"สสปน."คว้างบ350ล.สู้ศึกไมซ์


ผู้จัดการรายวัน(27 มกราคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

สสปน. เร่งรัฐแก้จุดอ่อนตลาดไมซ์ ทั้งภาษีนำเข้าอุปกรณ์ประชุม การขอวีซ่า การตรวจคนเข้าเมืองที่ต้องดำเนินการแบบวีไอพี ผอ.สสปน.เผยวิสัยทัศน์ดันไทยเป็นจุดหมายการประชุม และท่องเที่ยวเพื่อรางวัลระดับโลก ชี้รัฐสร้างคอนเวนชั่นที่ภูเก็ต เชียงใหม่ หนุนตลาดประชุมขนาดใหญ่โต "ทิก้า" ปรับบทบาท สนับสนุนประชุมรายย่อย ททท.มั่นใจปีนี้ไมซ์โตได้ 8%

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริม การจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลอนุมัติให้จัดตั้งสสปน.ในรูปแบบองค์การมหาชนขึ้นมาเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและส่งเสริมตลาดการประชุม แสดงสินค้า และการท่องเที่ยวเป็นรางวัล (MICE) ในประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศจากกลุ่มท่องเที่ยวระดับสูง ในช่วง 5 เดือนที่เข้า ไปศึกษาตลาดไมซ์ พบว่ามีจุดอ่อน หลายด้านที่ทำให้กลุ่มไมซ์ไม่เข้ามา ใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดประชุม เช่น การเรียกเก็บภาษีอุปกรณ์ที่นำเข้ามาจัดประชุม ซึ่งไม่ ควรเรียกเก็บ การตรวจคนเข้าเมือง ที่ล่าช้าใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ควรจะจัดให้กลุ่มไมซ์เป็นกลุ่มวีไอพี ที่ต้อง แยกการตรวจคนเข้าเมืองจากกลุ่ม ทั่วไป การขอวีซ่าจะต้องดำเนินการ แบบวีไอพีด้วยเช่นกัน

สำหรับปัญหาและจุดอ่อน ของกลุ่มไมซ์ที่ สสปน.ศึกษามาแล้ว จะเร่งนำเสนอภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไข อย่างเร่งด่วนต่อไป เพราะจุดอ่อนหลายด้านทำให้ภาคเอกชนไทยออกไปแข่งขันประมูลงานในต่างประเทศแล้วไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้

ทั้งนี้ หลังจากคณะกรรมการสรรหาของ สสปน.ได้คัดเลือกนายพีระพงษ์ เอื้อสุนทรวัฒนา อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของ สสปน.เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา สสปน.ในฐานะที่เป็นองค์กรของภาครัฐจะเข้ามาช่วยภาคเอกชนต่างๆ ที่อยู่ในนามสมาคม ชมรม ขยายกลุ่มไมซ์อีกทาง โดยเห็นว่าสิ่งที่ภาคเอกชน ดำเนินการมาก่อนหน้านี้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง และดำเนินได้ดีมาก

ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวต่อว่าในปี 2547 นี้ สสปน.ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐจำนวน 350 ล้านบาท งบประมาณในส่วนนี้จะนำไปสนับสนุนภาคเอกชนไปเสนอตัวแข่งขันชิงงานประมูล เช่นเดียวกับที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ดูแลตลาดนี้เคยดำเนินการมา การทำงานหลังจากนั้นจะประสานงานกับ ททท.ในการช่วยเหลือภาคเอกชนไปประมูลงานในต่างประเทศเหมือนเดิม แต่จะดำเนินการอย่าง มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใน 1-2 ปีแรกคง ไม่สามารถวัดผลการทำงานของสสปน.ได้ชัดเจน เพราะการทำงานที่ผ่านมาไม่มีข้อมูลชัดเจน และวัดผลได้ว่าประเทศไทยควรจะได้จัดงานปีละเท่าไหร่

"หลังจากสสปน.ดำเนินงานแล้วจะศึกษาว่า งบประมาณที่ใช้ไปสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ เป็นจำนวนเท่าไร หากทราบแน่ชัดว่างบประมาณ ที่เข้าไปช่วยภาคเอกชนดึงการประชุมเข้ามาจัดใน ประเทศไทย สร้างรายได้อย่างเห็นได้ชัด สสปน. ก็จะเสนองบประมาณจากรัฐเพิ่มขึ้น เพื่อหวังสร้าง เม็ดเงินเข้าประเทศสูงสุด" ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว

