The Wright Way


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

แก้ปัญหาแบบพี่น้องตระกูล Wright

Mark Eppler ผู้แต่งซึ่งเป็นอาจารย์สอนธุรกิจ ศึกษาชีวิตการทำงานของพี่น้องตระกูล Wright (Wilbur และ Orville Wright) อย่างละเอียดและพบว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาของพี่น้องตระกูล Wright อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อหาวิธีที่จะทำให้เครื่องบินซึ่งหนักกว่าอากาศบินขึ้นให้ได้ โดยนำหลักการทางวิศวกรรมมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบนั้น คือเบื้องหลังความสำเร็จอันงดงามของพวกเขา ซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องบินแบบมีคนนั่งได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 1903

Eppler เห็นว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบของ 2 พี่น้องตระกูล Wright นี้น่าจะนำมาปรับใช้กับการแก้ปัญหาทางธุรกิจได้ด้วย ดังนั้น เขาจึงนำหลักการแก้ปัญหาของพี่น้องตระกูล Wright มาปรับและกลั่นจนได้หลักการ 7 ประการในการแก้ไขปัญหาธุรกิจ

เปิดศักราชใหม่แห่งการบิน

Eppler เห็นว่า ความสำเร็จของพี่น้องตระกูล Wright เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20 เพราะพวกเขาสามารถแก้ไขปัญหาเทคนิคที่ใครๆ ต่างส่ายหน้าและลงความเห็นว่า ซับซ้อนและยากเกินกว่าจะแก้ได้ แต่พวกเขากลับสามารถแก้ได้โดยไม่มีใครช่วย ภายในเวลาอันรวดเร็วและด้วยพลังสมองอันน่าทึ่ง ทั้งๆ ที่เขาทั้งสองเป็นเพียงช่างซ่อมจักรยานธรรมดาๆ จากเมือง Dayton ที่ได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการน้อยมาก

Eppler ได้ตั้งชื่อหลักการทั้ง 7 ที่เขากลั่นมาจากหลักการทำงานของพี่น้องตระกูล Wright โดยพยายามโยงให้เกี่ยวกับงานของทั้งสองซึ่งเป็นช่างซ่อมจักรยานดังนี้

- การเผาและตีเหล็ก (เพื่อขึ้นรูปชิ้นส่วนจักรยาน) หรือหลักการขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ การถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ซึ่งจะทำให้สามารถค้นพบความคิดและวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ ก็เปรียบเหมือนการเผาและตีเหล็กที่ต้องใช้ความร้อนสูงเป็นเวลานาน กว่าจะได้รูปร่างตามต้องการ

- จัดการหัวหน้าวายร้าย หรือหลักการจัดการปัญหาที่เลวร้ายที่สุดก่อน จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหากพบว่าวิธีแก้ปัญหาที่นำมาใช้ไม่ได้ผล

- ปะโน่นนิดนี่หน่อย หรือหลักการแก้ปัญหาทีละเปลาะ การแก้ปัญหาไปทีละจุดอาจนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ ได้ เพราะในระหว่างที่เราแก้ปัญหาแต่ละจุดเราจะเกิดความเข้าใจภาพรวมของปัญหามากขึ้น

- ปล่อยใจให้คิดแผลง หรือหลักการคิดนอกกรอบ การคิดแผลงๆ คือการมองหาความเป็นไปได้ที่อยู่นอกเหนือครรลองความคิดปกติ ที่มักจะถูกจำกัดด้วยแนวทางหรือประสบการณ์เดิมๆ

- เตรียมงานอย่างทรหดหรือหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจำเป็นในการสั่งสมข้อมูลใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหา

- วัด 2 ครั้ง หรือหลักการแห่งความรอบคอบ วิธีแก้ปัญหาที่รวดเร็วและได้ผลที่สุดคือการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและรอบคอบ

- เพิ่มพลังทวีคูณ หรือหลักการทำงานเป็นหมู่คณะ พลังของกลุ่มที่มีเป้าหมายร่วมกันจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ จากการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจและความซื่อสัตย์ต่อกัน ตลอดจนการแบ่งปันผลประโยชน์และสิทธิอย่างเท่าเทียม

รวดเร็วปานจักรผัน

Eppler แสดงให้เห็นว่า พี่น้องตระกูล Wright นำหลักการทั้ง 7 มาใช้แก้ปัญหาที่ไม่เคยมีใครแก้มาก่อนได้อย่างไร ซึ่งนอกจากจะทำให้พวกเขาสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย โดยใช้เงินไม่ถึง 1,000 ดอลลาร์ในการประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษได้แล้ว ยังทำให้พวกเขาสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วปานจักรผันอีกด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.