การต่อสู้ครั้งใหญ่ของ ISAT

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

การส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศ กำลังเป็นกระแสวัฒนธรรมที่ย้อนกลับมาได้รับ ความนิยมอีกครั้งหลังจากที่ปราฏการณ์ดังกล่าว ลดระดับลงไปในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ในช่วงที่ผ่านมา

ความเชื่อที่ว่าการศึกษาในต่างประเทศจะเป็นส่วนช่วยเสริม ให้บุตรหลานมีความรู้ความสามารถสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วน ของภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นๆ ดำเนินไปท่ามกลางข้อเคลือบแคลงสงสัยในคุณภาพ และมาตรฐานของระบบการศึกษาภายในประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

หลังจากที่โรงเรียนจากต่างประเทศได้เข้ามาขยายตลาดในประเทศไทยด้วยการจัดนิทรรศการด้านการศึกษา เชิญชวนให้ ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในสถานศึกษาเหล่านี้มาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ล่าสุดสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (ISAT) และกรมส่งเสริมการส่งออกกำลังผนึกกำลังเพื่อทัดทานปรากฏ การณ์ดังกล่าว

นิทรรศการการศึกษานานาชาติ 2001 ถูกจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นับเป็น กิจกรรมของ ISAT ที่มีความเป็นรูปธรรมและนำเสนอต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก ในช่วงเวลากว่า 7 ปีที่ก่อตั้งขึ้นมา และยังเป็นกิจกรรมที่ได้ประสานความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ภายใต้ความพยายามที่จะหนุนนำให้การศึกษานานาชาติในประเทศไทยพัฒนา สู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาในระดับภูมิภาคด้วย

ข้อเท็จจริงอันน่าสนใจที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อยู่ที่นักลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก ได้เข้ามาลงทุนเปิดโรงเรียนนานาชาติ ด้วยการซื้อสิทธิในลักษณะของ franchise โรงเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากประเทศอังกฤษ โดยอาศัยชื่อเสียงที่โดดเด่นและประวัติศาสตร์อันยาวนาน รวมถึงมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนเหล่านี้ เป็นแรงดึงดูดสำคัญ

ขณะเดียวกัน โรงเรียนจากต่างประเทศได้เข้ามาขยายตลาดในประเทศไทยด้วยการจัดนิทรรศการด้านการศึกษา เพื่อให้ข้อมูลและเชิญชวนให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลาน เข้าศึกษาในสถานศึกษาเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ โดยกิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะดำเนินการผ่านเครือข่ายของบริษัทตัวแทนในประเทศไทยแล้ว บ่อยครั้งหน่วยงานในภาครัฐที่โรงเรียนเหล่านี้สังกัดยังได้เข้ามามีส่วนร่วมและทำหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ ในฐานะที่การให้บริการด้านการศึกษาเป็นประหนึ่ง สินค้าประเภทหนึ่ง

แม้ว่า ม.ล.ปริยดา ดิศกุล นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (ISAT) จะกล่าว ถึงเป้าหมายการจัดนิทรรศการการศึกษานานาชาติ 2001 ของ ISAT ในครั้งนี้ ว่าเป็นไปเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยอย่างเป็นด้านหลัก

แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ การจัดนิทรรศการครั้งนี้ เป็นการสะท้อนความพยายามที่จะทัดทานกระแสการส่งบุตรหลาน ไปศึกษาในโรงเรียนในต่างประเทศไปในคราวเดียวกันด้วย

สมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (The International Schools Asso-ciation of Thailand : ISAT) ก่อตั้งขึ้นในปี 2537 โดยมีวัตถุประสงค์หลักด้านหนึ่งเพื่อเป็นกลไก ในการเชื่อมประสานระหว่างโรงเรียนนานาชาติ ในประเทศไทย ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการติดต่อประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายและหน่วย งานของรัฐอื่นๆ โดยบทบาทสำคัญของ ISAT ในช่วงเวลาที่ผ่านมา อยู่ที่ความพยายามในการ ผลักดันให้มีการปฏิรูปการศึกษาในประเทศ ไทยด้วย ความพยายามในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นว่าด้วยการศึกษา ทั้งจากแหล่งข้อมูลในประเทศและต่างประเทศระหว่างสมาชิก ส่งผลให้นอกจาก ISAT จะมีการประชุมสมาคมประจำปี เพื่อเป็นเวทีในการ แลกเปลี่ยนทัศนะและข้อมูลต่อกันแล้ว ISAT ยังได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องถึงการพัฒนาศักยภาพคณาจารย์ของโรงเรียนสมาชิก

ความร่วมมือระหว่าง ISAT และกรมส่ง เสริมการส่งออก หลังจากการจัดนิทรรศการใน ครั้งนี้แล้ว ยังประกอบด้วยการจัด road show เพื่อประชาสัมพันธ์โรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยในต่างแดน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่กลุ่มผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในภูมิภาค ตะวันออกไกล โดยจะเริ่ม road show ที่ไต้หวัน และจีน ขณะเดียวกันก็พยายามขยายตลาดเข้า ไปสู่กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นนักลงทุนจากประเทศ ตะวันตกในเมียนมาร์ด้วย

ในทัศนะของ ISAT ผู้ประกอบการจำนวนมากคำนึงถึงสถานศึกษาสำหรับบุตรหลานของเจ้าหน้าที่ในฐานะปัจจัยในการลงทุน ด้วย ซึ่ง ISAT เชื่อว่าภูมิศาสตร์ของประเทศไทย สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติได้อย่างไม่ยากนัก หากแต่ต้อง มีการนำเสนอข้อมูลและประชาสัมพันธ์พอสมควร

ความพยายามดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าสนใจติดตามไม่ใช่น้อย และอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบในประเทศไทย ที่หลายฝ่ายกำลังถกเถียงและเร่งเร้าให้เกิดขึ้นด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.