นายพีระพงษ์ เอื้อสุนทรวัฒนา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) เปิดเผยว่า แนวทางการบริหารจะร่วม กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ททท. สมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไมซ์ เพื่อช่วย กันผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายระดับโลกในการประชุม และการท่องเที่ยวเป็นรางวัล โดยจะให้การสนับสนุนด้านเงิน การประสานงาน เพื่อดึงการประชุมเข้ามาจัดในประเทศ นอกจากนี้จะร่วมกับหน่วยงานรัฐ เพื่อดูแลเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่ช่วยให้การทำงานของผู้ประกอบ การไมซ์สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

จากการวิเคราะห์ตลาดพบว่า ไทยมีศักย- ภาพจะพัฒนาตลาดไมซ์ได้อีกมาก โดยมีจุดแข็ง ด้านการเมืองที่มีเสถียรภาพ ความเชื่อมั่นในการ ขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความพร้อมของศูนย์ประชุม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การเดิน ทางเข้าถึงวัฒนธรรมไทยและอาหารที่โดดเด่น รวมถึงกิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลาย แต่ที่ผ่าน มาไม่มีองค์กรหลักที่มาดูแลงานด้านนี้โดยตรง ทำให้ไม่มีกลยุทธ์ตลาดและเป้าหมายที่ชัดเจน และขาดข้อมูลที่จะนำไปพัฒนาเป็นเว็บไซต์เพื่อ ให้ผู้ประกอบธุรกิจไมซ์ และผู้สนใจสามารถเข้าถึง ข่าวสารข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสะดวดรวดเร็ว ซึ่ง สสปน.จะเร่งพัฒนาเว็บไซต์ภายในปีนี้

"เป้าหมายการดำเนินงานปีแรก จะเร่งสร้าง องค์กรให้มีความเป็นมืออาชีพ พร้อมทั้งพัฒนาทักษะของบุคลากรและความรู้ด้านธุรกิจไมซ์ เพื่อสนับสนุนให้ สสปน.และผู้ประกอบธุรกิจไมซ์ ในไทยสามารถแข่งขันได้กับต่างชาติได้"

นายพีระพงษ์ กล่าวต่อว่าเป้าหมายการทำตลาดไมซ์ช่วงแรกจะเน้นที่กลุ่มประชุม และท่อง เที่ยวเป็นรางวัลก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่ประเทศไทยมีความพร้อม และมีความชำนาญเป็นพิเศษ ส่วนตลาดคอนเวนชั่น หรือการประชุมขนาดใหญ่ และการจัดนิทรรศการ เป็นอีก 2 กลุ่มที่จะเร่งทำตลาดตามมา เพราะปัจจุบันศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ในประเทศไทยไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อ การประชุมขนาดใหญ่ หรือการจัดนิทรรศการ ทำให้ต่างประเทศไม่เลือกที่จะเข้ามาจัดงานทั้ง 2 ประเภทในไทย แต่การที่ภาครัฐมีนโยบายสร้างคอนเวนชั่น ฮอลล์ ที่เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นส่วนสำคัญที่จะมาสนับสนุนกลุ่มไมซ์ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด

นางสุชาดา ยุวบูรณ์ รองประธานกองทุนส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ทิก้า) กล่าวว่า ทิก้า เป็นกองทุนตั้งขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนด้านการเงินให้ภาคเอกชนออกไปแข่งขันประมูลงานในต่างประเทศ ปีนี้มีงบประมาณ 24 ล้านบาท หลังจาก สสปน.ดำเนินงานอย่างเต็มตัวแล้ว ทิก้าก็จะหันไปเน้นช่วยผู้ประกอบการรายย่อยแทน ส่วนการ ประชุมใหญ่ๆ จะให้สสปน.เป็นผู้รับผิดชอบ โดย ปีก่อนได้งานผู้ได้รับการสนับสนุนจากทิก้า ประมูลงานชนะ 21 งาน แพ้ไปเพียง 4 งาน สร้าง รายได้เข้าประเทศ 3,000 ล้านบาท

นายสันติชัย เอื้อจงประสิทธิ์ รองผู้ว่าการ ฝ่ายพัฒนาสินค้าท่องเที่ยว ททท. กล่าวว่า ปี 2545 ประเทศไทยมีตลาดไมซ์เข้าประเทศจำนวน 4.2 แสนคน สร้างรายได้จำนวน 32,000 ล้านบาท ส่วนปี 2546 ยังเก็บตัวเลขเสร็จไม่สมบูรณ์ แต่คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10% ส่วนปีนี้น่าจะเพิ่ม ขึ้นในอัตรา 8%



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.