"ก.ล.ต." ออกมาตรการเข้มคุมผู้บริหารบจ.ไซฟ่อนเงิน


ผู้จัดการรายวัน(23 มกราคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ก.ล.ต.เตรียมใช้มาตรการแก้ปัญหาการไซฟ่อน เงินผู้บริหารจากบจ. รวมถึงใช้กระแสสังคมกดดัน กรณีใช้กฎหมาย ลงโทษไม่ได้ ส่วนกรณี บจ.ซื้อ-ขายสินค้าและทรัพย์สินราคาสูงหรือ ต่ำกว่าราคาตลาด โดยเฉพาะบริษัทในเครือ ก.ล.ต.จะจับมือ ตลท. วิเคราะห์อัตราส่วนบัญชีที่สำคัญๆ บริษัทต่างๆ ด้านกรณี บจ.ให้กู้กิจการส่วนตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ แล้วใช้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติอนุมัติ ก.ล.ต.จะแทรกแซงผ่านที่ประชุมผู้ถือหุ้น พร้อมขอให้โบรกเกอร์กำหนดแนวทางบริหารวงเงินลูกค้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงกับระบบเคลียริ่งหุ้นโดยรวม ขณะที่เปิดเสรีค่าคอมฯยังไร้ข้อสรุปจะถามความเห็นผู้เกี่ยวข้องเพิ่ม เพื่อให้ได้ข้อสรุปเป็นธรรมทุกฝ่าย แถมโบรกเกอร์มีเวลาเตรียมพร้อม

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เปิดเผยวานนี้ (22 ม.ค.) ถึงมาตรการแก้ปัญหาไซฟ่อนเงินออกจาก บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ว่าหลังจาก ก.ล.ต. ศึกษาพฤติกรรมบจ.ช่วงที่ผ่านมา หลายกรณีพบการกระทำไม่เหมาะสม โดยมีการหาผลประโยชน์จากบจ. บางกรณีอาจไม่สามารถดำเนินคดีอาญาข้อหาทุจริต เพราะผู้กระทำการ อาศัยช่องโหว่กฎหมาย หรืออ้างว่าเป็นดุลพินิจทางธุรกิจ

อนาคตก.ล.ต.จะศึกษาแนวทางเน้นมาตร-การป้องกัน ก่อนที่ธุรกรรมเหล่านั้นจะเกิดขึ้น โดยก.ล.ต.จะชี้ให้เห็นข้อมูลที่อาจนำไปสู่ความไม่ถูกต้องของธุรกรรมต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้น ให้เกิดกระแสสังคม ทำให้ผู้เกี่ยวข้องต้องอธิบาย ความสมเหตุสมผลธุรกรรมต่างๆ แก่ผู้ถือหุ้น

นายธีระชัยกล่าวว่าที่ผ่านมา พบการหาประโยชน์จาก บจ.รูปแบบการกระทำหลักๆ 2 แบบ แบบที่ 1 คือการที่ บจ.ซื้อหรือขายสินค้า หรือทรัพย์สิน ราคาสูงกว่าหรือต่ำกว่าความ เป็นจริง โดยเฉพาะกับบริษัทในเครือ วิธีแก้ปัญหา นี้ ก.ล.ต.จะหารือตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) เพื่อให้มีการวิเคราะห์อัตราส่วนทางบัญชีที่สำคัญบริษัทต่างๆ เทียบบริษัทคล้ายคลึงกัน (peer group)

แบบที่ 2 คือการที่ บจ.ให้กู้ หรืออำนวยประโยชน์ผู้ถือหุ้นใหญ่กิจการส่วนตัว แล้วขอให้ที่ ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติอนุมัติ ภายหลัง ปรากฏว่า การให้กู้หรืออำนวยประโยชน์ดังกล่าว ทำให้ บจ. ได้รับความเสียหายเวลาต่อมา วิธีแก้ปัญหานี้ ก.ล.ต.จะแทรกแซงชั้นขบวนการประชุมผู้ถือหุ้น

