Beyond Budgeting


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

แหวกกรอบงบการเงิน

เช่นเดียวกับผู้นำ ผู้บริหารธุรกิจมักจะถูกคาดหวังเอาไว้สูงมากว่าจะเป็นผู้ที่อยู่เหนือสถานการณ์แวดล้อม และนำองค์กรธุรกิจฝ่าฟันสถานการณ์ (โดยเฉพาะช่วงยากลำบากหรือ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไปได้) ด้วยความสามารถของเขา

ความคาดหวังอย่างนี้ เป็นดาบสองคมที่สามารถสร้างแรงจูงใจ และบ่อนทำลายผู้บริหาร ได้เสมอมา

โดยทั่วไป ตามหลักคลาสสิกของการบริหารธุรกิจตามหลักของปีเตอร์ ดรักเกอร์ ปรมาจารย์ด้านนี้ ผู้บริหารมีหน้าที่สองอย่างหลัก คือ สร้างโอกาส และแก้ปัญหา ส่วนใครจะถนัดอย่างไหน เป็นเรื่องที่ต้องเลือกและถูกเลือก ทั้งองค์กรธุรกิจและตัวผู้บริหารเอง

การสร้างโอกาสและปัญหานี้เอง นอกจากสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จ และความล้มเหลวในทุกๆ ด้านขององค์กรแล้ว ยังแสดงออกถึง "วัฒนธรรมองค์กร" อันเป็นรากฐานบ่งบอกถึงกระบวนการทำงาน กรอบวิธีคิด และสไตล์ขององค์กรธุรกิจได้ดี

ผู้บริหารอย่าง แจ๊ค เวลช์ แห่ง จีอี ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่มีรายได้ต่อปี ประมาณ 25 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติประเทศไทย คือตำนานต้นแบบของการบริหารยุคใหม่ที่ใครก็ต้องพลาดศึกษาไม่ได้เลย แต่จีอีก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อบกพร่องให้เห็น โดยเฉพาะหลังจากที่เวลช์ลงจากหลังเสือไปแล้ว พร้อมกับเรื่องอื้อฉาวหลายอย่างตามมา (ไม่นับสัมพันธภาพทางเพศนอกสมรส (คำเรียกหรูของการเป็นชู้ลับ) กับบรรณาธิการวารสารของฮาร์วาร์ดอันอื้อฉาวที่ถูกเปิดโปง)

เวลช์ แบ่งกระบวนการบริหารออกเป็นสองส่วนหลัก หนึ่งคือ การปรับวัฒนธรรมองค์กร เพื่อเป็นรากฐานรองรับการเปลี่ยนแปลง สองคือ การปรับกระบวนการปฏิบัติงาน เพื่อให้รักษาและกระตุ้นการแข่งขันที่รุนแรง

ส่วนแรก บ่งบอกว่าองค์กรนั้นประพฤติตัวกันอย่างไร ส่วนหลัง บอกให้รู้ว่า องค์กรนั้น ทำงานกันอย่างไรเพื่อบรรลุผล

หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับเวลช์และวัฒนธรรมองค์กรที่เรียกว่า Watch-Out แต่ก็เป็น "บททดลองเสนอ" เพื่อปรับวัฒนธรรมองค์กรในระดับเดียวกัน เพราะผู้เขียนระบุเอาไว้ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า ไอเดีย Beyond Budgeting นี้ มีไว้เพื่อเป็นรากฐานก่อนที่องค์กรใด จะทำ Balanced Scorecard ที่กำลังโด่งดังในเวลานี้

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ทั้งคู่ เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ HBS และยังเป็นผู้กำกับดูแลโครงการ อบรมผู้บริหารทางด้านการเอาชนะข้อจำกัดทางด้านบัญชี สำหรับคนที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของธุรกิจ โดยไม่ได้จบมาทางด้านบัญชีโดยตรง ดังนั้น ข้อเขียนในเล่มนี้จึงถือได้ว่าเป็นหนังสือจาก "ผู้ชำนัญการ" โดยตรง

