เคเอสซีปรับโครงสร้างเพิ่มกลุ่มบรอดแบนด์รองรับแนวโน้มอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโต


ผู้จัดการรายวัน(28 มกราคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

อินเตอร์เนต เคเอสซีปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ แยกอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือ บรอดแบนด์เป็นอีก 1 หน่วยธุรกิจ จากเดิมที่มีเพียงคอนซูเมอร์ และคอร์ปอเรต รองรับแนวโน้มตลาดที่กำลังมาและเชื่อว่าจะโตในปีนี้ ย้ำไม่เน้นทำสงครามราคา มุ่งลูกค้า 3 กลุ่มหลัก เผยผลประกอบการรอบปีที่ผ่านมาโต 25%

อินเตอร์เนต เคเอสซีจัดทัพปรับขบวนรองรับแนวโน้มตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยการแยกบรอดแบนด์ออกมาจากกลุ่มคอนซูเมอร์เป็นอีกหนึ่งหน่วยธุรกิจ จากเดิมที่มีเพียง 2 หน่วยธุรกิจคือกลุ่มคอนซูเมอร์ และคอร์ปอเรต

สำหรับโครงสร้างใหม่ของอินเตอร์เนต เคเอสซีคือ 1.คอนซูเมอร์ อินเทอร์เน็ต ประกอบด้วย KSC Web Surfer V.3, KSC Web Surfer V.3 Plus, Snook! Card และ Snook! 1222 โดยมีประพนธ์ พงศ์ประพัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย คอนซูเมอร์ Dial-Up เป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบ 2.คอร์ปอเรต อินเทอร์เน็ต ประกอบด้วย อินเทอร์เน็ตองค์กร, บริการเสริมพิเศษสำหรับองค์กร และเคเอสซี ฮอตสปอร์ต โดยนาวี ศรีผดุง รองประธานฝ่าย บิสซิเนส โซลูชั่นส์ รับผิดชอบ 3.บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต ซึ่งมี 3 บริการคือเอดีเอสแอล,ไอเอสดีเอ็นและ เคเบิลโมเด็ม โดยมีต่อบุญ พ่วงมหา รองประธานฝ่ายบรอดแบนด์ เซอร์วิส รับผิดชอบ และมาร์เกตติ้งประกอบด้วยการสื่อสารการตลาด และกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ ซึ่งเป็นส่วนซัปพอร์ต 3 หน่วยธุรกิจ โดยมีเกษมราช นีรปัทมะ รองประธานฝ่ายการตลาด รับผิดชอบ ซึ่งทั้งหมดนี้จะรายงานและขึ้นตรงกับไมเคิล เครกไวท์ กรรมการผู้จัดการ อินเตอร์เนต เคเอสซี

เหตุผลที่เคเอสซีตั้งหน่วยธุรกิจใหม่เพราะเชื่อว่า ตลาดบรอดแบนด์ปีนี้จะมีอัตราการโตประมาณ 5% โดยมีปัจจัยหลักคือ 1.ภาครัฐให้ความสำคัญที่จะทำให้ไทยเป็นอินฟอร์เมชั่น โซไซตี้ และทำให้ค่าบริการบรอดแบนด์ต่ำลง นอกจากนี้ ผู้ที่เคยใช้แบบ Dial Up ต้องการความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ขณะที่ผู้ให้บริการด้านโครงข่ายทั้งทศท คอร์ป ทีเอ และทีทีแอนด์ที มีการขยายพื้นที่การให้บริการบรอดแบนด์ครอบคลุมมากขึ้น

"ที่แยกบรอดแบนด์ออกมาเพราะเชื่อว่าการให้บริการของเราจะต่างจากผู้ให้บริการที่มีโครงข่ายเอง ซึ่งเขาเน้นเรื่องของแอ็กเซส เป็นหลัก" นายต่อบุญ พ่วงมหา รองประธาน ฝ่ายบรอดแบนด์ บริษัท เคเอสซี คอมเมอร์เชียล อินเตอร์เน็ต ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือไอเอสพี ภายใต้ชื่อ อินเตอร์เนต เคเอสซีกล่าว

