แซงต์-อิปโปลิต (Eglise Saint-Hippolyte) เป็นโบสถ์ในเขต 13 ของกรุงปารีส
ซึ่งถือเป็นย่านคนจีน ด้วยว่าเป็นศูนย์รวมชาวอินโดจีนที่อพยพหนีภัยคอมมิวนิสต์ในทศวรรษ
70 เจ้าอาวาสและบาทหลวงประจำโบสถ์นี้ จำต้องปรับรูปแบบการดำเนินพิธีทางศาสนาในวันอาทิตย์และกิจกรรมต่างๆ
ให้เข้ากับชาวบ้านในเขตปกครองของตน อีกทั้งต้องไม่มีอคติเกี่ยวกับเชื้อชาติ
เพราะผู้มาโบสถ์วันอาทิตย์นั้นเป็นชาวฝรั่งเศสเชื้อสายเอเชีย อาหรับและชนผิวดำจำนวนมากพอๆ
กับชาวฝรั่งเศสแท้
ในเดือนสิงหาคม 2003 ฆราวาสที่เป็นอาสาสมัครทำงานให้โบสถ์แซงต์-อิปโปลิต
ได้เดินทางมาประเทศไทยร่วมกับหนุ่มสาวที่ทำงานให้กับองค์การพัฒนาเอกชนชื่อ
Young People for Development ในโครงการที่ชื่อ Acteurs de Developpement
แปลได้ว่า ผู้นำในการพัฒนา เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาและสร้างผู้นำในการพัฒนาในแต่ละประเทศ
ผู้เข้าร่วมโครงการเป็นเยาวชนประมาณ 50 คน จากประเทศจีน เวียดนาม กัมพูชา
มาเลเซียพม่า เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และประเทศไทย
การเดินทางมาครั้งนี้มุ่งมาที่กรุงเทพฯ จังหวัดภาคกลาง และภาคเหนือแถบชายแดนพม่า
ได้เห็นกรุงเทพฯ ที่ทันสมัย ตึกระฟ้ามีสลัมอยู่ชิดใกล้ ที่พิเศษยิ่งคือ ช้างที่เดินเพ่นพ่านตามถนนกลางใจกรุง
เยาวชนเหล่านี้มีโอกาสสัมผัสธรรมชาติ ใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวกะเหรี่ยงเยือนโรงพยาบาลของแพทย์หญิงซินเทีย
โครงการหลวงปลูกไม้ดอก แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
ส่วนกลุ่มผู้แทน Young People for Develop-ment ที่กรุงเทพฯ ไปเยี่ยมศูนย์บำบัดผู้ป่วยโรคเอดส์
(Mercy Center) และร่วมกิจกรรมในสถานปฏิบัติธรรม ในอาศรมของเอกชนที่สอนธรรมะ
การทำสมาธิ และกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝังเยาวชนไทยให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ
ละม้ายกิจกรรมของคริสต์ศาสนิกชนคาทอลิก
เมื่อชาวคณะเดินทางกลับกรุงปารีส ได้รายงานเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนี้ที่โบสถ์แซงต์-อิปโปลิต
ในใบแจ้งข่าวนั้นบ่งว่าจะมีผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยมาร่วมสนทนาด้วย
หากเมื่อถึงวันงาน กลับเป็นกะเหรี่ยงพม่าที่อยู่ในกรุงปารีสในขณะนั้น
การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนา และโลกาภิวัตน์แบ่งเป็นกลุ่มย่อย
โดยมีเจ้าหน้าที่ของ Young People for Development เป็นผู้นำการสนทนาและมีชาวพม่ามาร่วมในแต่ละกลุ่ม
ผู้ร่วมสนทนา ที่มาจากประเทศเล็กมักจะมีความคิดเห็นในด้านลบเกี่ยวกับคำว่า
"พัฒนา" และ "โลกาภิวัตน์" มองเห็นการเอารัดเอาเปรียบประเทศยากจนหรือประเทศเล็กโดยประเทศตะวันตก
ความช่วยเหลือที่หยิบยื่นให้เพื่อช่วยพัฒนามักมีจุดประสงค์อื่นแอบแฝงอยู่
ผู้แทนชาวพม่าในกลุ่มที่ร่วมสนทนา บอกว่าตนเองเป็น Itinerary Displaced
Person กล่าวคือไม่มีถิ่นที่อยู่แน่นอน อาศัยอยู่ตามชายแดนไทย-พม่า ไม่เป็น
ที่พึงปรารถนาของรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทย จึงต้องหลบๆ ซ่อนๆ ในป่าแถบชายแดน
ชาวพม่าผู้นี้อ้างว่าทำงานให้องค์กรพัฒนาเอกชนของพม่า มีเชื้อสายกะเหรี่ยง
เดินทางมาฝรั่งเศสเพื่อยื่นฟ้องบริษัท Total ที่ลงทุนในประเทศพม่า ดำเนินการสร้างท่อส่งน้ำมันโดยใช้แรงงานกดขี่