ว่าไปแล้ว เรื่องการแหวกวงล้อมทางด้านบัญชีประจำปี ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นวาทกรรมมานานแล้ว ระหว่างผู้ที่เห็นข้อจำกัดของวัฒนธรรมธุรกิจแบบอเมริกัน โดยเฉพาะบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหุ้น ที่ผู้บริหารบริษัทจะต้องรายงานผลการดำเนินงานทุกไตรมาสเพื่อให้ผู้ถือหุ้นรับทราบการทำงาน พร้อมกับรักษา "มูลค่าของผู้ถือหุ้น" ให้ดีตลอดไป ซึ่งเป็นเรื่องขัดแย้งในตัวเอง

กรณีเอนรอน และเวิลด์คอม ที่ผู้บริหารร่วมกับสำนักงานตรวจสอบบัญชีสมคบกันแต่งบัญชีเพื่อตบตาผู้ถือหุ้น จนกลายเป็นตำนานแห่งการฉ้อฉลครั้งใหญ่เมื่อสองปีก่อนเป็นกรณีที่ยิ่งทำให้เรื่องนี้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่า หนังสือเล่มนี้พยายามหาทางออกให้กับผู้บริหาร ไม่ใช่หาทางออกให้กับผู้ถือหุ้น โดยมีวาระสำคัญที่ซ่อนเอาไว้นั่นคือ ต้องการให้ปฏิรูปวัฒนธรรมทางธุรกิจแบบอเมริกัน เสียใหม่ โดยผ่านการครุ่นคิดเรื่องที่ "นอกเหนือจากงบการเงิน" โดยอ้างเหตุผลว่า กรอบของการสร้างงบการเงินรายปีของบริษัท ที่มุ่งไปในเรื่องของผลการดำเนินงานตามเป้าหมายโดยมีแรงจูงใจเป็นพลังขับให้พนักงาน เป็นเรื่องเสียเวลา ให้คุณค่าต่ำ และไม่ยืดหยุ่นต่อการฉกฉวย โอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในระหว่างปีนั้น

กรอบวิธีของ Beyond Budgeting มีอยู่สองขั้นตอน

- ขั้นแรก ปรับองค์กรใหม่ให้เป็น adaptive organizations ด้วยการลดขั้นตอนการตัดสินใจ และเพิ่มช่องทางให้กับการกระจายความรู้ของคนในองค์กรโดยทั่วถึง ให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงาน ก่อให้เกิดการลดต้นทุน และลดการเมืองในสำนักงานลง

- ขั้นที่สอง การกระจายอำนาจ มีการถ่ายโอนอำนาจการตัดสินใจจากระดับบนสู่ระดับ กลางและล่างมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพของพนักงาน และความกระตือรือร้นให้มากขึ้น เพื่อให้แผนงานบรรลุเป้าหมายโดยไม่ต้อง "บังคับ"

ดูจากเงื่อนไขของทั้งสองข้อ กุญแจสำคัญของการปรับวัฒนธรรมองค์กรของผู้เขียน ดูเหมือนจะมุ่งไปที่การมีส่วนร่วมมากกว่าลำดับชั้นของการตัดสินใจ อันเป็นปัญหาเก่าแก่องค์กรขนาดใหญ่โดยทั่วไป ซึ่งมักจะถูกออกแบบมาเพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้บริหารระดับบนสุดในการ "กำกับดูแล" และ "ผลักดัน" มากกว่าการกระจายความรู้ ด้วยเหตุผล "ความลับทางธุรกิจ" เป็นฉากบังหน้าความบกพร่องทั้งหลายแหล่

โดยเฉพาะทุกองค์กรธุรกิจนั้น หนีไม่พ้นหัวใจของธุรกิจนั่นคือ แสวงหากำไรสูงสุด ซึ่งเปรียบได้กับนิวเคลียสของเป้าหมาย ในขณะที่อณูอื่นๆ นั้น ต้องขับเคลื่อนอยู่บนและรับใช้ เป้าหมายใหญ่ในระยะสั้นบน "เกมแห่งตัวเลข" ทางบัญชีประจำปี จนกระทั่งลืมไปว่า ยังมีเป้าหมายอื่นๆ ที่แฝงเร้นและเป็นทรัพยากรระยะยาวให้กับองค์กรในการแข่งขัน