จากสิ่งที่เคเอสซีเชื่อ จึงมี นโยบายที่จะเน้นบริการบรอดแบนด์อย่างเต็มที่ โดยการร่วมมือกับพันธมิตรที่ให้บริการด้านเครือข่าย นำเสนอผลิตภัณฑ์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้งานของลูกค้า เน้นบริการที่สะดวก รวดเร็ว และครบวงจร ซึ่งผลิตภัณฑ์บรอดแบนด์ของเคเอสซี จะไม่เป็นแค่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แต่ยังรวมไปถึงการสร้างคุณค่าเพิ่ม หรือแวลู แอดเดรสให้กับลูกค้า เช่น อีเมล พื้นที่เก็บข้อมูล โฮมเพจ และในอนาคตจะเพิ่มบริการในส่วน ของแอปพลิเคชันใช้งานอย่างอีเมล แฟกซ์ บริการแมสเซจจิ้ง ระบบรักษาความปลอดภัย การแบ็กอัพข้อมูลต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของบริการหลังการขาย เคเอสซีได้พัฒนาระบบคอลเซ็นเตอร์ 24 ชม. พร้อมพนักงานที่สามารถให้บริการ 2 ภาษาคือไทยและอังกฤษ และจะเพิ่มภาษาจีนในอนาคตอันใกล้ เพื่อรองรับลูกค้าต่างชาติ พร้อมกันนี้ ยังมีบริการถึงที่หรือออนไซต์ เซอร์วิส บริการ 24 ชม.ด้วย

"นโยบายเราจะเน้นที่คุณภาพ ความคุ้มค่าสำหรับลูกค้า จะไม่ใช้กลยุทธ์ราคาเข้าแข่งขันในตลาด เพราะหากทำเรื่องราคาจะเป็นคอนซูเมอร์ไป"

ปัจจุบันเคเอสซีมีอินเทอร์-เน็ตความเร็วสูง 3 ประเภทคือ เอดีเอสแอล, ไอเอสดีเอ็น และเคเบิล โมเด็ม จับลูกค้า 3 กลุ่มประกอบด้วย 1.กลุ่มที่ต้องการความเร็ว 256k ในราคา 999 บาทต่อเดือน ซึ่งใช้เฉพาะในประเทศ 2.กลุ่มที่ต้องการความเร็ว 256k ตั้งแต่ 50-100 ชม. ซึ่งเป็นบริการระหว่างประเทศ และ 3.กลุ่มพรีเมี่ยมความเร็ว512k ที่ชอบความเร็ว ซึ่งปัจจุบันมีแพกเกจเริ่มต้นที่ 1,900 บาทต่อเดือน

นายต่อบุญกล่าวถึงกรณีที่ทศทให้บริการบรอดแบนด์ความ เร็ว 256k ในราคา 500 บาทต่อเดือน แบบไม่จำกัดชม.ว่า จะส่งผลดีต่อตลาดโดยรวม เพราะจะเป็นการให้ ความรู้กับตลาด แต่การให้บริการดังกล่าวผู้ให้บริการจะสามารถทำ ได้จริงหรือไม่ สำหรับการให้บริการ ของเคเอสซีพยายามผลักดันให้ราคาเท่ากับตลาดอยู่แล้ว

ส่วนการปรับลดค่าบริการนั้น จะขึ้นอยู่กับ 3 ส่วนหลักคือ 1.โครงข่ายหรือมีเดีย 2.ช่องสัญญาณหรือ แบนด์วิดท์ 3.ฮาร์ดแวร์และซอฟต์ แวร์ ทั้งนี้หากผู้ให้บริการโครงข่าย กับแบนด์วิดท์ลดค่าเช่าลง ผู้ให้บริการก็สามารถปรับลดราคาลงมาได้

"ปีนี้ตลาดบรอดแบนด์มีการแข่งขันกันสูงแน่ เพราะมีผู้ให้บริการ หน้าใหม่เข้ามา อย่างผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม จากเดิมที่มีการแข่งกันเฉพาะไอเอสพีเท่านั้น"

ด้านผลประกอบการของเคเอสซีในรอบปีที่ผ่านมามีกำไรเพิ่ม ขึ้น 25% เมื่อเทียบกับรอบปี 2545 เพราะมีการปรับปรุงและพัฒนาการ ให้บริการ และการนำสินค้าใหม่ออก สู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยัง มีการขยายโครงข่ายช่องสัญญาณระหว่างประเทศเพิ่มเป็น 200 เมกะ-บิตจากเดิม 90 เมกะบิต รวมถึงการ พัฒนาระบบปฏิบัติการเครือข่าย ทั้งคอนซูเมอร์และคอร์ปอเรต



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.