อภิรักษ์ โกษะโยธิน

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"ผมมองว่า เรื่องการลาออกจากตำแหน่ง CEO บริษัทแกรมมี่ของอภิรักษ์ โกษะโยธิน ไปสู่ทีเอ ออเร้นจ์ นั้นเป็นเรื่องโอกาสของมืออาชีพคนหนึ่ง มากกว่าที่จะเป็นเรื่องความขัดแย้ง

ประสบการณ์และโอกาสของเขาสอดคล้องกับยุคสมัย มันต้องควบคู่ไปกับความเก่ง ความเก่งเป็นนิยามจากความรู้สึกมากกว่าความเข้าใจ หากถามผม ผมคิดว่าอภิรักษ์มีความสัมพันธ์กับความเป็นไปของเขา

คนหนุ่มที่มีบุคลิกดี ที่เพิ่งผ่านวัย 40 ปีมาไม่นานอยู่ในวัยของความกระฉับกระเฉง ในฐานะนักบริหารที่อยู่ในโลกธุรกิจสมัยใหม่ โดยเฉพาะประสบการณ์สำคัญในการบริหารบริษัทฟริโต-เลย์ ในช่วงวิกฤติการณ์ประเทศไทยสามารถสร้างสินค้ามันฝรั่งทอดแบรนด์เนมตะวันตก เข้ายึดครองตลาดประเทศไทยสำเร็จ ประสบการณ์ 5-6 ปีของเขา มีความหมายมากทีเดียว

- ประสบการณ์ในการบริหารสินค้าที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้คนในเมืองใหญ่ โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มวัยรุ่น ซึ่งกลายเป็นฐานของสินค้าสมัยใหม่ อย่างสินค้าความบันเทิงของแกรมมี่ หรือโทรศัพท์มือถือ Orange

- ประสบการณ์ในการบริหารในบริษัทต่างประเทศ ในประเทศไทยในช่วงเวลาพอสมควร (มากกว่า 10 ปี) ความสำเร็จของมืออาชีพคนไทยในบริษัทต่างประเทศในประเทศไทย เป็นสิ่งที่อ้างอิงเสมอสำหรับสังคมธุรกิจไทย ตั้งแต่กรณีมืออาชีพจากเชลล์ เอสโซ่ ย้ายมาสู่เครือซิเมนต์ไทย เมื่อราว 30 ปีที่แล้ว

โอกาสของอภิรักษ์จึงเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้"

ผมเขียนเรื่องนี้ไว้ช่วงที่เขาลาออกจากแกรมมี่ไป Orange จากบริษัทดาวรุ่งของเถ้าแก่ไทยรุ่นใหม่ไปสู่กิจการเก่าแก่ของไทยที่ผสมกับตะวันตก นับว่าเป็นคนหนุ่มที่มี ประสบการณ์หลากหลายมากคนหนึ่ง หากจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งการเมืองก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

ที่สำคัญการตัดสินใจคราวนี้ อาจจะไม่มีเรื่องโอกาสเป็นประการสำคัญเสียแล้ว หากเป็นเรื่องของการสร้างคุณค่าของตนเอง ซึ่งในฐานะนักการตลาด คนอย่างอภิรักษ์มองตนเองเป็น Brand ที่ต้องสร้างคุณค่าให้เพิ่มขึ้นๆ (เข้าใจว่าเขาเข้าใจสิ่งนี้อย่างลึกซึ้งก็ตอนย้ายมาอยู่แกรมมี่)

หากมองในมุมนี้ประสบการณ์ที่ทำงานกับบริษัทฝรั่งที่บางคนบอกว่าไม่ต้องมี Strategic Thinking อะไรมากนัก เพราะฝรั่งมีทั้งแนวทางและแบบแผนการทำงานอย่างละเอียดอยู่แล้วนั้น เขาได้ประโยชน์จากประสบการณ์นั้นมาแล้วจากการย้ายงาน 2 ครั้งใน 2 ปี ด้วยคุณค่าที่เป็นตัวเงินเดือนที่มากกว่า 7 หลัก กับบทบาทในกิจการที่ใหญ่กว่าเดิมท้าทายกว่าเดิม

ต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า การย้ายงาน 2 ครั้งใน 2 ปี ย่อมมีความไม่ "ลงตัว" ระหว่างประสบการณ์ บทบาทใหม่ ความคาดหวัง และความพึงพอใจ ดังนั้นการตัดสินใจครั้งใหม่นี้จึงเป็นเรื่องยุ่งยากมากทีเดียว

- เขากำลังก้าวจากเวทีระดับสังคมธุรกิจที่มีบุคลิกเฉพาะ มีกฎเกณฑ์ที่ค่อนชีวิตของเขาคุ้นเคย ไปสู่สังคมระดับกว้าง ระดับประเทศ ท่ามกลางสาธารณชนที่มีความคิดหลากหลายและเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ในเมืองหลวงที่มีโครงสร้างซับซ้อน มีความล้าหลัง และความทันสมัยที่ไม่สมดุลกัน

มองในมุมนี้เขาได้ไต่บันไดความเป็นมืออาชีพที่โลดโผนครั้งสำคัญในชีวิต แต่หากบวกอุดมคติที่ว่าด้วยประสบการณ์จากบริษัทฝรั่งสู่บริษัทไทย สุดท้ายเข้าสู่งานเพื่อสังคม ย่อมเป็นพัฒนาการทางคุณค่าที่น่าขายได้

เขาก้าวเข้ามาในพรรคการเมืองที่มีพันธะที่ไม่เข้มข้น พรรคการเมืองที่กำลังแสวงหา "ความใหม่" ในหลายมิติ การเข้ามาของเขาจึงกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจทันที มองในมุมนี้ การเข้าสู่ตลาดที่ไม่ได้คาดหวังมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับภาระของ CEO ในธุรกิจที่แข่งขันสูง ย่อมเป็นเรื่องง่าย บางทีอาจจะง่ายกว่าการเปิดบริการใหม่ของโทรศัพท์มือถือด้วย

- อภิรักษ์เข้าใจเช่นเดียวกับพรรคการเมืองหลายพรรค ที่ยังเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่อง Brand ในความหมายที่หยาบพอสมควร (ศัพท์นี้สูงกว่า "การเมืองเป็นเรื่องการสร้างภาพพจน์") มิใช่เรื่องนโยบายหรือเป้าหมายอย่างเข้มข้น มิใช่การวัดผลงานที่จับต้องได้ แม้จะเป็นการบริหารเมืองหลวงขนาดใหญ่ก็ตาม ตามแนวคิดนี้เขาย่อมสามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ สร้างคุณค่าของตนเองที่เพิ่มขึ้นได้

นี่คือความคิดใหม่ของมืออาชีพที่ข้ามพรมแดนระหว่างธุรกิจกับการเมือง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.