เพื่อให้ดูมีเหตุมีผล ข้อมูลเชิงปริมาณที่จะบอกว่าโมเดลของผู้เขียนสามารถใช้งานได้ก็คือ กรณีศึกษาองค์กรธุรกิจที่นำไปใช้ ซึ่งมีอยู่หลายประเทศที่ยกตัวอย่างมาก อาทิ ญี่ปุ่นซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทขนาดมหึมาทั้งสิ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า แนวคิดของผู้เขียนทั้งคู่จะสามารถใช้การได้เป็นกรณีทั่วไป เนื่องจากไม่ได้บอกว่า มีองค์กรไหนบ้างที่นำไปใช้แล้ว ไม่ได้ผลเพื่อเปรียบเทียบกัน

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แรกสุด หนังสือเล่มนี้ เหมาะสำหรับผู้บริหารสำหรับองค์กรขนาดใหญ่มาก โดยเฉพาะบริษัทมหาชนจดทะเบียน ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการสร้างราคาหุ้น และการแสดงผลงานเพื่อออกตราสารหนี้ใหญ่ๆ จากนักลงทุนสถาบัน ที่ต้องยอมรับการตรวจสอบที่เข้มงวดโดยเฉพาะจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (หรือความเสี่ยง) ทางการเงิน

ที่สำคัญองค์กรเช่นว่า จะต้องเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลข่าวสารธุรกิจ อย่างเอาจริงเอาจังอีกด้วย

ไม่เหมาะกับธุรกิจขนาดกลางหรือย่อม ที่ต้องใช้รูปแบบโบราณคือ Walkaround Management ไปพลางๆ ก่อน

ประการต่อไป ประเด็นเรื่องวัฒนธรรมองค์กร เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในระดับ "วาทกรรม" ได้ง่ายมาก เนื่องจากยากจะหามาตรฐานที่ชัดเจน หรือตัวอย่างต้นแบบที่สามารถ ลอกแบบใช้อย่างสูตรสำเร็จได้ โดยเฉพาะทฤษฎีใหม่ๆ หลายอย่างที่น่าฮือฮาในเรื่องปรับวัฒนธรรมองค์กรนี้ ระยะหลังๆ ดูเหมือนจะล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ ทำให้ใครต่อใครพากันเข็ดขยาด

คำพูดหวือหวาประเภท "ล้มไปข้างหน้า" หรือ "ผิดเพื่อชนะ" ก็เป็นแค่ถ้อยคำที่ไม่เหมาะจะนำไปใช้ในโลกของความจริง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เรื่อง รีเอนจิเนียริ่ง เมื่อหลายปีก่อนของไมเคิล แฮมเมอร์ และพวก ซึ่งเป็นที่ฮือฮากันอย่างมาก แต่หลังจากองค์กรต่างๆ นำไปใช้ ปรากฏว่ามากกว่าร้อยละ 90 ประสบความล้มเหลวไม่เป็นท่า

ในแง่นี้ หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับการอธิบายให้เห็นขีดจำกัดของรูปแบบกับดักทางการเงินของการบริหารในปัจจุบัน ที่ผลักดันให้ผู้บริหารส่วนใหญ่ ต้องเดินไปสู่เส้นทางของการฉ้อฉลเพราะแรงบีบคั้นจาก "ตัวเลข" ที่ตั้งขึ้นมา แต่สำหรับทางออกที่เสนอมานั้น (โดยเฉพาะโมเดล Beyond Budgeting ที่พูดถึงในบทที่ 2 ของหนังสือนี้) เป็นเรื่องที่ต้องใคร่ครวญ และศึกษากันต่อไป ถึงความเป็นไปได้ที่จะนำมาประยุกต์ใช้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมที่มีวัฒนธรรมทางสังคมและธุรกิจเดิม แตกต่างจาก "มาตรฐานอเมริกัน" อย่างมากนั้น การปรับวัฒนธรรมองค์กร เป็นหนึ่งในความเสี่ยงภัยทางธุรกิจที่สำคัญ ไม่แพ้การเปลี่ยนแปลงทางด้านอื่นๆ แม้แต่น้อย