ชาวพม่าผู้นี้กล่าวว่าชีวิตของพวกตน ลำบากแสนเข็ญกว่าสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์
เพราะรัฐบาลปัจจุบันของไทยเป็นนายทุนที่มีผลประโยชน์เอื้อกันกับรัฐบาลพม่า
พวกตนไม่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์การใดๆ เลย ไม่เหมือนเพื่อนร่วมชาติที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย
ซึ่งได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหประชาชาติผ่านสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านผู้ลี้ภัยหรือ
UNHCR
อีกทั้งยังกล่าวว่า ชาวพม่าในเมืองไทยต้องประสบเคราะห์กรรม ด้วยว่าชาวไทยมักจะจ้างให้ทำงานที่ขึ้นต้นด้วย
3D กล่าวคือ dangerous-อันตราย dirty-สกปรก และ disgusting-น่ารังเกียจ และย้ำนักย้ำหนา
เรื่องความร้ายกาจของรัฐบาลปัจจุบัน แม้จะไม่เข้าใจนโยบายของรัฐนัก แต่จำต้องกล่าวแก้ในฐานะคนไทย
อย่างน้อยชาวต่างชาติจะได้ไม่มองไทยในแง่ลบไปกว่านี้ ตามความเข้าใจนั้น ไทยมีค่ายผู้ลี้ภัยตามชายแดนพม่าหลายแห่ง
แต่รัฐบาลไทยไม่มีนโยบายรับชาวพม่าในฐานะผู้ลี้ภัยอีก เพราะพม่าไม่อยู่ในสถานการณ์สงครามประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งรัฐไม่สามารถโอบเอื้อชาวพม่าทุกคนได้ หากประเทศไทยร้ายจริง
ชาวพม่าคงไม่สามารถเดินเพ่นพ่านเต็มเมืองอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และประการสำคัญ
รัฐบาลไทยออกมาตรการเข้มงวดต่อชาวพม่าและชาวกะเหรี่ยง - ตามที่ชาวพม่าดังกล่าวกล่าวอ้าง
- ก็เพราะเกิดกรณียึดโรงพยาบาลราชบุรี ตามด้วยการยึดสถานทูตพม่าในกรุงเทพฯ
ส่วนรัฐบาลปัจจุบัน "ร้าย" กว่ารัฐบาลก่อนด้วยวิธีการอย่างใด มิอาจทราบได้
อีกทั้งนโยบายที่แท้จริงของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยของพม่าเป็นอย่างไร
มีอะไรลึกซึ้ง ก็มิอาจทราบได้เช่นกัน และรัฐบาลนายทุน ของไทยไปทำความตกลงกับรัฐบาลพม่าอย่างไร
ก็เกินกว่าจะทราบ
หลังการสนทนากลุ่มย่อย ได้มีการฉายสไลด์เกี่ยวกับประเทศไทยที่เจ้าหน้าที่ของ
Young People for Development ได้เก็บภาพไว้ ประกอบการบรรยาย ที่ให้ภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศไทยมาก
ให้ความรู้ที่ถูกต้อง น่าจะสร้างความประทับใจแก่ผู้ที่มาชุมนุมในวันนั้น
ระหว่างรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน เจ้าหน้าที่ ของ Young People for Development
กล่าวว่า น่าเสียดายที่วันนี้ฟังความเพียงข้างเดียว หากมีเจ้าหน้าที่ รัฐบาลไทยมาร่วมด้วย
จะดีมาก จึงตอบว่า ในอนาคต หากต้องการจัดอะไรเกี่ยวกับประเทศไทย ยินดีให้ความร่วมมือเป็นอย่างยิ่ง
และพร้อมที่จะประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศส หรือหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องให้
กลุ่มผู้จัดงานกำหนดจะให้มีการสนทนาปัญหาพม่าโดยเฉพาะ แต่ยังไม่ได้กำหนดวันแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณ Young People for Development ที่ช่วยนำเสนอประเทศไทยให้ชาวฝรั่งเศสรู้จัก
แม้จะใน หมู่คนกลุ่มเล็กๆ ก็ตาม น่าจะเป็นองค์การพัฒนาเอกชน ที่รัฐบาลไทยไม่ควรรังเกียจ
สงสัยอย่างเดียวว่า ทำไมชาวพม่ากลุ่มนี้จึงรู้สึก คับข้องใจกับรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันเหลือเกิน