BCPขาดทุนยับก่อนเทรดDR


ผู้จัดการรายวัน(3 กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

บางจากฯแจงผลดำเนินงานปี 46 ขาดทุนสุทธิ 1,298 ล้านบาท ผลจากดอกเบี้ยจ่ายและขาดทุนจากค่าด้อยค่าของสินทรัพย์ฯ แต่หากพิจารณา EBITDA ดีกว่าปีก่อน 27% ขณะที่ราคาหุ้น BCP ถูกแรงเทขาย ปิดตลาดลดลง 2.20 บาทต่อหุ้น เปลี่ยนแปลง 12.29% บล. ไซรัสคาดปีนี้บางจากฯพลิกมีกำไร 371 ล้านบาท ส่วนเทรดหุ้น BCP-DRในวันที่ 5 ก.พ.นี้ ราคาที่เหมาะสมอยู่ที่ 21.20 บาทต่อหุ้น

นายพิชัย ชุณหวชิร รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (BCP) เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2546 ว่าบริษัทฯขาดทุนสุทธิ 1,298.10 ล้านบาท ต่ำกว่าปีช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 343.27% ซึ่งมีกำไรสุทธิ 533.59 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 2.49 บาท เทียบจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.02 บาท

ในปี 2546 บริษัทฯ มีรายได้รวม 61,264 ล้านบาท มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) 1,669 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 27% รวมทั้งมีดอกเบี้ยจ่าย 1,028 ล้านบาท ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย 740 ล้านบาท ทำให้มีผลขาดทุนก่อนรายการ อื่นๆ 99 ล้านบาท

รวมทั้ง มีรายการอื่นๆ ที่เกิด ขึ้นตามแผนการดำเนินการปรับโครงสร้างทางธุรกิจและการเงิน 1,199 ล้านบาท ประกอบด้วย ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ที่ยังไม่ได้ใช้ในการดำเนินการ 987 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมไถ่ถอน หุ้นกู้ก่อนกำหนด 212 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 1,298 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในปี 2546 ค่าการกลั่น (ไม่รวมผลกำไรจากสต็อก น้ำมัน) ปรับเพิ่มขึ้น 0.18 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จาก 1.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปี 2545 เป็นประมาณ 1.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามความ ต้องการใช้น้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำการเพิ่มรายได้ และลดต้นทุนร่วมกับบริษัทน้ำมันไทยออยล์อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการกลั่นยังคงอยู่ในระดับ 7.4 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ใกล้เคียงกับปีก่อน

เนื่องจากบริษัทฯ มีนโยบายเน้นการขายเฉพาะตลาดที่มีกำไรสูง เช่น ตลาดสถานีบริการ ตลาดอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะที่ค่าการตลาดน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวลดลงประมาณ 0.03 บาท/ ลิตร เป็นผลมาจากสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง

แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณการจำหน่ายในตลาดค้าปลีกของบริษัทฯ ได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 534,000 ต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16,000 บาร์เรลต่อวัน โดยเพิ่มขึ้นในตลาดที่กำไรสูง เช่น การขายผ่านสถานีบริการซึ่งมียอดขายเพิ่มประมาณ 17% การขายผ่านตลาดอุตสาหกรรมซึ่งมียอดขาย เพิ่มประมาณ 21% แต่ลดลงในตลาดขายผ่านผู้ค้าส่ง (Jobber) ที่มีกำไรต่ำ และตลาดน้ำมันเครื่องบินที่ได้รับ ผลกระทบจากการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน (ซาร์ส)

นอกจากนี้ ปี 2546 บริษัทฯ มีกำไรจาก สต็อกน้ำมัน (FX & Price Effects) จำนวน 52 ล้านบาทเทียบกับปีก่อน ที่มีกำไรจากสต็อกน้ำมันจำนวน 1,609 ล้านบาท ทำให้ EBITDA ในปี 2546 ก่อนกำไรจากสต็อกน้ำมันดังกล่าวเป็น 1,617 ล้านบาท สูงกว่าปี 2545

