมีการประเมินราคาสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน
หากเป็นรายย่อยก็จะให้ราคาของธนาคารประเมิน แต่เป็นขนาดใหญ่จะใช้ราคาของบริษัทประเมินที่ดินเข้ามาประเมิน
รวมทั้งยังมีการแยกเกรดของทรัพย์สินดี ซึ่งจะต้องตกลงรายละเอียดอีกมาก เช่น เกรด
A ขายในราคาลดลง 10% เกรด B ขายในราคาลดลง 15% เกรด C ขายในราคาลดลง 20 % ตามลำดับ"
นายสุวรรณ กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญกับการแก้ไขเอ็นพีแอลและเอ็นพีเอมาก
โดยขณะนี้ตัวเลขเอ็นพีแอลลดลง ในขณะที่เอ็นพีเอได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องเร่งขายออกไปให้มากที่สุด
และหากมีการขายออกไปให้กับหน่วยงานรัฐเชื่อว่าภาระต่างๆ ของระบบธนาคารพาณิชย์จะหมดไป
เปิดประมูลทรัพย์สินกว่า 700 ล.
นายสุวรรณ กล่าวว่า ธนาคารร่วมกับบริษัท แอซเซ็ท ออคชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด จัดงาน
มหกรรมการประมูลบ้านและที่ดิน ครั้งที่ 1 ขึ้น วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ โดยมีรายการทรัพย์สินมาประมูลทั้งหมด
189 รายการ มูลค่าทรัพย์สินรวม 700 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์
ห้องชุดสำนักงาน ที่ดินเปล่า โรงงาน อยู่ในเขตกรุงเทพฯ 70% ปริมณฑล 30%
โดยธนาคารจะเป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อที่มีเงื่อนไขกู้ได้ 90% ของราคาประมูล และกู้ซ่อมแซมได้อีก
20% ของราคาประมูล แต่ไม่เกิน 60% ของราคาซ่อมแซม โดยคิดอัตราดอกเบี้ยปีแรกแบบสินเชื่อบัวหลวงพึงใจ
2.95%-0.5% เท่ากับ 2.45% ต่อปี ปีต่อไปคิดอัตราดอกเบี้ย เอ็มแอลอาร์ -1% ระยะเวลา
การกู้ 30 ปี
สำหรับการประมูลทรัพย์สินครั้งนี้ ธนาคารได้ตั้งราคาประมูลถูกกว่าราคาตลาดประมาณ
15-20 % โดยคาดว่าการประมูลขายครั้งนี้จะขายได้ประมาณ 75% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ
500 ล้านบาท