ผู้บริหารที่ไม่อยากล้าหลังและเชื่อว่าตัวเองใจกว้างพอ ควรจะหาซื้อมาอ่านเพื่อจุดประกาย ความคิดใหม่ๆ เพราะผู้เขียนเรียบเรียงเอาไว้อย่างดี ตามประสาหนังสือ How To...ชั้นดี

เนื้อหาในหนังสือ

หนังสือแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 parts โดยหัวใจของแนวคิดอยู่ที่ Part 1 ส่วนที่เหลือเป็นรายละเอียดเพื่อศึกษาเพิ่มเติมอย่างเป็นรูปธรรม

Part 1
The Promise of Beyond Budgeting
เสนอภาพมุมกว้างและแนวคิดของการปรับวัฒนธรรมองค์กร

Chapter 1 The Annual Performance Trap ชี้ให้เห็นหลุมดำของปัญหากับดักผลประกอบการประจำปี ที่ล่อให้ผู้บริหารตกอยู่ในกับดักของการสร้างตัวเลขทางบัญชีให้สวยงาม และเป็นการฉ้อฉลไป

Chapter 2 Breaking Free เสนอทางออกใหม่เพื่อหลุดพ้นจากกับดักทางตัวเลข ด้วยBeyond Budgeting สองขั้นตอน บทนี้คือหัวใจของหนังสือเล่มนี้

Part 2
The Adaptive Process Opportunity: Enabling Managers to Focus on Continuous Value Creation ขยายความของขั้นตอนการสร้างโมเดลทางวัฒนธรรมองค์กรใหม่ขั้นตอนแรก

Chapter 3 How Three Organizations Introduced Adaptive Processes ที่มาและเหตุจูงใจของการที่บริษัทตัวอย่าง 3 รายจาก ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และสวีเดน ในกรณีศึกษา หันมาปรับวัฒนธรรมองค์กรด้วยกระบวนการนี้

Chapter 4 Principles of Adaptive Processes ว่าด้วยกฎเหล็ก 6 ประการของการปรับวัฒนธรรมเพื่อพ้นจากกับดักตัวเลข

Chapter 5 Insights into Implementation กระบวนการนำความคิดแปรเป็นการปฏิบัติรูปธรรมในทุกขั้นตอนโดยละเอียด อุปสรรคและทางออก เพื่อให้ลุล่วงวัตถุประสงค์

Part 3
The Radical Decentralization opportunity: Enabling Leaders to Create a High Performance Organization ขยายความของขั้นตอนการกระจายอำนาจการบริหาร เพื่อสร้างองค์กรที่ยืดหยุ่นและมีความสามารถการแข่งขันสูง

Chapter 6 How Three Organizations Removed the Barriers to Change กรณีศึกษา 3 บริษัทจากสวีเดน และอังกฤษในการเอาชนะอุปสรรคต่อการปรับเปลี่ยนองค์กร

Chapter 7 Principles of Radical Decentralization ว่าด้วยกฎเหล็ก 6 ประการ ของการกระจายอำนาจอย่างถอนรากถอนโคนให้บรรลุผล

Chapter 8 Insights into Changing Centralized Mind-Sets เกณฑ์ประเมินผลความสำเร็จจากการกระจายอำนาจ ที่ชี้ให้เห็นว่า ทัศนคติของผู้บริหารสูงสุดในองค์กรได้เปลี่ยนไปแล้วจากอดีต

Part 4
Realizing the Full Promise of Beyond Budgeting
การขยายผลและสานต่อแนวคิดเปลี่ยนวัฒนธรรมเพื่ออนาคตขององค์กรธุรกิจ

Chapter 9 The Roles of Systems and Tools ความเชื่อมโยงอย่างสอดคล้องระหว่างความคิดและเครื่องมือรูปธรรม เสมือนหนึ่งการให้อาวุธกับพนักงานในองค์กรทุกระดับเพื่อนำไปใช้แข่งขันทางธุรกิจให้บรรลุเป้าหมาย

Chapter 10 The Vision of a Management Model Fit for the Twenty-First Century การวาดวิสัยทัศน์ของผู้เขียนต่อโครงสร้างองค์กรธุรกิจในอนาคต ที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสูงขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.