เงินเฟ้อเดือนม.ค.ปรับตัวสูงขึ้น1.2%


ผู้จัดการรายวัน(3 กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"พาณิชย์" เผยเงินเฟ้อไทยเดือนม.ค.ปรับตัวขึ้น 1.2% เพราะสินค้าหมวดอาหารราคาสูงขึ้นตามความต้องการใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ขณะที่ไก่ราคาเฉลี่ยทั้งเดือนสูงขึ้นเล็กน้อย เพราะคนเริ่มเลิกบริโภคหลังจากวันที่ 23 ม.ค.ไปแล้ว ส่วนราคาน้ำมันรัฐบาลเข้ามาตรึงตั้งแต่ 10 ม.ค.เลยไม่กระทบเงินเฟ้อ

นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ในเดือนม.ค.2547 ที่สำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 326 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการบุคคล ยานพาหนะ การขนส่งการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2546 สูงขึ้น 0.3% และเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.2546 สูงขึ้น 1.2% ทั้งนี้ เงินเฟ้อเดือนม.ค.ที่สูงขึ้น 0.3% นั้น เป็นการสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 0.6% ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่รวมอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.1%

โดยในเดือนม.ค. สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวสารเจ้าหอมมะลิ เพราะผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยเนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดู เนื้อสุกร ความต้องการสูงขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนทดแทนการบริโภคไก่ ปลา และสัตว์น้ำ ส้มเขียวหวาน และน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนนมผง ผงซักฟอก และน้ำยาปรับผ้านุ่ม มีราคาลดลง

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศปี 2547 ที่คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 235 รายการ โดยหักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและกลุ่มพลังงาน 91 รายการที่คิดเป็น 25% ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมดออก เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2546 ไม่เปลี่ยนแปลง และเทียบกับเดือนม.ค.2546 ลดลง 0.1%

"ในเดือนม.ค.นี้ สินค้าในหมวดอาหารปรับตัวสูงขึ้น เพราะมีความต้องการในช่วงเทศกาลตรุษจีน และในส่วนของไก่เอง ช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนก็มีราคาสูงขึ้น เพราะคนซื้อไว้รับเทศกาลตรุษจีน แต่พอหลังวันที่ 23 ม.ค.ที่มีความชัดเจนว่าไก่เป็นโรคไข้หวัดนก การบริโภคไก่ก็ลดลง แต่เมื่อเฉลี่ยทั้งเดือนราคาไก่ยังสูงขึ้นเล็กน้อย ส่วนราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 10 วันแรกของเดือน แต่หลังจากวันที่ 10 ม.ค. รัฐบาลเข้าตรึงราคา น้ำมันเลยไม่ปรับตัวขึ้นมาก จึงไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อมากนัก" นายการุณกล่าว

นายการุณกล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้มีการปรับฐานการคำนวณดัชนีราคาผู้ผลิตใหม่ โดยใช้ฐานในปี 2543 จากเดิมใช้ฐานในปี 2538 และได้ปรับน้ำหนักของสินค้าใหม่ โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรมมีความสำคัญลดลง 17% จากการลดลงของมันสำปะหลัง พืชเส้นใย และกาแฟ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1% และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 35% เพราะการสูงขึ้นของการผลิตก๊าซธรรมชาติ โดยรายการสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 454 รายการเป็น 506 รายการ ซึ่งจะทำให้การคำนวณดัชนีราคาผู้ผลิตเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.