ขั้นตอนดำเนินการที่อาจเป็นไปได้ คือเมื่อ บจ.จะนัดประชุมผู้ถือหุ้น หากมีวาระเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัทต้องส่งเอกสารให้ ก.ล.ต. ล่วงหน้า โดยก.ล.ต.จะเน้นให้วิเคราะห์วิจารณ์ข้อดีข้อเสียข้อเสนอดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ทั้งสื่อต่างๆ และเว็บไซต์ก.ล.ต. (www.sec.or.th) รวมทั้งจะกระตุ้นผู้ลงทุนสถาบันให้วิเคราะห์ และ ออกเสียงอย่างรอบคอบ

นอกจากนี้ การประชุมผู้ถือหุ้นก.ล.ต.จะหารือตลาดหลักทรัพย์ เพื่อกำหนดให้บจ.ต้องมีที่ปรึกษากฎหมาย รวมทั้งผู้สอบบัญชีอิสระ ทำหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการต่างๆ อีกชั้นหนึ่ง ก.ล.ต.อาจส่งเจ้าหน้าที่ร่วมสังเกตการณ์ด้วย

แนวคิดเรื่องนี้ คือหาทางทำให้การฟอกตัวในที่ประชุมผู้ถือหุ้นทำได้ยากขึ้น โดยเปิดโอกาสผู้ถือหุ้นรายย่อย ได้รับข้อมูลประกอบการ ตัดสินใจเต็มที่ นายธีระชัยกล่าว

นายธีระชัยกล่าวถึงตัวอย่างการดำเนินการ บจ.ที่ผู้ถือหุ้นควรระวังกรณีดำเนินการโดยได้รับ มติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น พฤติกรรมไม่เหมาะสม ให้กู้แก่บริษัทส่วนตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อลงทุนโครง การที่ความเสี่ยงสูง บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ก. ได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้บจ.ก.ให้กู้แก่บริษัท ส่วนตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการแห่งหนึ่ง ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และบจ.จะไม่ได้เป็นผู้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ต่อมาหลัง วิกฤตเศรษฐกิจ โครงการดังกล่าวถูกเลื่อนไม่มีกำหนด บริษัทส่วนตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ ทำให้บจ.ก.ต้องตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญ ทั้งจำนวน

พฤติกรรมไม่เหมาะสมอีกกรณี คือลดหนี้เงินให้กู้บริษัทส่วนตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยให้บจ. รับภาระหนี้สูญ เช่น บริษัทจดทะเบียนข.ได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ให้บจ.ข.ให้กู้บริษัทส่วน ตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ต่อมา บริษัทนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเป็นผู้บริหารบจ.ข.ด้วย จึงเสนอที่ประชุมผู้ถือ หุ้นอนุมัติปรับโครงสร้างหนี้ โดยลดหนี้ให้บริษัท ส่วนตัวของผู้บริหาร ทำให้บจ.ข.ต้องรับภาระหนี้ สูญจากการปรับโครงสร้างหนี้

ส่วนดำเนินการโดยไม่ผ่านที่ประชุมผู้ถือหุ้น พฤติกรรมไม่เหมาะสม คือซื้อทรัพย์สินราคาสูงจากบุคคลที่เกี่ยวข้องของผู้ถือหุ้นใหญ่ เช่น บริษัทจดทะเบียนค. ลงทุนซื้อหุ้น 25% บริษัทง. ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่ ราคา 15 ล้านบาท ทั้งที่มูลค่าตามบัญชีบริษัทง. เพียง 2 ล้านบาท โดยอ้างว่ามูลค่าที่จ่ายเพิ่ม เป็นค่าความ นิยมบริษัทง. อีก 1 เดือนต่อมาบจ.ค.ตั้งสำรองเผื่อขาดทุนหุ้นบริษัทง. 13 ล้านบาท บริษัทง.ก็เลิกกิจการอีก 1 ปีถัดมา

