เอไอเอส ดีแทค ถือคติรวมกันเราอยู่เพื่อเป้าหมายตลาดรวมบริการนอนวอยซ์หมื่นล้านบาท
จับมือเชื่อมต่อ MMS ให้ลูกค้าสามารถส่งข้ามระบบ มั่นใจวิธีการนี้เป็น การกระตุ้นรายได้บริการเสริมแบบชั่วข้ามคืน
เอไอเอสมองยอดกว่า 100 ล้านบาทในปีนี้ ขณะที่ดีแทคคาดว่าทำรายได้มากกว่า 50 ล้านบาท
พร้อมกับเปิดกว้างรับการเชื่อมต่อของทีเอออเร้นจ์ กับฮัทช์
เมื่อวานนี้ (10 ก.พ.) ถือเป็นครั้งแรกที่ ผู้บริหารบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์
เซอร์วิสหรือเอไอเอส กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นหรือดีแทค แถลงข่าวร่วมกันถึงความร่วมมือในการเชื่อมต่อบริการ
MMS (Multimedia Massaging Service) ข้ามระบบเพื่อให้ลูกค้า ของเอไอเอสกับดีแทคสามารถส่ง
MMS ซึ่งเป็น บริการที่สามารถส่งภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง พร้อมเสียงเพลงและข้อความได้สมบูรณ์แบบ
ถึงกันได้ทั้งลูกค้าในระบบจดทะเบียนปกติหรือโพสต์เพดกับลูกค้าในแบบเติมเงินหรือพรีเพด
"การแข่งขันระหว่างดีแทคกับเอไอเอสก็ยังมีอยู่ ครั้งนี้เป็นความร่วมมือระดับหนึ่ง"
นายธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจพรีเพดดีแทคกล่าว
"แข่งในเรื่องที่ต้องแข่งคือ Innovative Service บริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ
แต่ความร่วมมือก็เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้บริการนอนวอยซ์มากขึ้น ผมถือว่าดีแทคเป็นคู่แข่งแต่ไม่ใช่ศัตรู"
นายสุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธุรกิจการให้บริการสื่อสารไร้สายเอไอเอสกล่าว
ความร่วมมือที่เกิดขึ้นเป็นเพราะแรงบีบคั้นที่ต่างคนได้รับเป้าหมายในเชิงรายได้ของบริการเสริมประเภทที่เรียกว่านอนวอยซ์หรือบริการไร้เสียง
ประสบการณ์ที่ผ่านมาของการเชื่อมต่อการส่งข้อความสั้นหรือ SMS ที่ส่งข้ามเครือข่ายกันได้ทำให้
ปริมาณการใช้เพิ่มมากหลายเท่าตัวในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้ดีแทคกับเอไอเอสมองเห็นตรงกันว่า
หากต้อง การกระตุ้นรายได้นอนวอยซ์โดยเฉพาะเมื่อให้ความสำคัญกับบริการ MMS การเชื่อมต่อ
MMS ข้ามระบบเป็นความจำเป็นต้องเกิดขึ้น
นายสุวิทย์กล่าวว่าในปี 2546 รายได้จากบริการ MMS ของเอไอเอสมีประมาณ 20 กว่าล้านบาท
แต่หลังจากการส่งข้ามระบบได้ เอไอเอสเชื่อว่าภายใน 6 เดือนปริมาณการส่ง MMS จะเพิ่มขึ้น
100% หรือภายใน 1 ปี เอไอเอสจะมีรายได้จากบริการ MMS มากกว่า 100 ล้านบาท
ปัจจุบันเอไอเอสมีเครื่องโทรศัพท์มือถือที่รอง รับ MMS ประมาณ 3.5 แสนเครื่อง
มีคนที่ใช้งานนานๆ ครั้งประมาณ 2.2 แสนราย และที่ใช้ประจำประมาณ 1.3 แสนราย (ตัวเลขเดือนม.ค.)
