ผู้ว่าฯแบงก์ชาติประกาศเลิกสังฆกรรมกับกระทรวงการคลัง เหตุไม่รักษาสัญญาในการควบรวมไอเอฟซีทีกับไทยธนาคาร
ยันยังไม่มีแผนนำไทยธนาคารไปควบรวมกับธนาคารอื่น เพราะไทยธนาคารยืนบนลำแข้งได้
ขณะที่ "สุชาติ" แจงการควบรวมไอเอฟซีทีกับทหารไทยและดีบีเอสไทยทนุเป็นมติครม.
ไม่ใช่กระทรวงการคลัง
หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ควบรวมกิจการ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(ไอเอฟซีที) กับธนาคารทหารไทยและธนาคารดีบีเอสไทยทนุเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา
ทำให้แผนการควบรวมไอเอฟซีทีกับไทยธนาคารที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอต้องล้มเลิก
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวเมื่อวานนี้ (22 ม.ค.) ว่า ยังไม่มีแผนที่จะนำไทยธนาคารไปควบรวมกับธนาคารอื่น
"ที่ผ่านมาเป็นการตกลงและหารือระหว่างผมกับกระทรวงการคลัง โดยมีการสัญญาอย่างชัดเจน
แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ทำตามสัญญา เพราะกระทรวงการคลังเลือกที่จะนำไอเอฟซีทีไปรวมกับธนาคารอื่น"
ผู้ว่าฯธปท.ระบุว่า จะไม่มีการ ทำสัญญาในการควบรวมกิจการสถาบันการเงินกับกระทรวงการคลังอีก
เพราะขนาดมีการสัญญาว่าจะควบรวมไอเอฟซีทีกับไทยธนาคาร กระทรวงการคลังยังไม่ทำ ตามสัญญา
"จะไม่ทำสัญญาและไม่รับทราบสัญญาใดๆ อีก เพราะหากมีการสัญญาก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการทำตาม"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
ส่วนที่มีข่าวว่า ไทยธนาคารอาจจะไปควบรวม กับธนาคารนครหลวงไทยหรือธนาคารกรุงไทยนั้น
ผู้ว่าฯธปท. ระบุว่า ไม่มีความเห็นและไม่เคยทำสัญญา
"ฐานะของไทยธนาคารสามารถที่จะดำเนินกิจการด้วยตัวเองต่อไปได้ และไปได้ด้วยดี
ไม่มีความ จำเป็นที่จะต้องควบรวมกิจการกับธนาคารอื่น"
ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลัง กล่าวว่า การนำไอเอฟซีทีไปควบรวมกับทหารไทยและดีบีเอสไทยทนุ เป็นมติของรัฐบาลไม่ใช่กระทรวงการคลัง ดังนั้นแม้ว่าโดยส่วนตัวจะเห็นด้วยกับแผนที่ธปท.เสนอ
ก็ไม่อาจดำเนินการได้เพราะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมครม.
"ผมไม่เคยสัญญากับใครและทำไปตามขั้นตอน มั่นใจว่าการควบรวมสถาบันการเงินตามแผนพัฒนา
ระบบสถาบันการเงิน (Financial Masterplan) จบไปด้วยดี ไม่ต้องเป็นห่วง"
ทั้งนี้ ตามแผนเดิม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เสนอให้ควบรวมไทยธนาคารกับไอเอฟซีที โดยส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังตั้งแต่เดือนพ.ย.
