กรุงไทย-ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น-ทิพยประกันภัย ร่วมทุนการบินไทยจัดตั้งสายการบินราคาถูก
เตรียมเปิดตัวพร้อมทีมผู้บริหาร 10 ก.พ. นี้ ยันเปิดบินได้ในไตรมาส 2/47 แน่นอน
นายกนก อภิรดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ
บริษัทวานนี้ ( 28 ม.ค.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติหลักการการจัดตั้งสายการบินราคาถูก
หรือ Low Cost Low Fair Airline แล้ว โดยกำหนด สัดส่วนการถือหุ้นระหว่างการบินไทยกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่สนใจ
ไม่เกินร้อยละ 49 โดยเบื้องต้น มีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และรัฐวิสาหกิจอีก
1-2 แห่งที่จะร่วมถือหุ้น ส่วนอีกร้อยละ 51 นั้นจะเป็นการถือหุ้นในส่วนของบริษัทและองค์กรที่สนใจ
เช่น บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) นอกจากนี้คาดว่า
จะมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เข้าร่วมด้วย
นอกจากนี้ ยังมีเอกชนอีกหลายแห่งที่สนใจถือหุ้นในสายการบิน ต้นทุนต่ำ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น
ซึ่งขณะนี้การบินไทยพร้อมที่จะพิจารณา การร่วมทุนไว้ เพราะถือว่าเป็นผู้ให้บริการกลุ่มหนึ่งนอกเหนือจากผู้ให้บริการด้านอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตามในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 47 นี้ จะมีการเปิดตัวบริษัทสายการบินต้นทุนต่ำของการ
บินไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดตัวผู้บริหารและรายละเอียดการดำเนินงานพร้อมทั้งเส้นทาง
การบินที่ชัดเจน และจะเปิดให้บริการในไตรมาสที่ 2 ของปี 47 แน่นอน
โดยเช่าเครื่องบิน โบอิ้ง 737-400 จำนวน 2 ลำจากการบินไทยในแบบเหมารวมให้บริการ
สำหรับทุนจดทะเบียนนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา 200-500 ล้านบาท
นายสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการ คลังในฐานะรองประธานคณะกรรมการการบิน ไทย
กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ร่วมทุนในการจัดตั้งสายการ บินต้นทุนต่ำกับการบินไทยเบื้องต้นคือ
บริษัททิพยประกันภัย ซีพี เซเว่นอีเลฟเว่น และธนาคาร กรุงไทย
แอร์บัสหารือเร่งส่งมอบเครื่องบิน
นายกนกกล่าวถึงการซื้อเครื่องบินจาก ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ว่าบริษัทได้ทำหนังสือถึงฝ่ายบริหารยูไนเต็ดแอร์ไลน์เพื่อให้แสดงความชัดเจนถึงการขายเครื่องบินให้การบิน
และในขณะเดียวกัน การบินไทยได้มีกรอบการศึกษาด้านการตลาด ในกรณีเส้นทางที่ไม่ทำกำไร
อาจจะมีการยกเลิก หรือปรับเครื่องบินไปใช้เส้นทาง ที่มีกำไร หรือให้ฝ่ายการตลาดปรับแผนเพื่อให้มีกำไรใน
6 เดือน หรือมอบบางเส้นทางในประเทศให้พันธมิตรการบินรับช่วงแทน รวมทั้งการกำหนดจุดปลายทางใหม่ภายใต้แผนระยะยาว
ซึ่งจะต้องมีการจัดหาเครื่องบินเพิ่ม โดยการ เช่าในระยะเวลาที่จำเป็น ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกลยุทธ์ได้ให้คณะทำงานไปศึกษาแนวทางการจัดหาเครื่องใหม่แล้ว
นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้า ฝ่ายบริหารบริษัทแอร์บัสจะมาหารือร่วมกับการบินไทยในกรณีที่จะจัดส่งเครื่องบินให้เร็วขึ้น
ซึ่งจากการจัดซื้อเครื่องบินจากแอร์บัส A 340-600 จะส่งมอบ ให้การบินไทยในอีก 2
ปีข้างหน้า ก็อาจจะได้เครื่องบินเร็วขึ้น