โดยเฉลี่ย ใน 1 เดือนมีการส่ง MMS รวมประมาณ 5 แสนครั้ง
"หน้าที่ของเอไอเสคือต้องทำให้การส่ง MMS กลายเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน มีบริการที่หลากหลายอย่างเรื่องปริมาณการจราจร
หรือการให้ลูกค้าเข้า ไปดาวน์โหลดรูปภาพต่างๆฟรี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานมากขึ้น"
นายรัฐฉัตร ศิริพานิช ผู้อำนวยการกลุ่ม Product Management ดีแทคกล่าวว่าปี 2546
ที่ผ่านมาดีแทคมีรายได้จากการส่ง MMS ประมาณ 18 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในปีนี้รายได้จะโตประมาณ
3 เท่าหรือ มากกว่า 50 ล้านบาท ปัจจุบันดีแทคมีโทรศัพท์มือถือในระบบที่รองรับ MMS
ได้ประมาณ 2 แสนเครื่อง มีคนส่ง MMS สม่ำเสมอประมาณ 5-7 หมื่นราย หรือคิดเป็นการส่ง
MMS เฉลี่ยเดือนละ 3 แสนครั้ง ซึ่งดีแทคเชื่อว่าการเชื่อมต่อ MMS ก็จะทำให้ยอดการใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น
100% ใน 6 เดือน เพราะแค่ช่วงซอฟต์ลอนซ์ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมาปรากฏว่ามียอดการส่ง
MMS เพิ่มขึ้น 25% แล้ว
ค่าบริการส่ง MMS ทั้ง 2 ค่ายจะคิด 10 บาทต่อข้อความเหมือนกัน ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้
จะเป็น การแบ่งผลประโยชน์ระหว่างกันโดยคิดตามจำนวนข้อมูลที่ส่งระหว่างกัน หมายถึงในแต่ละเดือนมีลูกค้าดีแทคที่ส่ง
MMS ไปหาลูกค้าเอไอเอสมากน้อยแค่ไหน ก็นำจำนวนข้อมูลดังกล่าวมาคิดเป็นมูลค่า ซึ่งทั้ง
2 ฝ่ายปฏิเสธที่จะบอกตัวเลขดังกล่าว เนื่องจากเป็นข้อตกลงระหว่างกัน ในกรณีที่ทีเอออเร้นจ์
หากพร้อมให้บริการ MMS ก็สามารถมาเชื่อมระบบกันได้ แต่การแบ่งผลประโยชน์อาจไม่เท่ากับดีแทคแบ่งกับเอไอเอส
เนื่องจากฐานลูกค้าและปริมาณการส่ง MMS จะเป็นตัวแปรสำคัญในการคิดตัวเลขผลประโยชน์
"วิธีคิดแบบนี้ก็เหมือนกับการคิดค่าเชื่อมโยงโครงข่ายหรืออินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ
กรณีนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้อีกข้างหนึ่งทำโปรโมชันดัมป์ราคาแล้วก็จะมาโหลดเน็ตเวิร์กอีกฝ่ายหนึ่ง
แต่ไม่ใช่ห้าม ทำโปรโมชัน เพียงแต่ต้องรับผิดชอบต้นทุนของตัวเองเพราะหากดัมป์ราคามากๆ
ก็ต้องไปจ่ายให้อีกระบบด้วย" นายสุวิทย์กล่าว
สำหรับความร่วมมือระหว่างดีแทคกับเอไอเอส ต่อไปคือเรื่องเบอร์ของคอนเทนต์โพรวายเดอร์หรือ
ผู้ให้บริการข้อมูลต่างๆ เพราะดีแทคจะขึ้นด้วยเลข 19 ในขณะที่เอไอเอสขึ้นต้นด้วยเลข
8 ภายในไตรมาส 2 ก็จะเห็นคอนเทนต์โพรวายเดอร์ใช้เลขหมายเดียวกัน