ควบTMBฉลุยนำร่องแผนแม่บท


ผู้จัดการรายวัน(29 มกราคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ควบแบงก์ทหารไทย-ดีบีเอส ไทยทนุและไอเอฟซีที แนวโน้มราบรื่นหลังเซ็นเอ็มโอยู 2 แบงก์ฉลุยรอลงนามร่วมไอเอฟซีทีเดือน หน้า มั่นใจจบเดือนพ.ค. เผยอนาคตธนาคารใหม่ ของไทยมีสินทรัพย์ก้าวกระโดด ต้นทุนลดลงแถม หนี้เสียต่ำ คุยนำร่องแผนพัฒนาระบบสถาบันการ เงิน ด้านดีบีเอส สิงคโปร์พอใจกับสัดส่วนหุ้น 10% เล็ง เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในอนาคต

เมื่อวานนี้ (28 ม.ค.) ที่ธนาคารทหารไทย (TMB) สำนัก งานใหญ่มีพิธีลงนามในบันทึกความ เข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างผู้บริหารธนาคารทหารไทย ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุและดีบีเอส สิงคโปร์ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ดีบีเอส ไทยทนุ มี นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัด การใหญ่ ธนาคารทหารไทย นายพรสนอง ตู้จินดา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และนางเจเน็ท หว่องไคยวน ประธานเจ้าหน้าที่การเงินดีบีเอส สิงคโปร์เป็นตัวแทนลงนาม

นายสุภัคกล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ครอบ คลุมไปถึงการควบรวมกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) ที่จะมีการลง นามอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ นับเป็นธนาคารกลุ่มแรกที่ทำการควบรวมเพื่อสนองนโยบายของ แผนแม่บทการเงินหรือพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ไฟแนนเชียล มาสเตอร์แพลน) ที่ต้องการให้ระบบสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งมากขึ้น เชื่อว่าขั้นตอนต่างๆ จะดำเนินการได้แล้วเสร็จประมาณ 3-4 เดือนข้างหน้าหรือภายในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยขั้นตอนการควบรวมกับไอเอฟซีทีกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อนโอนสินทรัพย์

สำหรับขั้นตอนแรกจะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เพื่อแจ้งให้ทราบและขอการอนุมัติ หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติจากผู้ถือหุ้นในการควบรวมโดยมติของผู้ถือหุ้นต้องเกิน 75% ของจำนวนหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมด ลำดับต่อจากนั้นทหารไทยก็ต้องจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) ของดีบีเอส ไทยทนุภายใน 30 วัน ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวทั้งหมด จะนำมาใช้กับไอเอฟซีทีเช่นกันและขั้นตอนสุดท้าย จะทำการเพิกถอนหลักทรัพย์ของดีบีเอสไทยทนุ และไอเอฟซีทีออกจากตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งคืนใบอนุญาตให้กับทางการเป็นขั้นตอนสุดท้าย

สำหรับคณะผู้บริหารนั้นหลังควบรวม นาย สมหมาย ภาษี ประธานกรรมการธนาคารทหารไทย จะยังคงดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรม การธนาคาร ส่วนนายสุภัคจะขึ้นเป็นประธานเจ้า หน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกลุ่มดีบีเอสจะเสนอชื่อบุคคลเข้ามาเป็นกรรม การตามสัดส่วนการถือหุ้น แต่ทั้งนี้จะไม่น้อยกว่า 2 คน และจะมีสิทธิเสนอชื่อกรรมการอิสระด้วย

นายพรสนอง เปิดเผยว่าพอใจกับแผนการ ควบรวมในครั้งนี้ ซึ่งองค์กรใหม่จะมีขนาดที่ใหญ่ ขึ้น มีทีมงานและผู้บริหารที่ดี และการควบรวมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น พนักงานและประเทศชาติด้วย

"ผมจะอยู่จนกระบวนการควบรวมเสร็จสมบูรณ์ เพื่อดูแลพนักงาน หลังจากนั้นก็จะให้เวลากับครอบครัวเพื่อพักผ่อน"

นางเจเน็ท กล่าวว่า ดีบีเอส สิงคโปร์ยัง ต้องศึกษาผลการควบรวมที่มีไอเอฟซีทีเข้ามาด้วย ทั้งในเรื่องงบดุล และเอ็นพีแอล แต่ก็เชื่อว่าเมื่อ รวมกิจการเข้าด้วยกันแล้วจะทำให้สินทรัพย์มีขนาดใหญ่ขึ้น โอกาสในการขยายธุรกิจมีมากขึ้น สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นของดีบีเอสหลังควบรวม เหลือ 10% จาก 20% นั้น ธนาคารก็มีแนวทางที่จะเพิ่มสัดส่วนให้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เร่งดำเนินการในช่วงการควบรวมนี้

นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่าในหลักการแล้วการควบรวมทหารไทย ดีบีเอส ไทย ทนุและไอเอฟซีทีต้องรายงานความคืบหน้าของการควบรวมกิจการให้กับธปท. ทราบทุกขั้นตอน และหากแผนการควบรวมเป็นไปในเชิงธุรกิจก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดระยะเวลาว่าภายใน 3 เดือน ต้องเสร็จ

ส่วนผู้ที่จะมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่นั้น นางธาริษาคาดว่าธนาคารทหารไทยคงกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าไม่ใช่นายพรสนอง เนื่อง จากทราบว่า ขอเข้าโครงการจะเกษียณอายุก่อนกำหนดไปแล้ว

"หากมีผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาก็จะต้องรายงานให้ธปท.ทราบ แต่ผู้ถือหุ้นเดิมไม่จำเป็นต้องรายงานต่อ ธปท.แต่อย่างใด" นางธาริษากล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.