2546 ขณะนั้นร.อ.สุชาติมีท่าทีตอบรับกับแผนดังกล่าว แต่ในภายหลังเมื่อคณะทำงานของกระทรวงการคลังพิจารณาแผนที่ธปท.ส่งมาพบว่า
มีปัญหาทางด้านกฎ หมาย เนื่องจากไทยธนาคารอยู่ภายใต้พ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ไอเอฟซีทีเป็นพ.ร.บ.เฉพาะมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่า
ถ้าจะควบรวมก็ต้องแก้กฎหมายโดยออกพ.ร.บ.หรือพ.ร.ก.มายุบพ.ร.บ. ไอเอฟซีที หากเป็นการออกพ.ร.บ.ต้องใช้เวลานาน
แต่หากออกพ.ร.ก.ก็สามารถดำเนินการได้ทันที
กระทรวงการคลังจึงเตรียมการจะออกเป็น พ.ร.ก. ทว่ายังมีปัญหาที่ทำให้กระทรวงการคลังต้องขบคิดก็คือฐานะทางการเงินและความสามารถในการทำกำไรของไทยธนาคาร
ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือน ที่ธปท.รายงาน ประกอบกับพบผู้ถือหุ้นอันดับ 8 คือ บริษัท
คอมลิ้งค์ มีผู้บริหารระดับสูงของธปท.ถือหุ้นผ่านตัวแทน (นอมินี) ทำให้กระทรวงการคลังต้อง
ล้มแผนดังกล่าวก่อนเสนอเข้าที่ประชุมครม.และออกมาเป็นควบรวมไอเอฟซีทีกับทหารไทยและ
ดีบีเอสไทยทนุ
"พีรศิลป์"กระตุ้นพนักงานสู้
เมื่อวานนี้ นายพีรศิลป์ ศุภผลศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ส่งสารถึงพนักงานว่า
การที่ไทยธนาคารไม่ต้องควบรวมกับไอเอฟซีที ไม่มีผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ
ต่อพนักงานหรือลูกค้า
"ขณะนี้ไทยธนาคารก็ยังไม่ได้มีแผนควบรวมใด ๆ ทั้งสิ้น และจะยังคงดำเนินการในฐานะธนาคาร
พาณิชย์ตามที่ได้ปฏิบัติมาตั้งแต่ต้นอย่างเข้มแข็งต่อไป นอกจากนี้ในฐานะที่พวกเราเป็นพนักงานมืออาชีพ
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานต่อไปด้วยความขยันขันแข็ง และไม่หวั่นไหวต่อข่าวลือต่าง
ๆ"
นายพีรศิลป์กล่าวว่า หากเกิดมีความเปลี่ยน แปลงใด ๆ ในอนาคต ก็ต้องรับทราบว่าเป็นเรื่องของ
นโยบาย และต้องปฏิบัติตามมติของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
"ผมขอขอบคุณเพื่อนพนักงานทุกท่านที่ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่เพื่อไทยธนาคารมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
พวกเราได้ก้าวผ่านความยากลำบากและอุปสรรคหลายประการในช่วงเริ่มต้นมาแล้ว แต่หนทางข้างหน้าของเรานับจากนี้
ยังจะต้องเผชิญกับกระแสการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ที่จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นอีก
ซึ่งผมก็ต้องขอความร่วม แรงร่วมใจจากเพื่อนพนักงานทุกท่านในการร่วมกันปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ
เพื่อให้ไทย ธนาคารของเราทุกคนสามารถก้าวผ่านกระแสการแข่งขัน และเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป"
หุ้น3แบงก์ร่วง-IFCTบวก
ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้นเมื่อวานนี้ปรากฏ ว่า กลุ่มที่พัวพันกับการควบรวมดังกล่าวราคาหุ้นลด
ลงตามทิศทางตลาดที่ติดลบ ยกเว้นหุ้นไอเอฟซีที (IFCT) ที่เพิ่มขึ้น 75 สตางค์ หรือ
15.68% ปิดที่ 5.85 บาท มูลค่าซื้อขาย 520.36 ล้านบาท
โดยหุ้นทหารไทย(TMB) ปิดตลาดฯ 5.40 บาท ลดลง 30 สตางค์ ลด 5.26% มูลค่าซื้อขาย
1,108.32 ล้านบาท ดีบีเอสไทยทนุ (DTDB) ปิด 4.84 บาท ลดลง 16 สตางค์ ลด 3.20% มูลค่าซื้อขาย
26.81 ล้านบาท และไทยธนาคาร (BT) ปิด 6.95 ลดลง 20 สตางค์ ลด 2.8% มูลค่าซื้อขาย
42.68 ล้านบาท
นางสาวรัชนก ด่านดำรงรักษ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ธนชาติ ให้ความเห็นว่า
สาเหตุที่ IFCT ราคาเพิ่ม ขณะที่ DTDB และ TMB ลดลง เนื่องจากนักลงทุนเห็นว่า เป็นหุ้นตัวเดียวในทั้ง
3 ตัว ที่จะควบรวมกันที่ราคาซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าบัญชี ดังนั้นหาก TMB ต้องออกหุ้นใหม่
เพื่อแลกกับอีก 2 ธนาคาร IFCT จะแลกหุ้น TMB ได้มากที่สุด