จากการที่บริษัทฯ ได้ทำการขยายอายุสัญญาการเช่าใช้ที่ดินโรงกลั่นน้ำมันจาก 12 ปี เป็น 30 ปี บริษัทฯ จึงได้ทำการปรับอายุการตัดค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์โรงกลั่นออกไปให้สอดคล้องกับอายุการใช้งานของโรงกลั่นและอายุสัญญาเช่า ที่ดิน ซึ่งส่งผลทำให้ค่าเสื่อมราคาในปี 2546 ปรับลดลงประมาณ 300 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้พิจารณาทบทวนแผนการใช้ทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัท เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งพบว่ายังมีสินทรัพย์บางส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ในการดำเนินการ โดย ณ สิ้นปี 2546 บริษัทฯ จึงได้ทำการด้อยค่าสินทรัพย์ในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ดำเนิน การจำนวน 987 ล้านบาท (Non-Cash Item) ประกอบด้วยที่ดินที่ไม่ได้ใช้ดำเนินการและรอการ จำหน่าย สถานีบริการที่ปิดให้บริการ ค่าขนส่งจ่าย ล่วงหน้า เพื่อให้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน รวมทั้งมีค่าธรรมเนียมในการไถ่ถอน หุ้นกู้ก่อนกำหนด 212 ล้านบาท

นายพิชัย กล่าวว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจ และการเงิน ทำให้ฐานะการเงินบริษัทมั่นคงขึ้น คาดว่าปี 2547 การดำเนินงานจะมีทิศทางที่ดีและมีกำไรความเคลื่อนไหวหุ้น BCP วานนี้ เปิดตลาด 17.60 บาท ก่อนมีแรงซื้อดันขึ้นมาสูงสุดของวันที่ระดับ 18.20 บาท ก่อนมีแรงเทขายออก มาหลังจากบริษัทแจ้งผลการดำเนินงานงวดปี 2546 ขาดทุนกว่าพันล้านบาท ปิดตลาดหุ้นBCP ปิดที่ 15.70 บาท ลดลง 2.20 บาท เปลี่ยนแปลง 12.29% มูลค่าการซื้อขายรวม 36.90 ล้านบาท

โบรกฯคาดปีนี้ BCP กำไรเกือบ 400 ล้าน

บล.ไซรัส วิเคราะห์ว่าผลการดำเนินงาน ของ BCP ที่ผ่านมา อยู่ในฐานะค่อนข้างแย่ เนื่อง จากภาระต้นทุนการกลั่นน้ำมันสูง และภาระดอก เบี้ยจ่ายปีละ 1 พันล้านบาท รวมทั้งภาระขาดทุน สะสม 2,400 ล้านบาท ถึงแม้จะมีการลดพาร์เพื่อ ล้างขาดทุนสะสมแล้วก็ตาม คาดการณ์ว่าหลังจากที่ ปตท. เข้ามาช่วยปรับโครงสร้างทางการเงิน โดยหุ้นสามัญเป็น DR, ออก DR เพิ่มทุน และรีไฟแนนซ์เงินกู้เดิม 19,500 ล้านบาท เป็น 12,500 ล้านบาท รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมวาง แผนการดำเนินธุรกิจใหม่ให้กับ BCP นั้น ทำให้เราเชื่อว่าจะช่วยทำให้รายได้เพิ่มสูงขึ้นได้ ในขณะที่ต้นทุนการกลั่น และภาระดอกเบี้ยจ่ายจะลดลง 300 ล้านบาทต่อปี ทำให้ในปีนี้ บริษัทฯจะกลับมามีกำไรประมาณ 371 ล้าน และปีถัดไปกำไร 942 ล้านบาท

ในวันที่ 5 ก.พ.นี้ BCP-DR จะเข้าทำการซื้อขาย ซึ่งจะเป็นหุ้นที่ซื้อขายแยกจาก BCP จึงประเมินราคาของหุ้นทั้งสองตัวแยกจากกัน โดยราคาเป้าหมายของ BCP ณ ปลายปี 2547 เท่ากับ 20.00 บาท ส่วน BCP-DR ณ ปลายปี 2547 จะเท่ากับ 21.20 บาท เนื่องจากกระทรวงการคลังค้ำประกันผู้ถือ DR ณ ราคาที่ 13 บาท ทำให้ราคาของ BCP-DR จึงมีราคาสูงกว่า BCP



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.