พฤติกรรมไม่เหมาะสม กรณีขายเงินลงทุน บริษัทย่อยในราคาต่ำ ให้บุคคลที่สงสัยว่าเป็นบุคคลเกี่ยวข้องของผู้ถือหุ้นใหญ่ เช่น บริษัทจดทะเบียนจ. ขายหุ้นบริษัทย่อยให้บุคคลที่สงสัยว่าเป็นบุคคลเกี่ยวข้องของผู้ถือหุ้นใหญ่ ราคาเพียง 1 ล้านบาท โดยอ้างว่ามูลค่าตามบัญชีบริษัทย่อยติดลบ ทั้งที่บริษัทย่อยทรัพย์สิน มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท หนี้สินเกือบทั้งหมด ของบริษัทย่อยเกือบ 20,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ บจ.จ.เอง หลังขายบริษัทย่อยไปแล้ว บจ.จ.ไม่ติด ตามทวงหนี้จากบริษัทนั้นตั้งเป็นหนี้สูญ พฤติกรรมไม่เหมาะสม จ่ายค่าเช่าตึกล่วงหน้า 99 ปี ให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทจดทะเบียนฉ. ทำสัญญาเช่าอาคารสำนักงานจากบริษัทส่วนตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ และจ่ายค่าเช่าอาคาร ล่วงหน้าทันทีถึง 99 ปี เป็นเงิน 2,000 ล้านบาท ทั้งที่สัญญาเช่า อายุเพียง 3 ปี และต่ออายุได้ ทุกๆ 3 ปี เสรีค่าคอมฯ ยังไร้ข้อสรุป

ด้านการประชุมร่วมกัน ระหว่างผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. และผู้แทนสมาคมบริษัทหลักทรัพย์วานนี้ (22 ม.ค.) ตกลง ร่วมกัน ว่าจะพบปะกันทุก 3 เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นการกำกับและพัฒนาตลาดทุน การประชุมครั้งนี้ ก.ล.ต.ขอให้สมาคมบริษัทหลัก ทรัพย์ศึกษา เพื่อกำหนดแนวทางบริหารวงเงินลูกค้าให้เหมาะสม และจัดสรรหุ้นจอง

นายธีระชัยกล่าวว่าการประชุมวานนี้ ก.ล.ต. ขอให้บริษัทหลักทรัพย์ศึกษา เพื่อกำหนดแนวทาง บริหารวงเงินลูกค้า โดยคำนึงถึงหุ้นที่ลูกค้านำเงินไปซื้อ ซึ่งแต่ละหุ้นก่อเกิดความเสี่ยงบริษัทหลักทรัพย์ต่างกัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดกับระบบเคลียริ่งหุ้นโดยรวม เบื้องต้นอาจ พิจารณาหุ้นที่อยู่ในข่ายต้องรายงานก.ล.ต.

หุ้นที่สัดส่วนราคาหุ้นต่อกำไร (P/E ratio) สูงที่ซื้อขายคึกคักมากเทียบจำนวนหุ้นหมุนเวียน จริงในกระดาน (free float) 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่ง อาจมีเหตุผลสนับสนุน เช่น เป็นบริษัทแนวโน้มกำไรเพิ่มสูง (growth company) เมื่อกำไรเพิ่ม จะทำให้ P/E ratio ลดลงอนาคต
แต่อีกกลุ่ม อาจเป็นหุ้นที่ซื้อมากเกินไปตามกระแสข่าวลือ หรือแนะนำกัน หลายกรณี ไม่ใช่ทำโดยผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัทจดทะเบียน จึงแนะนำผู้ลงทุนรายย่อย ศึกษาวิเคราะห์หุ้นที่ P/E ratio สูง ที่อยู่ในบัญชีหุ้นหมุนเวียนสูง (Turnover list) อย่างละเอียดรอบคอบ

ปี 2547 คาดว่าจะมีหุ้นใหม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งการเพิ่มทุนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวนมาก จึงเห็นว่าจะร่วมกันกำหนดแนวทางจัดสรรโปร่งใสและชัดเจน กรณี หุ้นรัฐวิสาหกิจจะร่างแนวทางจัดสรรเสนอหน่วย งานเกี่ยวข้อง เพื่อให้หุ้นรัฐวิสาหกิจกระจายสู่ประชาชน

กรณีเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ก.ล.ต.รับฟังปัญหาต่างๆ ที่บริษัทหลักทรัพย์คาด ว่าจะเกิดขึ้น หากเปิดเสรีก.ล.ต.จะนำข้อมูลพิจารณาอย่างรอบคอบ และสอบถามความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อสรุปเป็นธรรมแก่ทุก ฝ่าย และบริษัทหลักทรัพย์จะมีเวลาเตรียมพร้อม นายธีระชัยกล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.